พอถึงช่วงที่ประจำเดือนจะมา สิวเจ้ากรรมก็มักจะโผล่มาเตือนก่อนเสมอ และบางทีสิวก็ยังขึ้นไม่ยอมหายแม้ประจำเดือนจะหมดไปแล้วก็ตาม ถ้าสาว ๆ เจอปัญหาสิวกวนใจแบบนี้ บางทีอาจจะเป็น "สิวฮอร์โมน" ก็ได้นะ อ๊ะ...แล้วสิวฮอร์โมน คืออะไรกันล่ะ

ลองสังเกตกันดูค่ะ ถ้าเห็นสิวอักเสบ เป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่ มักขึ้นรอบริมฝีปาก คาง แก้ม โดยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือน นี่ล่ะคือ "สิวฮอร์โมน" ซึ่งสิวจำพวกนี้ต้องจัดการที่ต้นตอของสาเหตุสิว ก็คือปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ถึงจะปราบสิวให้หายได้

นั่นเป็นเพราะสิวประเภทนี้เกิดจากภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลกันในร่างกาย อย่างถ้าเราเครียด มีประจำเดือนผิดปกติ อารมณ์แปรปรวนอยู่บ่อย ๆ ก็อาจเป็นผลจากการที่ฮอร์โมนในร่างกายสวิงด้วยนั่นเอง หรือสาวคนไหนมีผิวมัน รูขุมขนกว้าง แถมขนยังดก ก็เป็นไปได้ว่าในร่างกายอาจมีฮอร์โมนแอนโดรเจน หรือฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ซึ่งปกติแล้วฮอร์โมนเพศชายจะไปกระตุ้นการผลิตไขมันให้มากขึ้น และมีส่วนทำให้รูขุมขนอุดตันได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณผิวหน้า ส่งผลให้สาว ๆ กลุ่มนี้ค่อนข้างมีปัญหาสิว ผิวมัน และปัญหาผิวพรรณมากกว่าคนอื่น ๆ
สิวฮอร์โมน รักษาอย่างไรให้ได้ผลดี ?
สำหรับสาว ๆ ที่มีสิวฮอร์โมนขึ้นบ่อย ๆ ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะจริง ๆ แล้วก็มีวิธีรักษาสิวฮอร์โมนง่ายๆ ด้วย 5 วิธี ต่อไปนี้
1. ดูแลผิวหน้าให้ถูกวิธี

เมื่อเป็นสิว เรามักจะได้ยินว่าอย่าเอามือไปจับ ไปลูบ หรือไปแกะสิวเด็ดขาด เพราะไม่อย่างนั้นเชื้อโรคจากมือเราอาจไปทำให้เชื้อสิวลุกลามใหญ่โตได้ จากสิวที่เป็นตุ่มนูน ๆ ก็จะกลายเป็นสิวอักเสบ ยิ่งถ้าแกะสิว รอยแผลเป็นก็จะตามมา รักษายากไปอีก และแนะนำว่าในช่วงนี้พยายามแต่งหน้าน้อย ๆ ไว้ก่อน เพื่อป้องกันการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สิวฮอร์โมนไม่ยอมหายสักที
นอกจากนี้ควรรักษาความสะอาดของใบหน้าให้ดี โดยล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และข้อสำคัญคือ อย่าเพิ่งขัดผิวหน้าด้วยการสครับหรืออะไรก็ตามแต่ เพราะการขัดถูผิวอาจไปโดนสิวให้อาการแย่ลง
2. เลือกรับประทานอาหารดี ๆ

