รางจืด สมุนไพรล้างพิษ ติดยา-ติดเหล้า ก็เอาอยู่ !



          รางจืดเป็นสมุนไพรที่มีชื่อเสียงไม่เบา โดยเฉพาะสรรพคุณของรางจืดในเรื่องล้างพิษ หรือแก้เมา แต่นอกจากประโยชน์เหล่านี้แล้ว รางจืดยังมีดีที่อยากบอกให้รู้อีกเยอะ
รางจืด

          แค่ชื่อสมุนไพรรางจืดก็คุ้นหูหรือผ่านตากันมาพอตัว เพราะรางจืดก็ถูกนำไปสกัดไว้ในรูปแบบแคปซูล หรือชาชง เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้เข้าถึงรางจืดได้ง่ายขึ้น และหากใครยังไม่รู้สรรพคุณของรางจืด เรามาทำความรู้จักสมุนไพรตัวจี๊ดชนิดนี้กัน


รางจืด คืออะไร มารู้จักชื่อเสียงเรียงนาม


          รางจืดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia laurifolia Linn. ส่วนในชื่อภาษาอังกฤษนั้น รางจืดถูกเรียกขานว่า laurel clock, blue trumpet vine หรือ laurel-leaved thunbergia แต่ในบ้านเรา รางจืดมีชื่อเรียกที่หลากหลายพอสมควรค่ะ ไม่ว่าจะเป็นว่านรางจืด กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง เครือเขาเขียว ยาเขียว คาย รางเย็น ดุหว่า ทดพุด น้ำนอง ย่ำแย้ แอดแอ รางจืดเถา หรือหนามแน่ เป็นต้น

รางจืด ลักษณะทางพฤกษศาสตร์


          รางจืดมีลักษณะเป็นไม้เลื้อย มีเถาสีเขียวอมน้ำตาล รูปร่างค่อนข้างกลม ใบรางจืดเป็นรูปไข่ โคนใบมน ความกว้างของใบประมาณ 4-11 เซนติเมตร ยาว 10-16 เซนติเมตร ขอบใบค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ปลายใบแหลม เรียว แผ่นใบหนา มันปลาบ ก้านใบยาว 1-6 เซนติเมตร

          กลีบดอกรางจืดมีสีม่วง ลักษณะเป็นรูปกรวย กลีบเลี้ยงเกลี้ยง ปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกเป็นรูปไข่ ปลายมน โดยหลอดด้านในมีสีเหลือง มีเกสรเพศผู้ 4 อัน ส่วนผลของรางจืดเป็นรูปทรงกลมคล้ายหลอด ปลายฝักแหลมและโค้งเล็กน้อยเป็นจะงอยปากนก ฝักอ่อนมีสีเขียว พอแก่สีจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอมดำ ถ้าแก่เต็มที่ฝักจะปริออกเป็น 2 ซีก

รางจืด

รางจืด สรรพคุณดีมีประโยชน์เพียบ


          สรรพคุณของรางจืดที่อยากนำเสนอมาก ๆ มีดังนี้

1. แก้ไข้

          รางจืดเป็นสมุนไพรที่มีรสเย็น ตามตำรับยาสมุนไพรไทยใช้รางจืดปรุงเป็นยาเขียวแล้วดื่มเพื่อลดไข้

2. แก้ท้องเสีย ท้องร่วง

รางจืด

          เนื่องจากสมุนไพรรางจืดมีฤทธิ์ถอนพิษผิดสำแดงหรือพิษอื่น ๆ จึงสามารถใช้รางจืดแก้อาการท้องร่วง ท้องเสียได้

3. รางจืดถอนพิษแมงดาทะเล


          ในแมงดาทะเลหรือปลาปักเป้าจะมีสารพิษที่ชื่อว่า เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งหากมนุษย์ได้รับสารพิษชนิดนี้จากการกินแมงดาทะเลหรือปลาปักเป้าอาจร้ายแรงถึงตายได้ แต่มีรายงานจากโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เผยว่า ผู้ป่วย 2 รายที่กินแมงดาทะเลและรับสารพิษชนิดนี้เข้าไปมีอาการดีขึ้นหลังได้รับรางจืดผ่านการกรอกทางสายยาง และรอดชีวิตได้ในที่สุด

4. รางจืดล้างพิษยาฆ่าแมลง ยาเบื่อ

          หมอพื้นบ้านมักจะนำรางจืดมาใช้ถอนพิษชาวบ้านที่ได้รับยาฆ่าแมลง ยาเบื่อชนิดต่าง ๆ โดยนำใบรางจืดสดมาคั้นน้ำให้ผู้ป่วยที่กินยาฆ่าแมลงดื่มโดยเร็วที่สุด เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล สอดคล้องกับงานวิจัยในหนูทดลองที่พบว่า สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดมีฤทธิ์ต้านสารพิษพาราควอตได้ โดยทำให้อัตราการตายของหนูทดลองลดลง

          ขณะที่การศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็พบเช่นกันว่า หนูทดลองที่กินผงจากรากรางจืดผสมกับน้ำยาสตริกนิน ไม่เป็นอันตรายใด ๆ แสดงให้เห็นว่าผงจากรากรางจืดสามารถช่วยดูดซับสารพิษชนิดนี้ไว้ได้ อย่างไรก็ตาม การจะนำมาใช้ในคนต้องมีการศึกษาถึงปริมาณที่เหมาะสมต่อไป

          ขณะที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำวิธีใช้รางจืดขับสารพิษจากยาฆ่าแมลงหรือ สารกำจัดศัตรูพืช โดยนำใบสด 5-7 ใบ คั้นกับน้ำ 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) รับประทานก่อนอาหาร 3 เวลา ต่อเนื่อง 7 วัน ที่แนะนำให้ใช้เพียง 7 วัน เพราะรางจืดมีฤทธิ์เย็น เมื่อกินติดต่อกันอาจทำให้ระบบในร่างกายเสียสมดุลได้

5. รางจืดช่วยเลิกยาเสพติด

          ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดรางจืดต่อเซลล์สมองแล้วพบว่า รางจืดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทคล้ายกับสารเสพติดประเภทแอมเฟตามีนและโคเคน โดยมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งสารโดพามีนเช่นเดียวกับการออกฤทธิ์ของยาเสพติดดังกล่าว ฉะนั้นการให้ผู้ป่วยติดยาเสพติดได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากรางจืด อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความพึงพอใจเช่นเดียวกับการใช้สารเสพติด ดังนั้น รางจืดอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาอาการติดยาเสพติดด้วยสมุนไพรไทย

6. ช่วยแก้เมา-เลิกเหล้า

รางจืด

          คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาฤทธิ์ของรางจืดในการต้านพิษแอลกอฮอล์ต่อตับ ซึ่งพบว่า สารสกัดด้วยน้ำของรางจืด ช่วยป้องกันการตายของเซลล์ตับจากพิษของแอลกอฮอล์ในหลอดทดลองและในหนูทดลองที่ได้รับแอลกอฮอล์ โดยทำให้ค่า AST, ALT ในพลาสมาและไตรกลีเซอไรด์ในตับลดลง และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางจุลพยาธิวิทยาของตับ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับแอลกอฮอล์อย่างเดียว

          นอกจากนี้ การศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ศึกษาฤทธิ์ของรางจืดต่ออาการขาดเหล้าพบว่า สารสกัดรางจืด ช่วยลดภาวะซึมเศร้า และมีส่วนทำให้พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของหนูเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดยไม่มีผลลดความวิตกกังวล ทว่าสารสกัดรางจืดช่วยลดการถูกทำลายของเซลล์ประสาทในหนูเนื่องจากขาดเหล้าได้

