
เพราะ "ทุกชีวิตมีค่า" และไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้าเลยว่า ในช่วงเวลาของครอบครัวที่กำลังเดินทางไปเฉลิมฉลองวันเทศกาลส่งความสุข เราอาจจะต้องรับมือกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และอาจจะได้เป็นผู้ให้การช่วยเหลือพื้นคืนชีวิตให้กับคนที่หัวใจหยุดเต้นจากอุบัติเหตุ
แม้ในปัจจุบัน จะมีการผลักดันให้ "การช่วยชีวิต"
เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนในเด็กนักเรียนทุกชั้นปี
แต่ความรู้ในการช่วยชีวิตผู้อื่นของคนไทย ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร
ซึ่งถ้าเป็นไปได้
ทุกคนควรทำความเข้าใจกับขั้นตอนและกระบวนการให้การช่วยเหลืออย่างถูกต้อง
1. ผู้ป่วยมีอาการหัวใจหยุดเต้น ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้น
2. มีการรับรู้และสติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคย ผิดไปจากปกติ
3. ระบบหายใจมีอาการวิกฤต เช่น ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หรือหายใจเร็ว แรง และลึก หายใจเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้น ๆ หรือร้องไม่ออก สำลักอุดตันทางเดินหายใจ มีอาการเขียวคล้ำ
4. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤต ได้แก่ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกท่วมตัว หมดสติวูบเมื่อลุกหรือยืน
5. มีอวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ
6. พบอาการอื่น ๆ ที่มีภาวะเสี่ยงสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด ชักเกร็ง
แต่ในบางกรณีที่ผู้ประสบเหตุมีอาการหมดสติ หัวใจหยุดเต้น หรือหยุดเต้นกะทันหัน เราอาจจำเป็นต้องใช้การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) โดยมีหลักปฏิบัติ 10 ขั้นตอน ดังนี้
1. ผู้ช่วยเหลือต้องคำนึงถึงความปลอดภัยก่อนสิ่งอื่น ต้องมั่นใจว่าตนเองจะสามารถให้การช่วยเหลือในสถานการณ์นั้น ๆ โดยไม่ได้รับอันตรายไปด้วย ถึงค่อยเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ
2. ตรวจสอบดูว่าผู้ประสบเหตุหมดสติหรือไม่ อาจใช้วิธีเขย่าตัวและปลุกเรียก
3. ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นรอบข้าง และโทร. 1669 ให้เร็วที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมาพร้อมเครื่อง AED - Automated External Defibrillator (เครื่องช่วยฟื้นคืนคลื่นหัวใจแบบอัตโนมัติ)
4. ประเมินผู้หมดสติ หากพบว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการเรียก ไม่หายใจ หายใจเฮือก ต้องรีบกดหน้าอก อย่าลืมตรวจปากและช่องคอ ถ้าพบว่ามีสิ่งแปลกปลอม เช่น เศษอาหาร เลือด เสมหะ ฟันปลอมอยู่ สังเกตจากการหายใจของผู้ป่วย ที่อาจมีหน้าอกบุ๋ม เสียงครืดคราด ให้ใช้ผ้าพันนิ้วกวาดเช็ดออกมาหรือใช้เครื่องดูดออก
5. จัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็ง ไม่ใช้หมอนหนุนศีรษะ ศีรษะจะต้องไม่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อความสะดวกในการกดหน้าอกหรือนวดหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ด้านข้างของผู้ป่วย คลำหาส่วนล่างสุดของกระดูกอกที่ต่อกับกระดูกซี่โครง ใช้นิ้วสัมผัสชายโครงไล่ขึ้นมา วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางอีกข้างทับประสานกันไว้ แขนสองข้างเหยียดตรง โดยให้แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกผู้ป่วย และเริ่มกดหน้าอกผู้ป่วย ทิ้งน้ำหนักลงบนแขนขณะกดหน้าอก ให้กระดูกลดระดับลงอย่างน้อย 2 นิ้ว (5 เซนติเมตร) ให้ได้อัตราการกดอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที โดยที่ส้นมือไม่หลุดออกจากหน้าอกผู้ป่วย หลังการกดแต่ละครั้งต้องปล่อยให้อกคืนตัวจนสุด เพื่อให้หัวใจรับเลือดสำหรับสูบฉีดครั้งต่อไป
6. ทำต่อเนื่องจนกว่าทีมกู้ชีพ 1669 จะมาถึง หรือจนกว่าจะพบว่าผู้ป่วยมีการไอ ขยับตัว หรือมีการหายใจ เมื่อเครื่องเออีดีมาถึง ให้เปิดเครื่องถอดเสื้อผู้ป่วย ถ้าตัวเปียกน้ำให้เช็ดน้ำออกก่อน
7. ติดแผ่นนำไฟฟ้ากับตัวผู้ป่วย
8. ปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่องเออีดี
9. หลังการช็อกไฟฟ้าด้วยเครื่องเออีดี ให้กดหน้าอกต่อทันที
10. ส่งต่อผู้ป่วยเมื่อทีมกู้ชีพมาถึง
จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า การปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น แบบถูกวิธี โดยเฉพาะการกดหน้าอกอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ถึง 2-3 เท่า ยิ่งถ้ามีการใช้เครื่อง AED เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเฉียบพลัน เข้ามาช่วยในการฟื้นคืนชีพ ก็จะทำให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นได้
ดังนั้นเทศกาลคราวนี้ นอกจากเตรียมยานพาหนะให้พร้อมเดินทาง การเตรียมเรียนวิธีกู้ชีพฉุกเฉินก็อย่าได้ขาด ใครจะรู้ว่า คุณอาจได้เป็นฮีโร่ช่วยชีวิตใครสักคนให้เค้าได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย
หาข้อมูลการเตรียมตัวเดินทางอย่างปลอดภัยเพิ่มเติมได้ที่ niems.go.th