พาราควอต อันตรายต่อสุขภาพแค่ไหน ทำไมถึงต้องแบน !

         พาราควอตเป็นยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรใช้มายาวนาน กระทั่งมีประกาศให้ยกเลิกใช้พาราควอต เพราะพาราควอตอันตรายต่อสุขภาพมาก ๆ นั่นเอง

พาราควอต

         ในวงการเกษตรกรรม พาราควอตเป็นสารเคมีที่คุ้นเคยกันมานาน เพราะประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืชของพาราควอตค่อนข้างให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ทว่าในทางกลับกัน พาราควอตก็เป็นสารเคมีอันตราย ชนิดที่จิบนิดเดียวก็ถึงตายได้เลย ดังนั้นหลายประเทศจึงแบนพาราควอตเพื่อความปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อย ส่วนในไทยก็กำลังรณรงค์ให้แบนพาราควอตอย่างจริงจัง งั้นเรามาทำความรู้จักพาราควอตกันดีกว่า ว่าพาราควอตอันตรายยังไง โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพ

พาราควอต คืออะไร

          พาราควอต (Paraquat) เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าที่นิยมใช้ทั่วโลก เพราะราคาไม่แพง และใช้ปริมาณไม่มากก็สามารถกำจัดวัชพืชได้ เพราะพาราควอตจัดเป็นสารเคมีเป็นพิษที่ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่แพร่กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อไม้ โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทย อนุญาตให้ใช้สารพาราควอตกับพืชเศรษฐกิจหลักของไทย 6 ประเภท คือ อ้อย ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น

พาราควอต
ภาพจาก OhLanlaa / Shutterstock.com

พาราควอต อันตรายต่อสุขภาพยังไง

          เหตุผลที่หลายประเทศสั่งแบนพาราควอตก็เพราะอันตรายของพาราควอตต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างรุนแรง โดยพาราควอตส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

1. ผิวหนังเป็นแผลพุพอง

          พาราควอตมีฤทธิ์ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อที่สัมผัส หากสัมผัสโดนพาราควอต ผิวหนังอาจเป็นแผลพุพอง หรือหากสัมผัสที่ตาก็จะทำให้ตาบวม แดง อักเสบ ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง ซึ่งแม้จะสวมเสื้อผ้ามิดชิดก็ไม่สามารถป้องกันการสัมผัสทางผิวหนังได้

2. คลื่นไส้

          เมื่อสูดดมหรือได้รับสารพาราควอตเข้าสู่ร่างกาย สารพิษจากพาราควอตจะก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ มีอาการบวมในบริเวณที่สัมผัสสารพิษ

3. ปวดท้องอย่างรุนแรง

          ในกรณีที่ได้รับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายแม้เพียง 1-2 ช้อนชา จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้ มีอาการปากบวม คอบวม

พาราควอต

4. อาเจียน

          หลังจากนั้นร่างกายจะพยายามขับสารพิษออกมา โดยทำให้อาเจียนอย่างรุนแรง

5. ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด

          นอกจากอาเจียนแล้ว บางคนยังอาจมีอาการท้องเสีย ถ่ายมีเลือดปน หรืออาเจียนร่วมด้วย ทั้งนี้อาการที่เกิดจะขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่ร่างกายได้รับเข้าไป

6. ความดันโลหิตต่ำ หายใจไม่สะดวก

          หากมีอาการข้างต้นอย่างรุนแรง อาจส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำลง และมีอาการหายใจไม่สะดวกร่วมด้วย อีกทั้งยังส่งผลต่อการทำงานของตับ

7. ทำลายสมอง

          รศ. ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ระบุถึงพิษร้ายแรงของพาราควอตว่า พาราควอตเป็นสารพิษเฉียบพลัน และมีผลวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นว่า พาราควอตสามารถเข้าสู่สมองมนุษย์ได้ และมีฤทธิ์ทำลายสมอง

8.  เพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคพาร์กินสัน

          มีรายงานพบว่า ความเป็นพิษของพาราควอตมีส่วนก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน เนื่องจากพาราควอตเป็นพิษต่อสมองนั่นเอง


9. ส่งผลต่อเด็กและหญิงตั้งครรภ์

          จากการศึกษาหาปริมาณพาราควอตในคนไทย พบว่า ทั้งเลือดหญิงตั้งครรภ์ เลือดจากสายสะดือ และขี้เทาทารกแรกเกิด มีสารพาราควอตตกค้างอยู่ เพราะพาราควอตสามารถส่งต่อถึงทารกในครรภ์ผ่านรกและสายสะดือ ซึ่งหากเด็กได้รับสารพาราควอตก็อาจทำให้สมองไม่เติบโตตามพัฒนาการ


