ปัญหารังแค เจอแบบนี้ต้องดูแลอย่างไร ให้ห่างไกลและหายขาด กับ คุณหมอแพร

          ด้วยสภาพอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย ส่งผลให้หลายคนต้องเผชิญกับปัญหา "รังแคเปียก" ทำให้หัวเหม็น บุคลิกภาพดูแย่ ขาดความมั่นใจ จะแต่งตัวอะไรก็ต้องคิดหนักเพราะกลัวจะมีรังแคร่วงหล่นบนบ่าหรือเป็นสะเก็ดติดอยู่บนหนังศีรษะ ใครเจอปัญหาแบบนี้อยู่ เราลองมาดูวิธีรับมือ "รังแค" และ "รังแคเปียก" กับคุณหมอแพร กันค่ะ



รังแค (Dandruff)

          รังแค คือ สะเก็ดหรือขุยสีขาวเป็นแผ่นบาง พบบริเวณเส้นผมหรือหนังศีรษะ หรืออาจร่วงหล่นมาเกาะที่เสื้อโดยเฉพาะบริเวณบ่าและไหล่ อีกทั้งบางคนยังมีปัญหารังแคเปียกอีกด้วย เป็นปัญหาที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ส่งผลต่อบุคลิกภาพทำให้ขาดความมั่นใจ และอาจก่อให้เกิดอาการคัน หนังศีรษะมีกลิ่นเหม็น อย่างไรก็ตาม รังแคไม่ใช่โรคติดต่อและไม่เป็นอันตราย ส่วนใหญ่สามารถรักษาและควบคุมอาการได้ไม่ยาก
         
          รังแคเกิดจากการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังชั้นบนสุดของหนังศีรษะ โดยปกติแล้ววงจรชีวิตของเซลล์ผิวหนังจะเริ่มจากการแบ่งตัวที่เซลล์ผิวหนังชั้นล่าง และเคลื่อนไปยังชั้นบนสุดแล้วค่อย ๆ ผลัดหลุดไป เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า วงจรนี้ในคนปกติใช้เวลาประมาณ 28 วัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นรังแควงจรนี้จะเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ทำให้มีการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังมากจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นแผ่นสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ

การเกิดรังแค รูขุมขนอักเสบ หนังศีรษะระคายเคือง เกิดรังแคเป็นขุยเห็นได้ชัด
1. รูขุมขนอักเสบ 2. การระคายเคืองหนังศีรษะ รังแคเป็นขุยเห็นได้ชัด

รังแค แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. รังแคเปียก

          ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนที่หนังศีรษะมัน ลักษณะของรังแคจะเป็นเกล็ดเล็กละเอียดเป็นมันเงาสะสมบนหนังศีรษะ เป็นสาเหตุของกลิ่นเหม็นและความคันบนหนังศีรษะ เพราะมีไขมันเคลือบจึงมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่เป็นรังแคชนิดนี้ มักเป็น ๆ หาย ๆ และต่อเนื่องยาวนานเป็นปี

2. รังแคแห้ง 

          มีลักษณะเป็นขุยสีขาว เป็นเกล็ดแห้งและหลุดล่อนออกมาติดกับเส้นผม และเป็นรังแคที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีผิวและหนังศีรษะแห้ง จึงพบได้มากกับคนที่มีลักษณะเส้นผมใหญ่ หยาบกระด้าง หรือผมแห้ง

สาเหตุที่ทําให้เกิดรังแคมีหลายประการ ดังนี้

ประการแรก

          ในคนที่ผิวหนังแห้งอยู่แล้ว หนังศีรษะก็จะแห้งกว่าคนผิวปกติและอาจมีปัจจัยกระตุ้นที่มาเสริมทําให้แห้งมากขึ้น เช่น การใช้แชมพูที่ผิดประเภท มีน้ำหอมหรือสารเคมีมาก ดัดผม ย้อมผม ยืดผมบ่อย ๆ

ประการที่สอง
         
          รังแคอาจเกิดจากปฏิกิริยาของหนังศีรษะต่อเชื้อรา มาลาสซีเซีย (Malassezia Globosa) ที่อาศัยอยู่บนหนังศีรษะและรอบ ๆ รากผม (Infundibulum) ซึ่งปกติเชื้อราชนิดนี้มีอยู่ในทุกคนอยู่แล้ว คนที่มีกรรมพันธุ์ที่ไวต่อเชื้อราชนิดนี้ หรือมีปัจจัยที่ทำให้เชื้อราชนิดนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ได้แก่ อายุ ฮอร์โมนและความเครียด ก็จะทําให้หนังศีรษะแบ่งตัวเร็วขึ้นจนหลุดร่วงออกมาเป็นขุย เนื่องจากเชื้อราชนิดนี้กินน้ำมันที่อยู่บนหนังศีรษะและรากผมเป็นอาหาร และหลั่งกรด Oleic acid ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหนังศีรษะออกมา

ประการสุดท้าย

          คือ คนที่เป็นโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) ซึ่งนอกจากพบมีผื่นแดงและสะเก็ดลอกบริเวณหนังศีรษะแล้ว ยังสามารถพบผื่นข้างจมูก คิ้ว และหลังหูได้อีกด้วย  โรคผิวหนังอีกโรคหนึ่งที่พบการหลุดลอกบริเวณหนังศีรษะคือ โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ซึ่งจะมีความรุนแรงมากกว่า และพบสะเก็ดบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายด้วย เช่น ข้อศอก หัวเข่า แขนขา และอาจมีข้ออักเสบร่วมด้วย
 
สาเหตุอื่น ๆ

          ที่อาจทำให้เกิดรังแค ได้แก่ กรรมพันธุ์ ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง สภาพอากาศ เช่น อากาศเย็น อากาศร้อน ลม การสระผมน้อยเกินไป  หรือมีน้ำมันที่เส้นผมและหนังศีรษะมาก เพราะเชื้อรามาลาสซีเซียสามารถเติบโตได้จากน้ำมันบนหนังศีรษะ เมื่อเชื้อราชนิดนี้มีมากกว่าปกติก็จะทำให้เกิดรังแค

วิธีรักษาและป้องกันรังแค

วิธีการรักษาและป้องกัน

          การรักษารังแคและปัญหาหนังศีรษะมีกลิ่นสามารถทำได้ด้วยตนเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ร่วมกับใช้ยาสระผมแก้หัวเหม็นและขจัดรังแคที่หาซื้อได้จากร้านขายยาหรือร้านค้าทั่วไป

• เลี่ยงการสระผมบ่อยจนเกินไป

          หรือสระผมด้วยน้ำอุ่น เนื่องจากน้ำอุ่นจะทำให้หนังศีรษะแห้ง และลอกเป็นขุยได้

• หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ระคายเคือง

          หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผมและหนังศีรษะที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น น้ำหอม แอลกอฮอล์ เพราะส่วนผสมดังกล่าวสามารถทำให้หนังศีรษะแห้งได้  หากหนังศีรษะมีกลิ่น ไม่ควรใช้แชมพูที่มีน้ำหอมเพื่อดับกลิ่น เพราะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบระยะสั้น ควรแก้โดยการลดเชื้อราบนหนังศีรษะ จะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ

• เลี่ยงการเกาแรง ๆ

          ควรเลี่ยงการเกาหรือใช้หวีที่มีซี่คมบริเวณหนังศีรษะ

• ความเครียด

          เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดรังแคหรือทำให้มีอาการที่แย่ลง และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ดังนั้นควรหาทางจัดการกับความเครียดด้วยวิธีผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น การฝึกหายใจ โยคะ หรือการทำสมาธิ

• ใช้ยาสระผมแก้หัวเหม็นและขจัดรังแค

          โดยตัวยาที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันคือ ซิงค์ไพริไทออน (Zinc Pyrithione) ซึ่งสามารถช่วยลดเชื้อราบนหนังศีรษะที่เป็นต้นเหตุให้เกิดรังแคและผิวหนังอักเสบได้ โดยเฉพาะ Zinc Pyrithione ที่มีอนุภาคขนาดเล็ก (Micro Zinc Pyrithione : ZPT) ซึ่งจะเข้าไปใน Infundibulum ที่เป็นบริเวณที่มีเชื้อราอาศัยอยู่มาก ได้ดีกว่า Zinc ขนาดปกติ ทำให้ช่วยลดการเกิดรังแคอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังมีตัวยา ที่สามารถลดจำนวนเชื้อราบนหนังศีรษะอีก ได้แก่ ซีลีเนียม จะช่วยชะลอการผลัดเซลล์ผิวและช่วยลดเชื้อรามาลาสซีเซีย, คีโตโคนาโซล มีฤทธิ์ต้านเชื่อราได้หลายชนิด

          ผู้ที่ประสบปัญหาเหล่านี้ควรใช้ยาสระผมแก้หัวเหม็นและขจัดรังแคเหล่านี้เป็นประจำ โดยสระ 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องรังแคแล้ว ยังช่วยเรื่องหนังศีรษะมีกลิ่นเหม็นได้อีกด้วย  ควรใช้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน และเมื่อพบว่าอาการดีขึ้นแล้วก็อาจใช้น้อยครั้งลงได้ แต่ไม่ควรหยุดใช้ทันทีเพราะอาจทำให้เป็นรังแคได้อีกครั้ง

          หากใช้แชมพูขจัดรังแคมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน และอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลง มีอาการคันศีรษะมาก หนังศีรษะแดงหรือบวม เป็นผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น กำลังรักษาด้วยเคมีบำบัด เป็นเอชไอวี (HIV) หรือกำลังใช้ยาที่กดระบบภูมิคุ้มกัน ควรไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษา


บทความโดย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง พญ.พิชญา สงวนหมู่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปัญหารังแค เจอแบบนี้ต้องดูแลอย่างไร ให้ห่างไกลและหายขาด กับ คุณหมอแพร อัปเดตล่าสุด 11 พฤศจิกายน 2562 เวลา 10:04:58 38,221 อ่าน
TOP
x close