เตือนภัย โรคลายม์ หลังพบผู้ป่วยคนไทยรายแรก ติดเชื้อหลังกลับจากตุรกี รอดตายหวุดหวิด พบความจำบางส่วนหาย ชี้เห็บเป็นพาหะนำโรค
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2562 หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ได้เตือนให้คนไทยระวังโรคลายม์ มีอาการเสี่ยงสมองอักเสบ ความจำเสื่อม หลังพบผู้ป่วยรายแรกในไทยเป็นหญิงวัย 47 ปี ติดเชื้อหลังกลับจากไปเที่ยวตุรกี อาการสาหัส รอดตายหวุดหวิดแต่ความจำบางส่วนหายไป
หมอมนูญ ระบุว่า โรคลายม์ (Lyme disease) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียโบเรลเลีย (borrelia) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม spirochetes เห็บ (ticks) เป็นพาหะนำโรคนี้ โดยกินเลือดจากสัตว์จำพวกสุนัข ม้า กวาง วัว ควาย หนู ที่เป็นตัวกักตุนโรค และนำเชื้อโรคเข้าสู่คนเมื่อมากัดกินเลือดคน โรคนี้พบในหลายประเทศรวมทั้งประเทศตุรกี ยังไม่มีรายงานโรคนี้ในประเทศไทย อาการของโรคลายม์ จะแสดงออกหลังได้รับเชื้อ 2-4 สัปดาห์ อาการที่พบได้บ่อยคือ มีผื่นบริเวณที่ถูกเห็บกัด ไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย เชื้อนี้เล่นงานหลายอวัยวะในคน
ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 47 ปี เพิ่งไปเที่ยวหลายเมืองในประเทศตุรกีนาน 8 วัน หลังกลับมา 17 วัน เริ่มมีไข้ ไอ ปวดหัว ปวดตัว อ่อนเพลีย ไม่มีผื่น เข้านอนรักษาในโรงพยาบาล ตรวจไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ หรือไข้เลือดออก เอกซเรย์ปอดปกติ หลังจากนั้นอีก 4 วัน มีไข้ หัวใจเต้นช้า โคม่า หมดสติ มีชักกระตุกใบหน้าขวา แขนขวา ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ทำคอมพิวเตอร์สมอง CT Brain ปกติ ทำคลื่นไฟฟ้าสมอง EEG พบมีสัญญาณเป็นโรคลมชัก ได้ส่งเลือดและน้ำไขสันหลังตรวจหาแบคทีเรียทั่วไป โรคฉี่หนู โรค Rickettsia วัณโรค เชื้อรา ไวรัสต่าง ๆ ผลกลับมาปกติ จึงให้ยากันชักต่อเนื่อง และยาปฏิชีวนะ 2 ขนานคือ Ceftriaxone และ doxycycline 7
หมอมนูญ ระบุอีกว่า ผู้ป่วยรายนี้น่าจะรับเชื้อ Borellia ในประเทศตุรกี หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ มีไข้ สมองอักเสบ (Neuroborreliosis) หัวใจเต้นช้า ต่อมาต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าอีก 4 เดือนถัดมา วินิจฉัยเป็นโรคลายม์ โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ Borrelia ในเลือด ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาปฏิชีวนะ doxycycline และ ceftriaxone ตรงกับโรคนี้ตั้งแต่ต้น อาการจึงค่อย ๆ ดีขึ้นช้า ๆ โรคนี้ไม่พบในประเทศไทยและพบไม่บ่อยในประเทศตุรกี คนไทยที่ไปท่องเที่ยวประเทศตุรกีกลับมา ก็ไม่มีรายงานว่าเคยป่วยเป็นโรคนี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก