x close

วิธีเช็กขาโก่งง่าย ๆ จะรักษาแบบไหนให้ขากลับมาตรงสวย

อยากรักษาขาโก่งที่เป็นมานาน จะได้ขาเรียวเหมือนคนอื่นเขา  เอาจริง ๆ ปัญหานี้ก็แก้ได้หลายวิธีนะ

          ถ้ารู้สึกว่าขาตัวเองไม่ตรง ไม่เรียวเหมือนใคร ๆ เหมือนจะมีอาการขาโก่งอยู่หรือเปล่าไม่แน่ใจ ลองมาเช็กดูว่าขาแบบไหนจะเรียกว่าโก่ง และหากรู้ตัวเองว่าขาโก่งจริง ๆ เข้าแล้วจะมีวิธีรักษาขาโก่งยังไงได้บ้าง ลองมาเช็กข้อมูลขาโก่งให้ครบทุกประเด็นไปเลย
ขาโก่ง เกิดจากอะไร
ขาโก่ง

          ขาโก่ง (Bowed legs) เป็นภาวะผิดปกติของรูปขา ที่ทางการแพทย์เรียกว่า Genu Varum เป็นสภาพเข่าที่โค้งออกจากเส้นแนวกระดูกต้นขา และขางอชี้ออกด้านนอก โดยสาเหตุของการเกิดขาโก่งก็มีอยู่หลายปัจจัย ตามนี้เลย

          1. พันธุกรรม

          2. ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด

          3. โรคความผิดปกติของกระดูก

          4. การนั่งหรือเดินในท่าที่ไม่เหมาะสมจนเป็นนิสัย เช่น ชอบนั่งแบะขา หรือติดนิสัยเดินเอาปลายเท้าชี้ออกด้านนอก หรือติดนิสัยยืนขาโก่ง เป็นต้น

          5. โรคกระดูกอ่อน จากภาวะขาดสารอาหารในการสร้างกระดูก เช่น แคลเซียม ฟอสเฟต วิตามินดี ทำให้กระดูกอ่อนบางมีการโค้งงอของกระดูกได้

          6. การบาดเจ็บของกระดูกอ่อนด้านในของกระดูกต้นขาด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ทำให้การปิดของกระดูกเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้แนวกระดูกผิดไป

          7. การเสื่อมของกระดูกและข้อของร่างกาย โดยเฉพาะตำแหน่งข้อเข่า จนทำให้เกิดการผิดรูปของข้อเข่า กลายเป็นขาโก่งได้
 

วิธีเช็กขาโก่ง แบบไหนที่ใช่ ไม่ปกติ
          เราสามารถเช็กลักษณะขาโก่งด้วยตัวเองได้ ดังนี้
ขาโก่ง

          1. ยืนตรง เท้าชิด ให้ตาตุ่มทั้งสองข้างแตะกัน อยู่หน้ากระจกเต็มตัว หรือถ้าไม่มีกระจก ให้ถ่ายรูปท่ายืนตรงของตัวเองไว้

          2. หลังจากได้รูปยืนตรงมาแล้ว ให้ลองลากเส้นตรงจากด้านในหัวเข่ายาวลงมาถึงตาตุ่ม

          3. หากสามารถลากเส้นตรงได้โดยไม่สัมผัสขาด้านใดด้านหนึ่งเลย จะถือว่าขาตรงปกติ ไม่โก่ง แต่หากเส้นตรงที่ลาก สัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของขา จะถือว่ามีภาวะขาโก่ง
 

          หรือสามารถเช็กง่าย ๆ จากสายตาของตัวเองก็ได้ว่า ถ้ายืนตรง ตาตุ่มชิดกัน แล้วมีช่องว่างระหว่างขาหรือหัวเข่าของตัวเองหรือไม่ หากมีก็แสดงว่าขาโก่ง
 

          แต่สำหรับในเด็ก จะสังเกตได้ว่ามีภาวะขาโก่งก็เมื่ออายุ 2-7 ขวบ หากรูปทรงขายังโก่ง คือเข่าโค้งออกซึ่งเส้นแนวกระดูกต้นขา และขางอชี้ออกด้านนอกอย่างเห็นได้ชัด ก็ถือว่ามีภาวะขาโก่งตั้งแต่เด็กแล้ว
 

ขาโก่ง ส่งผลกับสุขภาพมากไหม

          โดยส่วนใหญ่ขาโก่งไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เพียงแต่อาจส่งผลเสียด้านบุคลิกภาพเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การมีกระดูกผิดรูปทรงอย่างที่ควรจะเป็น ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วย ดังนี้

          * สะโพกแบะออก จากการที่กล้ามเนื้อก้นหดตัว และกล้ามเนื้อหลังขาอ่อนแอ

          * กระดูกหน้าแข้งหมุนแบะออก จากการที่กล้ามเนื้อหน้าแข้งหดเกร็ง กล้ามเนื้อน่องอ่อนแอ

