x close

รู้จักโรคคุดทะราด โรคติดต่อทางผิวหนังที่พบในละครทองเอก หมอยา ท่าโฉลง

          คุดทะราดเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง มาทำความรู้จักโรคคุดทะราด ที่แม่ผ่องจากละครทองเอก หมอยา ท่าโฉลงเป็น
โรคคุดทะราด
ภาพจาก Ch3Thailand
 
          โรคติดต่อเรื้อรังแบบเป็น ๆ หาย ๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณอย่างโรคคุดทะราด แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะปลอดจากโรคคุดทะราดแล้ว แต่เมื่อได้ชมละครพีเรียดอย่างทองเอก หมอยา ท่าโฉลง ก็ทำให้นึกถึงโรคคุดทะราดขึ้นอีกครั้ง เลยขอนำมาเสนอให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจโรคติดต่อชนิดนี้ไปพร้อมกัน

โรคคุดทะราด คืออะไร

          โรคคุดทะราด คือโรคติดต่อเรื้อรัง มักจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ภาษาอังกฤษเรียก โรค Yaws หรือ Frambesia มักจะพบโรคนี้ได้มากในประเทศเขตร้อน โดยในประเทศไทยพบประวัติบันทึกอาการป่วยโรคคุดทะราดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพบประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ป่วยมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ แต่ปัจจุบันประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถควบคุมโรคนี้ได้แล้ว

โรคคุดทะราด

โรคคุดทะราด เกิดจากอะไร

          โรคคุดทะราด สาเหตุคือเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา เพอร์นู (Treponema pertenue) และพวกสไปโรซิส เชื้อโรคเหล่านี้แพร่กระจายได้ง่ายด้วยการสัมผัส และเชื้อมักจะเข้าสู่ร่างกายทางแผลบริเวณผิวหนัง

โรคคุดทะราด อาการเป็นอย่างไร

          อาการของโรคคุดทะราดแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน โดยหลังจากที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลแล้ว ประมาณ 3-6 สัปดาห์จะมีอาการ ดังนี้

ระยะแรก

              มีตุ่มนูนคล้ายหูดที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณใบหน้าและขา โดยตุ่มนี้จะเรียกว่า ตุ่มแม่ 

ระยะที่สอง

โรคคุดทะราด

          เป็นระยะที่มีการกระจายของตุ่มนูน หรือมีลักษณะแผลเป็นจุดด่างแบบเกล็ด ตุ่มจะค่อย ๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น มีลักษณะนูนแดง เป็นแผล ลักษณะตุ่มจะใหญ่โตคล้ายดอกกะหล่ำปลี และต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ ๆ แผลอาจจะอักเสบและบวมโต ทำให้เกิดอาการไข้ขึ้นได้ในบางคน แผลอาจเป็นหนอง ตุ่มนูนและผิวหนังหนาขึ้น ลามมาขึ้นที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า สร้างความเจ็บปวดอย่างมาก จนไม่สามารถเดินหรือทำงานได้

ระยะที่สาม หรือระยะสุดท้าย

          ในระยะนี้จะไม่แพร่กระจายเชื้อ แต่แผลกินลึกจะลุกลามเข้าไปถึงกระดูก อาจทำให้กระดูกกุดสั้น คล้ายโรคเรื้อน อย่างไรก็ตามโรคคุดทะราดจะไม่เกิดอาการกับประสาทส่วนกลาง ตา หลอดโลหิต และอวัยวะภายในอื่น ๆ เหมือนเชื้อซิฟิลิส ทั้งนี้ โรคคุดทะราดไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิต แต่มักทำลายกระดูก ทำให้ร่างกายผิดรูปทรงหรือพิการได้ และแม้ว่าจะรักษาโรคนี้หายแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเรื่อย ๆ