10. เสียชีวิต

          รศ. ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ระบุอีกด้วยว่า พาราควอตเป็นสารพิษเฉียบพลันที่หากได้รับเพียง 1-2 ช้อนชา ก็อาจถึงแก่ชีวิตได้เลยค่ะ

          ขึ้นชื่อว่าสารเคมีก็มีโทษและอันตรายต่อสุขภาพร่างกายเราได้หลายประการ ที่สำคัญอาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาไม่นาน เพราะพาราควอตถอนพิษไม่ได้

พาราควอต กับผลกระทบด้านอื่น ๆ

          นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว พาราควอตยังเป็นสารพิษที่ตกค้างในสภาพแวดล้อมได้ด้วย โดยพบทั้งในดิน ในน้ำ และในผลิตภัณฑ์การเกษตร ทำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้สัมผัสสารเคมีโดยตรง ยังได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากสารเคมีที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมไปด้วย

พาราควอต

พาราควอตถูกแบนในประเทศไหนแล้วบ้าง

          เนื่องจากอันตรายของพาราควอตดังที่กล่าวมา ทำให้หลาย ๆ ประเทศตัดสินใจยกเลิกการใช้พาราควอตไปเลยเพื่อความปลอดภัยของประชากร ซึ่งประเทศที่แบนพาราควอตไปแล้วมีอย่างน้อย 51 ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศในสหภาพยุโรป ที่ยกเลิกไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ส่วนประเทศในแถบเอเชียที่แบนพาราควอตไปแล้ว มีดังนี้

          - จีน

          - กัมพูชา

          - ลาว

          - คูเวต

          - เกาหลีใต้

          - ศรีลังกา

          - ซีเรีย

          - สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

          - เวียดนาม

          และแม้ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยังไม่แบนพาราควอต แต่ก็มีมาตรการจำกัดการใช้สารพิษชนิดนี้อย่างเข้มงวด



สถานการณ์สารพาราควอตในประเทศไทย

          ก่อนหน้านี้มีการรณรงค์จากภาคประชาชนให้สั่งแบนพาราควอต แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่แบนพาราควอต เนื่องจากเกรงว่า หากแบนพาราควอตในตอนนี้ เกษตรกรกว่า 25 ล้านคนอาจหันไปใช้สารเคมีชนิดอื่นที่รุนแรงขึ้น และมีการเผาซากพืชมากขึ้น เพราะไม่สามารถใช้ยาปราบศัตรูพืชได้ จึงส่งผลกระทบหลายด้าน
         
          แต่แล้วในที่สุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ก็ได้มีมติให้ปรับวัตถุอันตราย 3 ชนิด ประกอบด้วย พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ วัตถุอันตรายที่มีความเป็นอันตรายหรือความเสี่ยงสูงทั้งจากคุณสมบัติของตัวสารเองหรือจากลักษณะการใช้ เช่น สารก่อมะเร็ง สารก่อกลายพันธุ์ สารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ หรือสารที่ห้ามใช้โดยอนุสัญญา กฎหมายจึงห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพบว่าหากแบนวัตถุอันตรายทันทีจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การจัดการสารพิษตกค้างซึ่งมีประมาณ 23,000 ตัน หากต้องทำลายจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และบางส่วนไม่สามารถผลักดันส่งกลับไปได้ อีกทั้งผลกระทบที่เกิดต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากมีสารตกค้างอยู่ในผลผลิตดังกล่าว ทำให้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้มีมติให้เลื่อนการปรับระดับการควบคุมสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จากวันที่ 1 ธันวาคม เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้

          อ่านข่าว เลื่อนแบน พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส 6 เดือน - ไกลโฟเซต ให้จำกัดการใช้ 
 
          ทั้งนี้ ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าหลังจากนี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ เนื่องจากประเด็นการแบนพาราควอตมีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้คัดค้านมากพอสมควร เพราะพาราควอต เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช ที่เสมือนเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ทุกครัวเรือนใช้มาเป็นเวลานาน และหากแบนจริงจะต้องหาสารเคมีอื่นมาทดแทน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าทำได้ค่อนข้างยาก

*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 2 ธันวาคม 2562

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
     
- greenpeace
- healthline
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พาราควอต อันตรายต่อสุขภาพแค่ไหน ทำไมถึงต้องแบน ! อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2562 เวลา 11:25:35 74,572 อ่าน
TOP
x close