x close

เช็กอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ป่วยเป็นโรคอะไรได้บ้าง

          อยู่ดี ๆ จมูกก็ไม่ได้กลิ่น ทั้งกลิ่นหอมกลิ่นเหม็นใด ๆ นี่ใช่อาการป่วยที่ร่างกายต้องการจะสื่อไหม เช็กอาการนี้บอกโรคอะไรได้บ้าง

จมูกไม่ได้กลิ่น

          ถ้าร่างกายรู้สึกเหนื่อย ๆ เพลีย ๆ ส่อแววว่าจะไม่สบาย เราอาจจะพอเดาได้ว่า เกิดจากการพักผ่อนน้อย หรือโหมงานหนักเกินไป แต่เมื่อไรที่มีอาการผิดปกติที่สังเกตได้ชัดกว่านั้น เช่น จมูกไม่ได้กลิ่นใด ๆ สักอย่าง คงเริ่มจะตระหนกกันแล้วว่าป่วยเป็นอะไรอยู่หรือเปล่า งั้นมาเช็กกันค่ะว่า จมูกไม่ได้กลิ่น สัญญาณนี้ของร่างกาย...บอกโรคอะไรได้บ้าง

จมูกไม่ได้กลิ่น เกิดจากอะไรได้บ้าง

          ปัญหาการรับกลิ่นที่บกพร่อง ส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุ 3 ประการ ดังนี้

     1. ติดเชื้อไวรัส

จมูกไม่ได้กลิ่น

          ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและระบบประสาท เช่น ไวรัสหวัด ทำให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีอาการของหวัดทั่ว ๆ ไป แต่หากเป็นหวัดรุนแรงหรือเป็นนาน อาจมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่นร่วมด้วย

          ทั้งนี้การที่จมูกไม่ได้กลิ่นจากการติดเชื้อไวรัส จะเป็นหนักแค่ไหน นานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพยาธิสภาพที่เส้นประสาทรับกลิ่น หากไวรัสทำให้เส้นประสาทรับกลิ่นแค่บวม หรือทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่ไม่ได้ขาดออกจากกันหรือได้รับความเสียหายมากเท่าไร อาการนี้อาจจะเป็นเพียงชั่วคราว เมื่อร่างกายกำราบเชื้อไวรัสได้ อาการป่วยอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ หายเป็นปกติไปด้วย โดยอาการจมูกไม่ได้กลิ่นอาจจะดีขึ้นเลย หรือหายภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน

          แต่หากไวรัสทำลายประสาทรับกลิ่นจนเส้นประสาทนี้ขาดออกจากกัน หรือเส้นประสาทรับกลิ่นได้รับความเสียหายมาก ผู้ป่วยไม่ได้กลิ่นเลย หรือได้กลิ่นบ้างแต่น้อยมาก โอกาสจะกลับมาได้กลิ่นเหมือนปกติก็อาจจะน้อย หรือจะมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่นเป็นเวลานาน ประมาณ 6 เดือน - 1 ปี 6 เดือน หลังจากมีอาการ แต่หากมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่นนานเกินกว่า 1 ปี 6 เดือน โอกาสจะกลับมาเป็นปกติก็อาจจะลดน้อยลง แต่ทั้งนี้ก็อย่างที่บอกว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคลด้วยนะคะ

     2. โรคทางช่องโพรงจมูกและไซนัส

จมูกไม่ได้กลิ่น

          อาการจมูกไม่ได้กลิ่นอาจเกิดจากภาวะโพรงจมุกอุดตัน เยื่อบุโพรงจมูกบวมหรืออักเสบเรื้อรัง ภาวะไซนัสอักเสบ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือริดสีดวงจมูก โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการอื่น ๆ ทางจมูกร่วมด้วย เช่น หายใจไม่สะดวก คัดจมูก น้ำมูกไหล หรืออาการอื่น  ๆ ของโรคนั้น ๆ ที่เป็นอยู่

          อย่างไรก็ตาม อาการจมูกไม่ได้กลิ่นในกลุ่มนี้จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป คือ บางครั้งก็ได้กลิ่นปกติ บางครั้งก็ไม่ได้กลิ่นเลย ขึ้นอยู่กับอาการคัดจมูกที่เป็นอยู่ด้วย ทั้งนี้อาการจมูกไม่ได้กลิ่นที่เกิดจากโรคทางช่องโพรงจมูกและไซนัสมักจะรักษาได้ โดยรักษาอาการบวมและอุดตันของช่องโพรงจมูก ที่ทำให้กลิ่นไม่สามารถขึ้นไปกระตุ้นปลายประสาทรับกลิ่น ซึ่งวิธีรักษาก็มีทั้งการใช้ยาและการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่

     3. อุบัติเหตุทางศีรษะ

          การได้รับอุบัติเหตุทางศีรษะ ที่ทำให้เกิดการกระชากหรือทำให้เส้นประสาทรับกลิ่นฉีกขาด รวมทั้งอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการแตกหักของกระดูกบริเวณรอบ ๆ ประสาทรับกลิ่น ก็อาจทำให้เส้นประสาทรับกลิ่นได้รับความเสียหายเช่นกัน ส่งผลให้มีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น หรือมีการรับรู้กลิ่นลดลง ซึ่งอาการจมูกไม่ได้กลิ่นจะรุนแรงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเส้นประสาทรับกลิ่นได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใดนั่นเอง

          นอกจากนี้การที่จมูกไม่ได้กลิ่น อาจมีสาเหตุจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น สูดดมสารพิษอย่างรุนแรง ทำให้เส้นประสาทการรับกลิ่นเสื่อม หรือโรคทางระบบประสาทและพันธุกรรมบางอย่าง โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ หรือความเสื่อมของประสาทรับกลิ่นตามอายุขัย ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการจมูกไม่ได้กลิ่นเช่นกัน

จมูกไม่ได้กลิ่น

จมูกไม่ได้กลิ่น สัญญาณโรคโควิด 19 ?

          ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย COVID-19 สูญเสียการได้กลิ่นหรือรสชาติชั่วคราวถึง 30% เพราะโรคนี้ก็เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ด้วยเหตุนี้ ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย จึงแนะนำให้ใช้อาการนี้เป็นหนึ่งในอาการที่ใช้คัดกรองคนติดเชื้อ เพื่อส่งตรวจ Covid-19 ด้วย

          ดังนั้น ใครที่เดินทางไปสถานที่มีการแพร่ระบาด หรือสัมผัสบุคคลที่ติดเชื้อ หรือเดินทางกลับจากต่างประเทศ แล้วมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก อาจต้องสงสัยว่าป่วย COVID-19 ควรไปตรวจหาเชื้อทันทีนะคะ


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลวันที่ 21 ธันวาคม 2563


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ป่วยเป็นโรคอะไรได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 21 ธันวาคม 2563 เวลา 09:36:17 48,403 อ่าน
TOP