คนส่วนใหญ่ก็อยากรวย อยากมีเงินเยอะ ๆ แต่ไม่ใช่กับผู้ป่วยโรค Plutophobia ที่ไม่อยากรวยเลยสักนิด ความก้าวหน้าก็ไม่อยากได้ ขออยู่แบบพอมีพอกินไม่อดตายก็พอ !
Pluto เป็นชื่อเทพเจ้ากรีกซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย มีอำนาจ ส่วน phobia เป็นความกลัวอะไรบางอย่างแบบขั้นสุด เมื่อสองคำนี้มารวมกันจึงกลายเป็นโรคกลัวความมั่งคั่งร่ำรวยนั่นเอง แต่พอบอกว่ากลัวความรวย บางคนอาจจะนึกไม่ออกว่า ความรวยมันน่ากลัวตรงไหน เอาเป็นว่าเราค่อย ๆ ทำความรู้จักโรคกลัวแปลก ๆ โรคนี้กัน
Plutophobia เกิดจากอะไร
ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าโรคกลัวความร่ำรวยหรือ Plutophobia เกิดจากอะไรกันแน่ แต่ทางจิตวิทยาก็สันนิษฐานกันว่า โรคกลัวความร่ำรวยอาจเกิดจากอดีตที่ฝังใจในวัยเด็ก โดยอดีตนั้นเป็นสิ่งที่โหดร้าย เป็นความทรงจำที่ไม่ได้ให้ความรู้สึกที่ดีนัก โดยอาจเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่มีเบื้องหลังน่ากลัว ทำให้เขาฝังใจว่าความรวยมันซับซ้อน และไม่ได้ทำให้ชีวิตมีความสุข หรือบางคนอาจมีเงินมากตั้งแต่เด็ก แต่ชีวิตกลับไม่ได้สบายอย่างที่ควรจะเป็น ทว่าอาจต้องทนกับความอึดอัดใจ หรือต้องทนกับอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองของมีค่า เป็นต้น
Plutophobia อาการเป็นอย่างไร
หากใครนึกไม่ออกว่าอาการกลัวความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นยังไง เราลองมาเช็กอาการของคนที่เป็น Plutophobia กันเลย
* รู้สึกวิตกกังวลอย่างมากเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางคนรวย
* เมื่อคิดถึงความรวยแล้วจะเครียด จะกังวลไปสารพัด
* มีความพยายามที่จะบ่อนทำลายความมั่นคงของตัวเอง
* จะเลือกทำแต่งานที่เงินเดือนหรือได้ค่าตอบแทนไม่เยอะ
* ไม่สนใจ และเข้าขั้นกลัวความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
* เชื่อในหลักศีลธรรมมากกว่าความร่ำรวย
* ไม่ไว้ใจหรืออาจถึงขั้นต่อต้านคนรวย
* มักจะบ่น หรือมองคนรวยในแง่ร้าย
ทั้งนี้ คนที่เข้าข่ายป่วย Plutophobia จะมีความรู้สึกติดลบกับความรวย เงินทอง ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น มองว่าการบริจาคเงินของคนรวยให้มูลนิธิหรือคนด้อยโอกาส เป็นการกระทำเพื่อปิดบังความผิด หรือเป็นการชดใช้ความผิดที่พวกคนรวยได้ทำไป แทนที่จะมองว่าเป็นการแบ่งปัน เป็นการแชร์ความสุขในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือมองว่าการได้เงินมาเยอะ ๆ การได้ครอบครองเงินเยอะ ๆ เป็นเรื่องที่ผิด และเขาจะรู้สึกผิดต่อตัวเองอยู่ลึก ๆ เป็นต้น
Plutophobia รักษาได้ไหม
การรักษาภาวะโฟเบียจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี และการรักษาก็ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของคนไข้ด้วย โดยวิธีรักษามี ดังนี้
1. รักษาด้วยยา
กลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการโฟเบียจะเป็นยาในกลุ่มแก้วิตกกังวล ยาคลายเครียด หรือยาช่วยให้นอนหลับ ซึ่งแพทย์จะสั่งยาที่สามารถบรรเทาความรู้สึกกลัว หรือช่วยลดทอนปัญหาของผู้ป่วยได้ ซึ่งการรักษาด้วยยาจำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษาพอสมควร และต้องปรับยาไปเรื่อย ๆ จนแพทย์เห็นว่าอยู่ในจุดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว
2. รักษาด้วยจิตบำบัด
หากรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผลที่ดีพอ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการทำจิตบำบัดกับนักจิตวิทยา โดยการพูดคุย ทำแบบทดสอบ และแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ เป็นการรักษาที่มักจะใช้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา
3. การเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว
การรักษาภาวะโฟเบียที่ค่อนข้างจะได้ผลดีก็คือให้ผู้ป่วยค่อย ๆ ปรับตัวกับสิ่งที่ตัวเองกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่าสิ่ง ๆ นั้น หรือความรู้สึกนั้นไม่ได้น่ากลัวเท่าที่เขาคิด ซึ่งนักจิตวิทยาและจิตแพทย์จะสร้างรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อให้คนไข้ได้ค่อย ๆ เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวไปเรื่อย ๆ จนเขาไม่รู้สึกกลัวอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี ความกลัวที่ถึงขั้นเป็นโฟเบีย เป็นสิ่งที่มักจะรบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอยู่เสมอ โดยอาจจะเป็นปัญหา อุปสรรคในการดำเนินชีวิตของเขาไม่ว่าในทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นหากพบว่าตัวเองกลัวอะไรบางอย่างมาก ๆ กลัวแบบเจอแล้วใจสั่น เหงื่อแตก หน้ามืด อยู่ไม่สุข ก็ควรไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีจะดีกว่าค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
psychtimes, massivephobia