          ขณะที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็เผยสรรพคุณของรางจืดที่ช่วยบำรุงดูแลตับและช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจได้ โดยจากการให้อาสาสมัครดื่มน้ำสกัดจากใบรางจืด 15 นาที ก่อนดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า สารสกัดรางจืดช่วยลดปริมาณแอลกอฮอล์ได้จากการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้รางจืดในการต้านพิษสุรา เช่น ช่วยลดอาการเมาเหล้า และช่วยลดอาการแฮงก์หลังดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

7. รางจืด แก้ลมพิษ ผื่นแพ้

          รางจืดเป็นสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก มีรายงานว่า หมอยาพื้นบ้านนิยมใช้รางจืดรักษาอาการผด ผื่นคันจากอาการแพ้ต่าง ๆ ลมพิษ แมลงสัตว์กัดต่อย เริม งูสวัด และยังมีการศึกษาว่า รางจืดมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบได้ดีเท่ากับยาสเตียรอยด์อีกด้วย

8. รางจืด รักษาสะเก็ดเงิน

          มีงานวิจัยพบว่า เมื่อใช้น้ำหมักชีวภาพสมุนไพรรางจืดที่หมักนาน 6 เดือนขึ้นไป มาทาบริเวณที่มีตุ่ม ผื่นแดง อักเสบ ให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน หลังอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง สามารถช่วยให้โรคสงบลงได้ และเมื่อไม่มีอาการกำเริบก็สามารถนำน้ำหมักชีวภาพสมุนไพรรางจืดมาทาหลังอาบน้ำวันละ 1 ครั้ง จะช่วยป้องกันไม่ให้โรคกลับมาลุกลามอีก

          นอกจากนี้เมื่อใช้น้ำหมักชีวภาพสมุนไพรรางจืดร่วมกับใช้ชาชงสมุนไพรรางจืดแห้ง ต้มดื่มวันละ 2-3 ครั้ง (เช้า-เย็น) หรือดื่มแทนน้ำทั้งวัน สามารถรักษาโรคสะเก็ดเงินแทนยาแผนปัจจุบันได้ดีเยี่ยม

9. แก้ปวดบวม

รางจืด

          ตำรับยาพื้นบ้านนิยมนำใบรางจืดมาตำแล้วพอกบริเวณที่ปวดหรือบวม โดยสารในใบรางจืดจะช่วยลดอาการอักเสบที่เป็นต้นเหตุของอาการปวด บวม รวมไปถึงอาการปวด บวม จากสัตว์มีพิษ ใบรางจืดก็จะช่วยถอนพิษร้ายให้

10. แก้ประจำเดือนไม่ปกติ บำรุงสตรีหลังคลอด

          ตำรับยาไทยใช้รางจืดแก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ และใช้บำรุงสตรีอยู่ไฟให้มีสุขภาพดีขึ้นด้วย

11. แก้ร้อนในกระหายน้ำ

          ด้วยความที่เป็นสมุนไพรมีรสเย็น รากและเถาของรางจืดจึงมีสรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำได้ด้วยนะคะ

12. รางจืดช่วยลดความดันโลหิต

          มีการทดลองให้สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดแห้งกับหนูแรต พบว่า สามารถทำให้ความดันโลหิตของหนูแรตลดลงได้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการศึกษาในขั้นตอนของสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงยังไม่ควรใช้รางจืดเพื่อหวังผลลดความดันโลหิตแต่เพียงอย่างเดียว

รางจืด

รางจืดมีวิธีใช้อย่างไร


* วิธีใช้รางจืดล้างพิษ กรณีมีอาการจากพิษรุนแรง


          สามารถเลือกใช้ได้ดังนี้

          - ใช้ใบสด 10-12 ใบ ตำคั้นน้ำซาวข้าวประมาณ 1/2-1 แก้ว ดื่มเมื่อมีอาการ
          - ใช้ใบแห้ง 300 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ต้มดื่มครั้งละ 1 แก้ว
          - กินรางจืดแคปซูล ครั้งละ 4 แคปซูล ก่อนอาหาร 3 มื้อ จนกว่าอาการจะดีขึ้น

