โรคกลัวการผูกมัด คุยกันมาตั้งนานแต่ยังไม่มีสถานะ เข้าคอนเซ็ปต์ไม่ต้องรู้ว่าเราคบกันแบบไหน อาการแบบนี้ลองมาเช็กให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคกลัวการผูกมัด หรือ Commitment phobia อยู่ !
โรคกลัวการผูกมัด หรือ Commitment phobia เป็นภาวะที่กลัวการตกลงใจ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ต้องผูกมัดใจกับใครเท่านั้น แต่ยังกลัวไปถึงการต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิตอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะไม่ได้มีแค่ความรู้สึกกลัวในการผูกมัดตัวเองกับใคร แต่ยังจะรู้สึกวิตกกังวล ไม่สบายใจ อึดอัดใจจนไม่สามารถทำในสิ่งนั้น ๆ ต่อไปได้
โรคกลัวการผูกมัด เกิดจากอะไรได้บ้าง
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกลัวการผูกมัดมีอยู่หลากหลายปัจจัย โดยสามารถสรุปคร่าว ๆ ได้ ดังนี้
- กลัวหรือเคยมีประสบการณ์ถูกตัดความสัมพันธ์โดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า
- เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อ แม่ แยกทางกัน
- พบเห็นความสัมพันธ์ในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก
- มีความรู้สึกกลัวว่าสิ่งที่ตัดสินใจเลือกจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
- กลัวความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์
- เคยถูกทำให้เจ็บโดยคนใกล้ชิดมาก่อน ส่งผลให้เชื่อใจใครได้ยาก
- เคยตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่มาแล้ว เลยไม่กล้าตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ในชีวิตอีก
โรคกลัวการผูกมัด อาการเป็นอย่างไร
หากคุณมีพฤติกรรม ที่เป็นแบบนี้บ่อย ๆ นั่นอาจแปลได้ว่าคุณกำลังเป็นโรคกลัวการผูกมัดอยู่ก็ได้
1. ไม่เคยตกลงคบกับใคร
2. มักจะเป็นฝ่ายจบความสัมพันธ์ หรือหนีหายไปจากสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจเลือก
3. มักจะไม่เคยนัดวันเดต นัดวันไปเที่ยว ล่วงหน้าเลย
4. รักษาระยะห่างอยู่ตลอด และไม่เคยชัดเจนในความสัมพันธ์ บางทีดูเหมือนมีใจ บางทีก็ดูเหมือนไม่สนใจ
5. ไม่เผยความในใจให้คนที่คุยอยู่ด้วยรู้ว่าเรารู้สึกไปมาก-น้อยขนาดไหน
6. "บางที" "อาจจะ" "ไม่แน่" จะมีคำพูดเหล่านี้ติดปากอยู่เสมอ
7. มีพฤติกรรมเจ้าชู้ สามารถเปลี่ยนคนคุย เปลี่ยนคู่นอน หรือมีพร้อม ๆ กันหลายคนได้
8. พยายามไม่ผูกมัดตัวเองด้วยคำว่ารัก หรือการกระทำว่ารัก ใส่ใจ ห่วงใย ใด ๆ เลย
9. มีเพื่อนสนิทน้อยมาก หรือไม่มีเลย
10. เป็นคนคาดเดาได้ยากเสมอ เอาแน่เอานอนด้วยไม่เคยได้
11. แม้จะตกลงคบใครจริงจัง แต่หลังจากนั้นไม่เกินสัปดาห์จะทำความสัมพันธ์พังทุกครั้งไป
หลักในการรักษาโรคโฟเบียในลักษณะนี้จะใช้วิธีปรับพฤติกรรม เพื่อปรับความคิดของผู้ป่วยใหม่ ขจัดความกลัว ความกังวลที่เคยมีอยู่ให้หายไป และให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดตามหลักจิตวิทยา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดกับเรื่องในอดีตลดลง ช่วยเพิ่มความเชื่อใจในคนอื่นมากขึ้น และลดความวิตกกังวลกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น
โรคกลัวการผูกมัดยังจัดเป็นโฟเบียที่อาการไม่รุนแรง ไม่ส่งผลเสียทางกาย แต่อาจทำให้ไม่มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น และเสียคนดี ๆ ไปโดยใช่เหตุ ดังนั้น หากพบว่าตัวเองไม่กล้ามีแฟนเพราะมีความกลัวการผูกมัดแบบนี้ ลองไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาทางบำบัด แล้วมาสร้างรักดี ๆ ต่อไปดีกว่าเนอะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
psychologytoday, psychcentra