ไข้หวัดหมู H1N1 คือโรคอะไรกันแน่ ติดต่อมาจากหมูหรือไม่ หรือแค่ไข้หวัดใหญ่ทั่วไป มารู้จักโรคติดต่อทางเดินหายใจที่ในแต่ละปีมีผู้ป่วยทั่วโลกจำนวนไม่น้อย
นอกจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ที่ระบาดหลายพื้นที่ในช่วงต้นปี 2020 แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันก็ยังมีข่าวการระบาดของ "ไข้หวัดหมู" ที่ไต้หวัน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 56 คน ในช่วงเดือนตุลาคม 2019 - มกราคม 2020 ทำให้หลายคนที่ไม่คุ้นเคยกับโรคชนิดนี้ เกิดความสงสัยว่า "โรคไข้หวัดหมู" คืออะไร แล้วแบบนี้ยังสามารถกินหมูได้หรือไม่ หรือต้องป้องกันตัวเองอย่างไร วันนี้เราอาสามาบอกต่อกันค่ะ
"โรคไข้หวัดหมู" หรือ Swine influenza เป็นไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ ตามปกติระบาดในหมูเท่านั้น สามารถพบได้ทั้งในหมูเลี้ยง และหมูป่า ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ ที่พบบ่อย ๆ คือ สายพันธุ์ A H1N1, H1N2 และ H3N2 แต่บางครั้งหมูอาจมีเชื้อไข้หวัดอยู่ในตัวมากกว่า 1 ชนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดการผสมกันของยีนได้ จึงเกิดเป็นไวรัสชนิดใหม่ที่สามารถข้ามสายพันธุ์มาติดต่อยังมนุษย์ได้ เริ่มต้นจากการสัมผัสกับหมูที่เป็นโรค ส่วนใหญ่มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว แต่สามารถพบเชื้อได้ตลอดทั้งปี
ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ดั้งเดิม พบมาตั้งแต่ ค.ศ. 1918-1919 ในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก จนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน ส่วนใหญ่อายุ 20-40 ปี และตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จากนั้นโรคไข้หวัดหมูได้แพร่ระบาดในช่วงต่าง ๆ ก่อให้เกิดโรคในคนอยู่มากกว่า 50 คน โดยผู้ป่วย 61% มีประวัติสัมผัสหมูและมีอายุเฉลี่ย 24 ปี หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1974 ไข้หวัดหมูได้แพร่ระบาดในค่ายทหาร (Fort Dix) ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ มีผู้ป่วย 13 คน เสียชีวิต 1 คน โดยที่อีก 230 คน ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการแต่น้อยมาก ทั้งหมดนี้ไม่มีประวัติสัมผัสหมู ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีการพัฒนาจนมีการติดต่อจากคนสู่คน
ต่อมาใน ค.ศ. 1988 หญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งเสียชีวิตในรัฐวิสคอนซิน และมีประวัติสัมผัสหมู จึงเกิดการสงสัยว่าไข้หวัดหมูอาจไม่ใช่พันธุ์หมูล้วน (classic H1N1) จนกระทั่งปี ค.ศ. 1998 จึงพิสูจน์พบว่า หมูที่เลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกา มีไวรัสไข้หวัดหมูกลายพันธุ์ โดยมีพันธุกรรมผสมระหว่างหมู คน และนก เกิดสายพันธุ์ผสม (Triple assortant virus) H3N2, H1N2, และ H1N1 (วารสารโรคติดเชื้อ JID 2008) และสายพันธุ์ผสมนี้ยังพบได้ในเอเชีย และแคนาดา
จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2008 ได้พบไข้หวัดหมูผสมสายพันธุ์ใหม่ (H1N1) ที่ประเทศสเปน จากหญิงอายุ 50 ปี ที่ทำงานในฟาร์มหมู โดยมีอาการไข้ ไอ เหนื่อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คันคอ คันตา และหนาวสั่น แต่อาการเหล่านี้หายไปได้เอง โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ จึงไม่มีการคาดการณ์ว่าไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่จะเป็นอันตรายมากนัก ก่อนจะแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในปี 2009 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ไข้หวัด 2009" ซึ่งเริ่มจากประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแพร่กระจายไปอีกหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยเป็นการระบาดจากคนสู่คน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ไข้หวัดหมู มักเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ H1N1 มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไปแล้ว ซึ่งโรคดังกล่าวจะติดต่อจากคนสู่คน ไม่ได้มาจากหมูอีกต่อไป องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงเปลี่ยนชื่อไข้หวัดหมู เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1
ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีคนทั่วโลกป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ H1N1 จำนวนมาก อย่างเช่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กรมควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ไตรมาสที่แล้ว ทางสหรัฐฯ ก็มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ H1N1 มากถึง 19 ล้านคน โดยเป็นผู้ป่วยอาการหนักถึง 1.8 แสนคน ขณะที่มีผู้เสียชีวิตแล้ว 10,000 คน
- รู้จัก ไข้หวัดใหญ่ H1N1 และวิธีป้องกันก่อนจะป่วย !
โรคไข้หวัดหมู ติดต่อกันอย่างไร
เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ คือติดต่อกันได้ผ่านเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นด้วยการไอ หรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หากเราสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ แล้วไปแคะจมูก ขยี้ตา เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมู
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนจะปรากฏอาการคือ
- มีไข้สูงราว ๆ 38 องศาเซลเซียส
- หนาวสั่น- ไอ เจ็บคอ
- เป็นหวัด มีน้ำมูก
- เบื่ออาหาร
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- อ่อนเพลีย
- ท้องเสีย (บางราย)
- คลื่นไส้ อาเจียน (บางราย)
อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มที่เสี่ยงเป็นไข้หวัดหมู หรือเป็นแล้วอาจมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ รวมทั้งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะปอดบวม หรือมีอาการทางระบบประสาท เช่น ทรงตัวผิดปกติ เดินเอนไปเอนมาเหมือนคนเมาสุรา
ไข้หวัดหมู รักษาอย่างไร
ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถรับประทานยารักษาได้เอง ด้วยการรักษาตามอาการ คือ หากเป็นไข้ให้กินยาลดไข้ หรือกินยาแก้ไอเมื่อมีอาการไอ ร่วมกับการดื่มน้ำมาก ๆ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
แต่หากมีอาการหนักควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะต้านไวรัส เช่น "โอเซลทามิเวียร์" (ชื่อทางการค้าว่า ทามิฟลู) และ "ซานามิเวียร์" (ชื่อทางการค้าว่า รีเลนซา) เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสไม่ให้แตกตัว
เรายังรับประทานเนื้อหมูได้ไหม ?
ต้องย้ำอีกครั้งว่า โรคนี้ในปัจจุบันไม่ได้เกี่ยวข้องกับหมูโดยตรงแล้ว เพราะเป็นไข้หวัดใหญ่ที่ติดต่อจากคนสู่คน ดังนั้นจึงสามารถรับประทานหมูได้ แต่เพื่อความปลอดภัยจากโรคอื่น ๆ เช่น พยาธิ โรคหูดับ ให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกเสียก่อน คือ ผ่านความร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือต้มในน้ำเดือด ก็จะสามารถทำลายเชื้อให้หมดไปได้
วิธีป้องกันไข้หวัดหมู
นอกจากนี้ ควรล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย แต่หากเรามีอาการป่วย ไอ หรือจาม ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปาก-จมูก เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันไข้หวัดหมูได้ไหม ?
ดังนั้น หากใครมีความเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ หรือจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ก็ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, สำนักเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย, Radio Taiwan International, cdc.gov