* วิธีใช้รางจืดแก้ร้อนใน ถอนพิษไข้ ถอนพิษสุรา สารตกค้าง

          ใช้ใบสด 4-5 ใบ ตำคั้นน้ำ หรือใช้ผงยารางจืด 1.5-3 กรัม กินก่อนอาหาร 3 มื้อ หรือเมื่อมีอาการ ใช้จนกว่าจะดีขึ้น หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์ เนื่องจากยามีฤทธิ์เย็น อาจมีผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิต

* วิธีใช้รางจืดขับสารพิษจากยาฆ่าแมลง หรือสารกำจัดศัตรูพืช

          ใช้ใบสด 5-7 ใบ คั้นกับน้ำ 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) รับประทานก่อนอาหาร 3 เวลา ต่อเนื่อง 7 วัน ที่แนะนำให้ใช้เพียง 7 วัน เพราะรางจืดมีฤทธิ์เย็น เมื่อกินติดต่อกันอาจทำให้ระบบในร่างกายเสียสมดุลได้

* นอกจากนี้ หากมีอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต้องการใช้รางจืด ก็สามารถใช้รางจืดได้ ดังนี้

          - ใบรางจืดกินสด โดยล้างใบรางจืดให้สะอาดก่อนนำมาเคี้ยวสดครั้งละ 4-5 ใบ

          - ใบรางจืดชนิดชาชง ให้ใช้รางจืดครั้งละ 2-3 กรัม ชงกับน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร หรือเมื่อมีอาการ

          - ดื่มน้ำต้มสมุนไพรรางจืด โดยนำใบรางจืดแบบสด จำนวน 5-7 ใบ ล้างให้สะอาด แล้วต้มในน้ำเต็มกา ดื่มขณะอุ่น ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 4-5 ครั้ง

          - รางจืดแคปซูล รับประทานรางจืดชนิดแคปซูล 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ทั้งนี้ อย่าลืมอ่านคำแนะนำและวิธีกินในเอกสารกำกับยาด้วยนะคะ

          อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรรางจืดก็มีข้อควรระวังเช่นกันนะคะ

รางจืด

โทษของใบรางจืด และข้อควรระวังก่อนรับประทาน


          * หากมีโรคประจำตัวหรือต้องรับประทานยาเป็นประจำทุกวัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินรางจืด เพราะรางจืดอาจเร่งการขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ทำให้ประสิทธิผลของยาลดลง หากรับประทานยาอื่นอยู่

          * ไม่ควรกินรางจืดแบบเข้มข้นในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน

          * ไม่ควรกินรางจืดติดต่อกันเกิน 30 วัน เพราะอาจทำให้ร่างกายเกิดความเย็น มือ-เท้าชา เลือดลมเดินไม่สะดวก เนื่องจากรางจืดมีฤทธิ์เย็น ขณะเดียวกันบางงานวิจัยยังพบผลข้างเคียงจากการกินรางจืดในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้ระบบเลือด ตับ ไต ทำงานผิดปกติได้

          * กรณีรับประทานเพื่อล้างพิษในร่างกาย อาจรับประทานเฉพาะเวลามีอาการ เมื่อหายแล้วจึงหยุด หรือรับประทานรางจืดสัปดาห์ละ 2 วัน ไม่ควรกินติดต่อกันทุกวัน

          * ควรระวังในการใช้รางจืดในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตราย และมีอาการชาตามมือ-เท้า

          * ควรระวังการใช้รางจืดในผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ โรคหอบหืด และหญิงตั้งครรภ์

          * รับประทานรางจืดให้ห่างจากยาอื่น ๆ อย่างน้อย 2 ชั่วโมง

          * ห้ามใช้ในผู้มีประวัติแพ้รางจืด

          สมุนไพรรางจืดมีทั้งประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ แต่ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย เราก็ไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดเดิมซ้ำ ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ และทางที่ดีควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงด้วยนะคะ


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 24 มิถุนายน 2564


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รางจืด สมุนไพรล้างพิษ ติดยา-ติดเหล้า ก็เอาอยู่ ! อัปเดตล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17:06:49 275,056 อ่าน
TOP
x close