โรคคุดทะราด ติดต่ออย่างไร

          โรคคุดทะราดสามารถติดต่อได้ตราบเท่าที่มีเชื้อโรคในบาดแผล โดยการสัมผัสน้ำเลือด น้ำหนองจากบาดแผลคุดทะราดโดยตรง หรืออาจติดต่อได้จากของที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้าที่เปื้อนน้ำหนอง เลือด เป็นต้น ทั้งนี้ โรคคุดทะราด เป็นหนึ่งในโรคติดต่ออันตรายที่หากพบผู้ป่วยในระยะติดต่อแล้ว ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ไว้เพื่อเป็นการระวังไว้ก่อน ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523

โรคคุดทะราด
ภาพจาก ch3thailand

โรคคุดทะราด
ภาพจาก ch3thailand

โรคคุดทะราด รักษาได้ไหม

          โดยปกติแล้วโรคคุดทะราดมีโอกาสหายได้เองในระยะแรก ๆ แต่ในกรณีที่โรคลุกลามมาระยะหลังก็สามารถรักษาได้ด้วยยาเพนิซิลลิน (Penicillin) สำหรับผู้ป่วยและผู้สัมผัสอายุ 10 ขวบขึ้นไป โดยฉีดยาเบนซาทีนเพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) ขนาด 1.2 ล้านหน่วยเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบให้ใช้ขนาดยาเพียงครึ่งเดียว ทั้งนี้ หากป่วยเป็นคุดทะราด ผู้ป่วยจะต้องรีบรับการรักษาเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ และผู้ดูแลผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังในการสัมผัสโรค

สมุนไพรรักษาโรคคุดทะราด

          ตามตำรับยาแพทย์แผนไทย จะใช้ตำรับยารักษาโรคกุฏฐโรค ตามที่ทองเอก ในละครเรื่อง ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง ได้ปรุงยามารักษาโรคคุดทะราด ซึ่งตัวยาประกอบไปด้วย ขันทองพยาบาท ใช้เปลือกต้นตำละเอียดเป็นยาพอก, ใบและกิ่งหญ้าหนวดแมวต้มรวมกับน้ำสารส้มสำหรับอาบน้ำ และยาน้ำมันกุฏฐโรคใช้ทาบริเวณแผล

          นอกจากนี้ยังนำสมุนไพรอื่น ๆ มาปรุงเป็นยารับประทาน ทั้งข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ เปลือกมะรุม รากตะขบ รากมะดูก กำมะถันเหลือง ผลกระเบา ผลกระเบียง ใบมะเกลือ ใบยาสูบ ขมิ้นอ้อย ตำลึง ฯลฯ

โรคคุดทะราด
ภาพจาก Ch3Thailand


โรคคุดทะราด
ภาพจาก ch3thailand

โรคคุดทะราด ป้องกันไว้ดีกว่าแก้

          แม้ในบ้านเราจะไม่ค่อยเจอโรคคุดทะราดแล้ว แต่การป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อแบบนี้ก็ควรรู้ไว้ไม่น้อย เพราะเชื้อโรคเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ดังนั้นเรามาดูวิธีป้องกันตัวเองจากโรคคุดทะราดกันค่ะ

          - รักษาสุขอนามัยของตัวเองเสมอ

          - หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น

          - รับประทานอาหารที่ปรุงสด ใหม่ และอาหารที่สุกแล้ว

          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

          - พักผ่อนให้เพียงพอ

          โรคคุดทะราดเป็นโรคติดต่อที่น่าสะพรึงพอตัวนะคะ แต่ก็โชคดีที่ในปัจจุบันพบโรคนี้ในบ้านเราน้อยมาก ๆ จนแทบไม่มีเลย แต่ถึงอย่างนั้นได้ทำความรู้จักโรคคุดทะราดเอาไว้ก็ดี จะได้ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคนี้มาก ๆ อย่างถูกต้อง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมควบคุมและป้องกันโรค
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน
เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยเเละการแพทย์ผสมผสาน
ch3thailand.com 
Youtube Ch3Thailand  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักโรคคุดทะราด โรคติดต่อทางผิวหนังที่พบในละครทองเอก หมอยา ท่าโฉลง อัปเดตล่าสุด 7 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09:54:11 53,718 อ่าน
TOP