x close

องค์การเภสัชฯ เตรียมสกัดน้ำมันกัญชารักษาโรค ล็อตแรก 2.5 พันขวด เสร็จ ก.ค. นี้

          องค์การเภสัชกรรม เตรียมสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อการแพทย์ ล็อตแรก 2,500 ขวด คาดเสร็จกรกฎาคม-สิงหาคม นี้ พร้อมส่งต่อให้กับกรมการแพทย์เพื่อนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยควบคู่กับการศึกษาวิจัย
ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

          นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยกับทีมข่าวกระปุกดอทคอมถึงความคืบหน้าการวิจัยกัญชาเพื่อทางการแพทย์ว่า หลังจากที่องค์การเภสัชกรรม ได้ดำเนินการปลูกกัญชาเพื่อทางการแพทย์ในระยะที่ 1 จำนวน 140 ต้น ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ประเดิมล็อตแรก 2,500 ขวด ใช้สำหรับวิจัยใน 4 กลุ่มโรค

          ขณะนี้ต้นกัญชาได้เติบโตเริ่มออกดอก เพื่อรอเก็บเกี่ยวและเข้าสู่การกระบวนการสกัดเป็นน้ำมันเพื่อนำมารักษาโรค โดยคาดว่าล็อตแรกจะสามารถเก็บดอกและสกัดเป็นน้ำมันกัญชาได้ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 ซี.ซี. ได้เสร็จสิ้นประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม 2562 จากนั้นจะส่งต่อน้ำมันกัญชาให้กับกรมการแพทย์เพื่อนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยควบคู่กับการศึกษาวิจัย

ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

          โดยน้ำมันกัญชาที่สกัดออกมานี้ มาจากต้นกัญชาสายพันธุ์นำเข้าจากประเทศสเปนเป็นหลัก เนื่องจากมีสาร CBD และ THC สูง ซึ่งสารดังกล่าวมีการวิจัยในต่างประเทศระบุแน่ชัดว่า สามารถรักษา 4 กลุ่มโรคได้ เช่น โรคลมชักในเด็ก กล้ามเนื้อแข็ง ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัด และปวดเรื้อรัง และกลุ่มโรคที่น่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ อาทิ โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ เครียด เป็นต้น

          ซึ่งหลังจากที่ส่งน้ำมันกัญชาล็อตแรกให้กรมการแพทย์ แล้ว ทางองค์การเภสัชกรรม จะดำเนินการผลิตน้ำมันกัญชาทยอยส่งมอบให้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการศึกษาวิจัยในผู้ป่วย ซึ่งในระยะแรกนี้ สามารถผลิตดอกกัญชาได้เพียง 100 กิโลกรัมต่อปี สามารถสกัดเป็นน้ำมันกัญชาได้ประมาณ 1 หมื่นขวดเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย

ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

เตรียมขยายผลระยะที่ 2 ต่อยอดสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม

          ดังนั้น ภายในต้นปี 2563 จึงจะเริ่มขยายการปลูกกัญชาในระยะที่ 2 ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตมากขึ้นจากเดิมสูงถึง 8 เท่า สามารถสกัดน้ำมันกัญชาได้สูงถึง 8 แสนขวดต่อปี  ในพื้นที่โรงงานผลิตยารังสิตคลอง 10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงงานขององค์การเภสัชกรรม โดยรวมแล้วงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินทั้ง 2 ระยะรวมทั้งหมดกว่าร้อยล้านบาท

ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

          แม้องค์การเภสัชกรรม จะมีกำลังผลิตน้ำมันกัญชานับแสนขวด แต่ก็ถือว่าไม่มากนัก หากเทียบกับความต้องการของผู้ป่วยในประเทศ ที่คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน ดังนั้น ขณะนี้จึงมีหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สถานศึกษา หรือเอกชน ร่วมกันปลูก สกัดน้ำมันกัญชาเพื่อทางการแพทย์อีกหลายราย และไม่เพียงสกัดน้ำมันเพียงอย่างเดียว ในอนาคตมีแผนในการผลิตเป็นยาแบบเม็ด เจล และยาแปะ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้ป่วย

          อย่างไรก็ตาม กัญชา ไม่ใช่ยาทางเลือกแรก หรือยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรค แต่เป็นเพียงยาทางเลือกสุดท้ายที่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษา และการที่จะใช้น้ำมันกัญชามารักษาแต่ละโรคได้นั้น ต้องอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมการรักษาโดยแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์มากกว่าได้โทษจากฤทธิ์ของกัญชา โดยยืนยัน ผู้ป่วยทั่วไปที่เข้าข่ายต้องใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค มีสิทธิได้เข้าถึงการรักษาทุกคน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการสั่งจ่ายยาของแพทย์ ส่วนราคาแพงหรือไม่ ต้องดูที่ราคาต้นทุนการผลิต แต่รับรองว่าไม่แพงเท่าต่างประเทศ หรือราคาถูกมากเหมือนกัญชาตลาดใต้ดินแน่นอน

ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

ภาพจาก องค์การเภสัชกรรม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
องค์การเภสัชฯ เตรียมสกัดน้ำมันกัญชารักษาโรค ล็อตแรก 2.5 พันขวด เสร็จ ก.ค. นี้ อัปเดตล่าสุด 29 พฤษภาคม 2562 เวลา 16:24:48 26,487 อ่าน
TOP