
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 เว็บไซต์แลดไบเบิล เผยแพร่ข้อมูลจากรายงานพิเศษของ เดอะเดลี่เทเลกราฟ ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ประจำบริษัทวิจัย อิมมูยีน (Imugene) ในออสเตรเลีย ได้คิดค้นและพัฒนายาต้านมะเร็งจากเชื้อฝีดาษวัว ที่ใช้เป็นตัวต้นสำคัญในวัคซีนฝีดาษในมนุษย์ โดยยาต้านมะเร็งดังกล่าวมีชื่อว่า CF33 ซึ่งผลจากการทดลองในหนู ปรากฏว่าสามารถลดเซลล์มะเร็งได้จริง และนี่จะเป็นความหวังในวงการแพทย์ในอนาคต
ศาสตราจารย์หยูมาน ฟง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง เปิดเผยว่า หลักฐานเรื่องไวรัสฆ่าเชื้อมะเร็งสามารถนับย้อนไปได้ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยตอนนั้นผู้คนที่ใช้วัคซีนรักษาโรคพิษสุนัขบ้า พบว่าโรคมะเร็งของตัวเองหายไป
แต่ปัญหาก็คือ การพัฒนาไวรัสที่แข็งแรงพอที่จะฆ่าเชื้อมะเร็งได้ มันก็เป็นที่กังวลว่ามันจะฆ่ามนุษย์ไปด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ฟงมั่นใจว่าไวรัสที่เขาพัฒนานั้นปลอดภัยในการใช้กับมนุษย์ และเชื่อว่ามันจะกลายเป็นวิธีกำจัดเนื้อร้ายอย่างมะเร็งได้ดีที่สุด

รายงานระบุว่า ทาง อิมมูยีน อยู่ในช่วงเตรียมโครงการทดลองไวรัสดังกล่าวกับมนุษย์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญก็คือ ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม โดยผู้ป่วยจะได้รับการฉีดไวรัสเข้าไปที่เนื้อร้ายโดยตรง ซึ่งมันจะขยายตัวจนทำลายเนื้อร้ายได้ไปทั้งหมด ฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าโครงการพัฒนาไวรัสต้านโรคมะเร็งดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นยินดี แต่หลายภาคส่วนก็ออกมาเตือนว่ามันคงจะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน กว่าที่ไวรัสตัวนี้จะสามารถนำไปใช้ได้ในโรงพยาบาล
ศาสตราจารย์ซานเจีย อารันดา ผู้อำนวยการสภามะเร็งออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า การนำไวรัสตัวนี้มาทดลองใช้ในมนุษย์นั้น มันจะต้องดูด้วยว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะต่อต้านไวรัสตัวนี้ และทำลายมันทิ้งก่อนที่จะเดินทางไปถึงเซลล์มะเร็งหรือไม่ รวมทั้งต้องดูด้วยว่ามันจะสร้างผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายหรือไม่
"เซลล์มะเร็งเป็นสิ่งที่ฉลาดมาก มันคือที่สุดของวิวัฒนาการซึ่งสามารถกลายพันธุ์ตัวเองเพื่อให้อยู่รอดได้เสมอ และก็ดูเหมือนว่ามันจะสามารถพัฒนาตัวเองจนสามารถต่อต้านไวรัสดังกล่าวได้ ดังเช่นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ เพราะมันก็เริ่มต่อต้านการรักษาด้วยเคมีบำบัด และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดด้วยเช่นกัน" ผู้อำนวยการสภามะเร็งออสเตรเลีย กล่าว