รศ. นพ.อดุลย์ จาก รพ.ศิริราช ให้ความรู้เรื่องภาวะสมองตาย สาเหตุหลักเพราะขาดเลือด - ออกซิเจน สามารถบริจาคอวัยวะช่วยผู้ป่วยคนอื่นได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 14 มิถุนายน 2562 เพจเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune ของ รศ. นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาการศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะสมองตาย ระบุว่า สมองเป็นส่วนที่สำคัญมาก ที่ควบคุมให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างอัตโนมัติ และทำให้เราคิด และทำตามที่เราคิดได้ หากแบ่งสมองเป็น 2 ส่วนหยาบ ๆ คือ สมองที่ดูแลเกี่ยวกับ การคิด การสั่งให้ร่างกายทำตามที่เราคิด เรียกว่า สมองใหญ่ (cerebral cortex) ส่วนที่ส่งผ่านการควบคุมระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้อย่างอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นการเต้นของหัวใจ การหายใจ การทำงานของระบบย่อยอาหาร การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ฯลฯ เรียกว่า ก้านสมอง (brain stem)
โดยทั่วไป หากสมองใหญ่ตาย (ไม่สามารถทำงานได้) แต่ก้านสมองยังทำงาน ร่างกายยังมีชีวิตอยู่ได้ อย่างที่เขาเรียกว่า เจ้าหญิงนิทรา หรือเจ้าชายนิทรา คือ หัวใจเต้น หายใจเอง แต่ไม่ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ (ถ้าเราป้อนอาหาร พลิกตัว สวนปัสสาวะ ให้การดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ก็อยู่ได้ไปเรื่อย ๆ) แต่หากก้านสมองไม่ทำงาน ระบบต่าง ๆ จะไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง จะยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องใช้เครื่องมือ หรือยาช่วย หยุดเมื่อไร หัวใจจะหยุดส่งออกซิเจนไปสมองใหญ่ สมองใหญ่ก็จะขาดเลือด และตายในที่สุด แต่บ่อยครั้งที่ สมองใหญ่และก้านสมอง ตายไปพร้อม ๆ กัน หรือใกล้ ๆ กัน

ภาวะที่ทำให้สมองขาดเลือดและขาดออกซิเจน เป็นได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ เหตุหนึ่ง จากในสมองเอง และอีกเหตุหนึ่งจากภาวะอื่นของร่างกาย ภายนอกสมอง กรณีที่เกิดจากเหตุในสมองเอง เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง เลือดจะดันเบียดให้พื้นที่ในสมองน้อยลง เลือดเข้าไปเลี้ยงสมองไม่ได้ (เพราะพื้นที่สมองมีจำกัด เมื่อเนื้อสมองบวมจึงเบียดเส้นเลือดไม่ให้มีพื้นที่ที่เลือดจะเข้าไปเลี้ยง) และที่สำคัญคือ บวมจนลงมาดันเบียดก้านสมองซึ่งอยู่ตรงรอยต่อสู่ลำคอ เมื่อก้านสมองถูกกดเบียด ก็เกิดการขาดเลือด เกิดภาวะก้านสมองตายด้วย
ส่วนกรณีที่เป็นสาเหตุจากที่อื่นนอกสมอง มักเป็นปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและปอด เช่น หัวใจขาดเลือด หรือจมน้ำ หรือมีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ สำลักอาหาร ภาวะช็อก แล้วทำให้ไม่สามารถมีเลือดหรือออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ สมองก็จะตาย เป็นสาเหตุภายนอก เหตุการณ์ในกรณีนี้ หากสามารถกู้คืนการทำงานของหัวใจและปอดได้แล้ว แต่ทิ้งให้สมองขาดเลือดนานเกิน 4 นาที เกิดภาวะเซลล์สมองตาย เซลล์จะบวม สมองบวม ทำให้การไหลเวียนของเลือดเข้าสมองไม่ได้ ภาวะเช่นนี้สมองก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน
การรักษาหรือป้องกันไม่ให้สมองตายจึงมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าเป็นเหตุในสมองหรือนอกสมอง หากรักษาไม่ทันสมองจะตาย แพทย์สามารถตรวจให้ทราบว่า สมองตายหรือไม่ โดยดูปฏิกิริยาของก้านสมอง ไม่ว่าเป็นการตรวจประสาทการทรงตัว หรือประสาทของรูม่านตา กรณีที่รู้ว่าสมองตาย เช่น จากเหตุในสมอง หรืออุบัติเหตุ แต่ร่างกายส่วนอื่นยังดีอยู่ แพทย์อาจจะขอความสมัครใจจากญาติ บริจาคอวัยวะช่วยผู้ป่วยคนอื่นที่มีความจำเป็น ซึ่งบริจาคได้ทั้ง หัวใจ ปอด ไต 2 ข้าง ตับ ตับอ่อน กระจกตา 2 ข้าง ฯลฯ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune