x close

โรคตุ่มน้ำพอง เพมฟิกัส เป็นแผลในปากเรื้อรังต้องระวังไว้ !

          มาทำความรู้จักโรคตุ่มน้ำพอง หรือโรคเพมฟิกัส โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิต้านทาน ป่วยแล้วทรมาน แต่ยังมีทางรักษาหาย

โรคตุ่มน้ำพอง

          เวลามีตุ่มน้ำใส ๆ พอง ๆ ขึ้นบนผิวหนัง ส่วนใหญ่จะเกิดจากการโดนของร้อน หรือโดนแมลงมีพิษกัดต่อย แต่ในกรณีที่ตุ่มน้ำพองขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ อันนี้น่าเป็นกังวลค่ะ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคตุ่มน้ำพอง หรือโรคเพมฟิกัส หรือ เพมฟิกอยด์ เอาเป็นว่ามาทำความรู้จักโรคตุ่มน้ำพองกันดีกว่า

โรคตุ่มน้ำพอง คืออะไร


          โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า โรคเพมฟิกัส (Pemphigus) คือ โรคตุ่มน้ำพองเรื้อรังจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ จนเป็นเหตุให้ผิวหนังหลุดลอกได้โดยง่าย

          ทั้งนี้ โรคเพมฟิกัส หรือโรคตุ่มน้ำพอง จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

               1. โรคเพมฟิกัสที่มีการแยกตัวของผิวหนังชั้นลึก (Pemphigus Vulgaris)

               2. โรคเพมฟิกัสที่มีการแยกตัวของผิวหนังชั้นตื้น (Pemphigus Foliaceus)

          ซึ่งโรคเพมฟิกัสที่มีการแยกตัวของผิวหนังชั้นลึกจะพบได้บ่อยกว่าแบบตื้น

โรคตุ่มน้ำพองเกิดจากอะไร


          อย่างที่บอกว่าโรคตุ่มน้ำพองเกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่สร้างแอนติบอดีขึ้นมาทำลายการยึดของเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเกิดการแยกตัวในชั้นหนังกำพร้า หรือบริเวณรอยต่อของหนังกำพร้าและหนังแท้ จนเกิดเป็นตุ่มน้ำพองขึ้นที่ผิวหนังหรือเยื่อบุต่าง ๆ ของร่างกาย อย่างไรก็ตาม โรคตุ่มน้ำพองอาจเกิดจากพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อโรคหรือสารเคมีร่วมด้วย

โรคตุ่มน้ำพอง ใครเสี่ยงบ้าง


          โรคตุ่มน้ำพองเป็นโรคที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่จากสถิติแล้วจะพบโรคตุ่มน้ำพองในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป แต่โรคนี้เกิดได้น้อยมากนะคะ โดยมีอัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 3 ใน 1 แสนคนเท่านั้น

โรคตุ่มน้ำพอง

โรคตุ่มน้ำพอง อาการเป็นอย่างไร


          ลักษณะตุ่มที่ขึ้นตามร่างกายที่จัดว่าเป็นโรคตุ่มน้ำพอง อาจมีอาการสังเกตได้ดังนี้

          - มีรอยแดงขึ้นมาก่อน แล้วค่อยกลายเป็นตุ่มน้ำพองหรือแผลถลอกเรื้อรังตามผิวหนัง โดย 50-70% จะเป็นแผลในปาก

          - เป็นแผลบริเวณเหงือก กระพุ้งแก้ม หรือเพดานปากแบบเรื้อรัง (5 เดือนขึ้นไป)

          - อาจมีอาการเสียงแหบเรื้อรังจากรอยโรคบริเวณกล่องเสียง

          - อาจมีอาการกลืนเจ็บจากรอยโรคบริเวณหลอดอาหาร

          นอกจากนี้อาจพบรอยโรคที่เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอด อวัยวะเพศ ทางเดินปัสสาวะและทางเดินอุจจาระด้วย

ลักษณะตุ่มน้ำพองเป็นอย่างไร


          ลักษณะตุ่มน้ำพองอาจพบเป็นผื่นแดงขึ้นตามผิวหนังก่อนจะเป็นตุ่มน้ำพองใส สามารถแตกออกได้ง่าย และเมื่อตุ่มใสแตกแล้วจะขยายออกเป็นวงกว้าง เป็นแผลถลอก โดยอาจมีสะเก็ดน้ำเหลืองให้เห็นด้วย อีกทั้งจะเจ็บและแสบมาก ๆ หากตุ่มใสแตก ทว่าเมื่อแผลหายแล้วจะไม่เป็นแผลเป็นนะคะ เพียงแต่อาจเป็นรอยดำ ๆ อย่างชัดเจน

          ทั้งนี้ หากเป็นตุ่มน้ำพองในปากจะทำให้กลืนอาหารไม่สะดวก ทำให้ไม่อยากกินอะไรจนร่างกายซูบผอม อิดโรยได้ และหากผิวหนังที่ถลอกติดเชื้อขึ้นมาอาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ จึงต้องระวังให้มาก

โรคตุ่มน้ำพอง
ลักษณะตุ่มน้ำพองที่แตกง่าย ทำให้เกิดเป็นแผลถลอก สะเก็ดน้ำเหลือง

โรคตุ่มน้ำพอง รักษาได้ไหม


          แม้จะเป็นโรคที่พบได้ไม่ค่อยบ่อย แต่วิธีรักษาโรคตุ่มน้ำพองก็ยังพอมีค่ะ โดยแพทย์จะทำการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันในเคสที่มีอาการหนัก จากนั้นเมื่อควบคุมโรคได้ แพทย์จะค่อย ๆ ปรับลดยาลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการควบคุมโรค ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจต้องรับยารักษาโรคตุ่มน้ำพองต่อเนื่องจนกว่าแพทย์จะสั่งให้ลดยาหรือหยุดยา และควรได้รับการดูแลโดยแพทย์อยู่เสมอ เนื่องจากผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอกว่าปกติได้

โรคตุ่มน้ำพอง ติดต่อได้ไหม


          โรคตุ่มน้ำพองไม่ใช่โรคติดต่อ ดังนั้นจึงไม่สามารถติดต่อกันได้ 

โรคตุ่มน้ำพอง

โรคตุ่มน้ำพอง ควรดูแลตัวเองอย่างไร


          ไม่ว่าจะป่วยโรคตุ่มน้ำพองหรือไม่ แต่หากมีอาการตุ่มน้ำใสขึ้นตามผิวหนังโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์ และไม่ควรแกะ เกา หรือเจาะน้ำใสในตุ่มน้ำพองออกด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้แผลลุกลามได้

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคตุ่มน้ำพอง


          - พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่เลี่ยงการออกกำลังกายหนักจนเกินไป
          - หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ
          - ไม่ควรเข้าไปในสถานที่แออัดหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
          - ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่คับจนเกินไป เพราะทำให้ผิวหนังหลุดลอกมากขึ้น
          - รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยใช้น้ำเกลือเช็ดเบา ๆ ทำความสะอาดแผล
          - ดื่มนมสด หรือรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนจากการกินยารักษาตุ่มน้ำพอง
          - หากตุ่มน้ำในปากแตกออกให้ใช้น้ำเกลือบ้วนปากบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการแปรงฟันแรง ๆ และเลี่ยงการกินอาหารรสจัด อาหารแข็ง ซึ่งอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก
          - หากมีอาการไอ เป็นไข้สูง ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด ควรพบแพทย์

          ทั้งนี้ หากป่วยโรคตุ่มน้ำพองควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันที่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคตุ่มน้ำพอง เพมฟิกัส เป็นแผลในปากเรื้อรังต้องระวังไว้ ! อัปเดตล่าสุด 21 มีนาคม 2567 เวลา 23:05:31 60,796 อ่าน
TOP