อาหารก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวได้เหมือนกัน โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลสูงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชานมไข่มุก บิงซู เค้ก ขนมปัง อาหารมัน ๆ อาหารทอด ที่จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำมัน ต้นตอของการเกิดสิวมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังทำลายเซลล์ผิว เวลาเป็นสิวก็จะเกิดริ้วรอย รอยแผลเป็นได้ง่าย ดังนั้นหากไม่อยากให้สิวฮอร์โมนมากล้ำกราย หรือถ้าต้องการรักษาสิวให้หายเร็วขึ้น ก็ควรงดการรับประทานอาหารก่อสิวไว้ก่อน
ส่วนอาหารที่ควรรับประทานให้มาก ๆ ในช่วงเป็นสิวก็คือ ผักสด ผลไม้ น้ำเปล่า ที่จะช่วยขับสิ่งตกค้างในร่างกายออกมา เป็นการทำความสะอาดร่างกายภายใน ช่วยให้ผิวพรรณชุ่มชื้นเปล่งปลั่งขึ้น รวมถึงอาหารที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือฮอร์โมนเพศหญิง เช่น น้ำมะพร้าว ลูกพรุน เมล็ดแฟลกซ์ งา ถั่วชนิดต่าง ๆ เต้าหู้ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายได้อีกทางหนึ่ง
3. นอนให้พอ

การนอนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพ และยังป้องกันสิวมาบุกด้วยนะคะสาว ๆ เพราะถ้าเรานอนหลับได้เต็มอิ่ม ระดับฮอร์โมนก็จะไม่แกว่ง แถมยังช่วยลดความเครียดที่จะไปกระตุ้นต่อมไขมัน ไม่เสี่ยงต่อการเป็นสิวฮอร์โมนให้ปวดใจ หรือหากเป็นแล้วก็ช่วยให้สิวยุบไวขึ้น อีกทั้งการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอยังกระตุ้นโกรทฮอร์โมน ทำให้ผิวพรรณเราดูเปล่งปลั่ง อ่อนเยาว์ ไม่แก่ง่าย ๆ
4. ทายารักษาสิว

หากสิวฮอร์โมนที่ขึ้นบนใบหน้าทำให้สาว ๆ สูญเสียความมั่นใจ ก็สามารถใช้ยาที่ช่วยลดการอักเสบของสิวเป็นตัวช่วยให้สิวหายเร็วขึ้นได้ค่ะ อย่างเช่น ยาทาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิค ที่ช่วยรักษาสิวอุดตันต่าง ๆ หรือยาทาที่มีตัวยาเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อสิว หรือกลุ่มยาปฏิชีวนะอย่างคลินดามัยซิน อีรีโทรมัยซิน เป็นต้น (แต่ก่อนใช้ยา อย่าลืมปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ เพื่อการใช้ยาอย่างเหมาะสม)
5. รับประทานยาคุมกำเนิด

การรักษาสิวฮอร์โมนด้วยยาคุมกำเนิดถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายได้อย่างตรงจุด โดยแนะนำให้เลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอทธินิลเอสตราไดออล และฮอร์โมนไซโปรเตอโรน อะซิเตท ซึ่งไม่ได้ช่วยแค่เรื่องคุมกำเนิดเท่านั้น แต่ยังสามารถยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเพศชายที่เป็นต้นเหตุสิว ทำให้ฮอร์โมนเพศชายในร่างกายลดลง เป็นการแก้ปัญหาสิวฮอร์โมนได้จากต้นตอเลย
และนอกจากยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอทธินิลเอสตราไดออล และฮอร์โมนไซโปรเตอโรน อะซิเตท จะช่วยคุมกำเนิดพร้อมกับรักษาสิวฮอร์โมนแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาหน้ามัน รูขุมขนกว้าง ลดอาการขนดกของผู้หญิงไปในตัว ทำให้ผิวพรรณของคุณสาว ๆ เปล่งปลั่ง ดูมีน้ำมีนวลขึ้นอีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิวก็ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานะคะ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยาประเภทไหนอยู่ เพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรพิจารณาถึงความปลอดภัยในการใช้ยาคุมกำเนิด อีกทั้งยังจะได้รับคำแนะนำถึงวิธีใช้ยาคุมกำเนิดที่ถูกต้องด้วย