เซ็กส์จัดหรือเสพติดเซ็กส์ เช็กให้แน่ใจว่าลึก ๆ แล้วเราป่วยหรืออารมณ์ทางเพศยังปกติดีอยู่
โรคเสพติดเซ็กส์ (Sex addiction) คืออะไร
ภาวะเสพติดเซ็กส์ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียก Sex addiction หรือที่ทางจิตเวชเรียกภาวะ Hypersexual disorder เป็นความผิดปกติของพฤติกรรมทางเพศ ที่ผู้ป่วยมีความหมกมุ่นในกิจกรรมทางเพศ รวมไปถึงสื่อลามกอนาจารต่าง ๆ อย่างที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ ที่สำคัญอาการหมกมุ่นทางเพศมักจะรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการบำบัดอย่างถูกวิธี
โรคเสพติดเซ็กส์ อาการเป็นอย่างไร
เนื่องจากเซ็กส์เป็นกิจกรรมทางเพศอันเป็นปกติของคู่รัก ซึ่งบางคนก็มีนิสัยส่วนตัว รสนิยมส่วนตัว รวมไปถึงความต้องการทางเพศในระดับที่แตกต่างกัน ดังนั้นการจะแยกระหว่างโรคเสพติดเซ็กส์กับคนที่มีความต้องการทางเพศสูงออกจากกันนั้น ก็อาจจะดูได้จากอาการ ดังนี้
1. หมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมทางเพศหรือการเสพสื่อลามกอนาจารจนกินเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตของตัวเอง
2. มีความรู้สึกเสพสม มีความสุข และรู้สึกละอายต่อสิ่งที่ทำลงไปปน ๆ กัน
3. เมื่อมีอารมณ์ทางเพศมักจะควบคุมตัวเองไม่ได้ แม้จะพยายามหักห้ามใจแค่ไหนก็ไม่ค่อยได้ผล
4. หากมีสิ่งกระตุ้นเร้าทางเพศมายั่วยุเมื่อไร สติก็แตกเมื่อนั้น และหมดสิ้นซึ่งความยับยั้งชั่งใจ
5. มักจะใช้กิจกรรมทางเพศเพื่อระบายความเครียด ความรู้สึกหดหู่ ความโกรธ ความเสียใจ เพราะคิดว่านี่คือสิ่งที่ทำให้หลุดพ้นจากความรู้สึกแย่ต่าง ๆ
6. สามารถละทิ้งทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นการผิดนัด ทิ้งงาน ละเลยหน้าที่ เพื่อเซ็กส์อย่างเดียว
7. เคยมีกิจกรรมทางเพศที่ไม่ถูกต้อง น่าละอาย จนไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้
8. ชอบดูสื่อลามกอนาจารมากกว่าหนัง ละคร รายการวาไรตี้อื่น ๆ
9. เมื่อความต้องการทางเพศมาครอบงำ มักจะลืมตัวและลืมการป้องกันตัวเองทุก ๆ อย่าง ควบคุมตัวเองไม่ได้
10. เสียเงินเสียทองไปมากกับกิจกรรมทางเพศหรืออุปกรณ์ทางเพศ
11. ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับคนมากหน้าหลายตา (One Night Stand) โดยไม่สนใจเรื่องความเหมาะสมหรือศีลธรรมใด ๆ
12. รู้สึกสนุกที่ได้โชว์ของลับ หรือล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่น (ในบางคน)
13. ความต้องการทางเพศสูงมากจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน
14. มีปัญหากับคู่ครอง ครอบครัว เพราะเรื่องทางเพศ
15. มีปัญหาทางด้านการเรียน การงาน การเข้าสังคมเพราะเรื่องทางเพศ
นอกจากนี้ในบางคนที่มีอาการเสพติดเซ็กส์ยังมีพฤติกรรมอันตรายต่อบุคคลอื่น เช่น ก่อเหตุอนาจาร ก่อเหตุข่มขืนผู้อื่นได้ด้วยนะคะ
สรุปก็คือ หากอาการติดเซ็กส์นั้นไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและผู้อื่น ก็ถือว่าเป็นเพียงคนที่มีความต้องการทางเพศสูง มีอาการติดเซ็กส์แบบทั่ว ๆ ไป แต่หากอาการรุนแรงถึงขั้นกระทบต่อชีวิตประจำวัน และทำความเดือดร้อนให้ตัวเองและคนใกล้ชิดดังที่กล่าวมา แบบนี้เข้าข่ายเป็นโรคติดเซ็กส์ ซึ่งควรบำบัดรักษาต่อไป
โรคติดเซ็กส์เกิดจากอะไร
ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าอาการเสพติดเซ็กส์เกิดจากอะไร แต่ทางองค์การอนามัยโลกเชื่อว่า เกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติ ขณะที่ในทางจิตวิทยาสันนิษฐานว่าอาจจะมีความเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมทางครอบครัว ความกดดันจากสภาวะบางอย่าง รวมไปถึงสิ่งยั่วยุในปัจจุบันที่ทำให้เข้าถึงเรื่องทางเพศได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน ซึ่งทำให้บางคนใช้สื่อลามกอนาจารเหล่านี้เป็นที่พึ่งทางใจ อันส่งผลให้เสพติดการดูหนังโป๊ หรือเสพติดการมีกิจกรรมทางเพศ นอกจากนี้ภาวะขาดความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวก็อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดความรู้สึกอยากได้ความรัก ความเอาใจใส่ ผ่านกิจกรรมทางเพศมากขึ้นได้
โรคติดเซ็กส์ ใครเสี่ยงบ้าง
รศ. นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี จิตแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคเสพติดเซ็กส์มีตั้งแต่เด็กวัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยคนที่เสี่ยงจะเป็นโรคเสพติดเซ็กส์มากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า หรือมีปัญหาทางด้านจิตใจไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
โรคเสพติดเซ็กส์ อันตรายต่อชีวิต
เนื่องจากผู้ป่วยโรคเสพติดเซ็กส์มักจะลืมตัวและลืมการป้องกันในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเสี่ยงตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ เป็นต้น
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคอะไรบ้างที่คู่รักต้องระวัง
โรคเสพติดเซ็กส์ รักษาอย่างไร
การรักษาโรคเสพติดเซ็กส์สามารถบำบัดได้ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
1. จัดการที่ต้นเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเสพติดเซ็กส์ในแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันไป ดังนั้นจิตแพทย์จะทำการวิเคราะห์และหาสาเหตุของความทุกข์ใจ ที่ผลักดันให้ผู้ป่วยต้องหาวิธีคลายเครียดด้วยกิจกรรมทางเพศ และค่อย ๆ รักษาความทุกข์ใจนั้น หรือหาวิธีคลายเครียดอื่น ๆ ให้ผู้ป่วยแทน
2. รักษาด้วยยา
โรคเสพติดเซ็กส์จัดเป็นโรคจิตเวชในกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ รวมไปถึงจัดอยู่ในกลุ่มอาการเสพติดบางอย่าง เช่น ติดเกม ติดยาเสพติด ด้วย ดังนั้นยาที่ใช้รักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ ยารักษาโรคซึมเศร้า และยาที่ใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติดก็จะถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคเสพติดเซ็กส์ด้วยเช่นกัน
3. รักษาด้วยฮอร์โมน
ในบางกรณีจิตแพทย์จะให้ยาปรับฮอร์โมนที่ช่วยลดอารมณ์ทางเพศกับผู้ป่วยควบคู่ไปกับการรักษาด้วยแนวทางอื่น ๆ
4. พฤติกรรมบำบัด
นอกจากการใช้ยาและการหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงแล้ว ผู้ป่วยโรคเสพติดเซ็กส์ควรได้รับการรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัดควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการแนะแนวทางคลายความทุกข์ และให้เขารู้จักวิธีหาความสุขให้ตัวเองในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่นดนตรี สังสรรค์กับเพื่อน ออกกำลังกาย เดินทางท่องเที่ยว หรือฝึกสมาธิ ร่วมกับการแยกผู้ป่วยออกจากสภาพแวดล้อมที่อาจกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศด้วย
เนื่องจากโรคเสพติดเซ็กส์อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นได้ ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่ากำลังป่วยโรคนี้อยู่ หรือมีคนใกล้ตัวมีอาการเข้าข่ายโรคนี้อยู่ ก็อยากให้เข้ารับการบำบัดรักษาโดยจิตแพทย์นะคะ เพราะจริง ๆ แล้วโรคนี้รักษาให้หายได้ แต่ผู้ป่วยก็ต้องให้ความร่วมมือในการรักษาด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ความรู้สุขภาพจิตและปัญหาสุขภาพจิต, psychologytoday, psychcentral