          * เอ็นของข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้าหย่อนยาน  

          * ข้อเข่าอักเสบเรื้อรัง จากการที่เอ็นไขว้และแผ่นกระดูกอ่อนของข้อบาดเจ็บซ้ำ ๆ อันเนื่องมาจากการออกกำลังกายอย่างการวิ่ง หรือปั่นจักรยาน

          * ข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากการรับน้ำหนักตัวของร่างกายคนขาโก่งจะไม่กระจายออก แต่จะกระจุกตัวอยู่ด้านในของเข่าทั้งสองข้าง และหากได้รับแรงกระเทือนที่ข้อเข่าซ้ำ ๆ บวกกับภาวะกล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแอลง ก็จะส่งผลให้กระดูกอ่อนที่ข้อเข่ารับแรงกระเทือนมากขึ้นจนเกิดการสึกหรอ และเมื่อสึกหรอมาก ๆ เข้า ข้อเข่าก็จะเอียง ทำให้ขาโก่งเพิ่มขึ้น หรือลามมาเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมในที่สุด
 

          ทั้งนี้ การพิจารณาว่าภาวะขาโก่งที่เราเป็นอยู่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากแค่ไหน ก็ควรไปตรวจร่างกายกับแพทย์ดูก่อน เพราะหากขาโก่งไม่ได้ส่งผลในเรื่องสุขภาพ ไม่มีอาการเจ็บป่วย หรือมีภาวะของโรคจากภาวะขาโก่ง ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เว้นแต่ว่าอยากปรับบุคลิกภาพให้ดีขึ้น ก็เข้ารับการรักษาได้
 

ขาโก่ง

ขาโก่ง รักษาได้หลายวิธี
เราสามารถรักษาขาโก่งได้หลายแนวทาง ดังนี้

วิธีแก้ขาโก่งแบบไม่ผ่าตัด

ปรับท่าร่าง
          หากมีนิสัยชอบนั่งแบะขา ยืนโก่งขา หรือยืนเท้าชี้ออกด้านนอก ก็ควรปรับท่าของตัวเอง โดยเวลานั่งควรบังคับให้ขา เข่า และปลายเท้า ชี้ไปด้านหน้า และพยายามบิดขาเข้าด้านใน ให้สะบักหัวเข่ามาอยู่ในเส้นตรงระหว่างสะโพกและข้อเท้า รวมทั้งพยายามอย่าปล่อยตัวยืนโก่งขาบ่อย ๆ ด้วย
ฝึกกล้ามเนื้อ

           การฝึกกล้ามเนื้อก็มีหลายวิธี โดย นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แนะนำว่า การออกกำลังกายที่ดีที่สุดในการแก้ขาโก่งคือโยคะและเต้นรำ รวมไปถึงการออกกำลังกายแบบเจาะจงฝึกกล้ามเนื้อบางมัด ซึ่งควรฝึกติดต่อกันทุกวัน ดังนี้
 

          - โยคะแก้ขาโก่ง

 

          - ออกกำลังกายแบบเจาะจงฝึกกล้ามเนื้อบางมัด เช่น

                - ท่าเอาเข่าหนีบเสื่อแรง ๆ นิ่ง ๆ ขณะก้มเอามือแตะเท้า (foam roller toe touch)

               - ท่านั่งยองแบบหัวแม่เท้าชิดกัน ส้นเท้าห่างกัน (toe-in squat) คอยเอามือจับดูให้แน่ใจว่ากล้ามเนื้อหลังขาถูกใช้งานขณะทำ
                - ท่านอนตะแคงงอเข่าเตะอากาศ (internal hip rotation)
                - ท่าเขย่งเท้า (calf raise) โดยท่านี้เป็นท่าสำคัญที่สุดในการรักษาขาโก่ง ควรทำให้ได้ทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง

               - ยืดเหยียดกล้ามเนื้อก้น (gluteus stretches)

                - นั่งเหยียดเท้าแล้วกระดกเท้าสลับกับเหยียดเท้า

วิธีรักษาขาโก่งด้วยการผ่าตัด

          ในกรณีที่ภาวะขาโก่งส่งผลต่อสุขภาพค่อนข้างรุนแรง อย่างการทำให้ข้อเข่าเสื่อม หรือทำให้ปวดมาก ก็สามารถทำการรักษาขาโก่งด้วยการผ่าตัด ซึ่งก็มีหลายแนวทาง ดังนี้

          1. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งเหมาะกับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือคนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ข้อเข่าหนัก ๆ

          2. การผ่าตัดดัดเข่าให้ตรงขึ้น (High Tibia Osteotomy) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ทั่วโลก เหมาะสำหรับคนที่อายุยังน้อย ที่จำเป็นต้องใช้ข้อเข่าในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการดำเนินชีวิตประจำวัน ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา

          3. การผ่าตัดด้วย llizarov ที่ใช้หลักการเดียวกับการผ่าตัดเพิ่มความสูง
 

ขาโก่ง ป้องกันได้ไหม
ขาโก่ง

ในเคสที่ไม่ได้ขาโก่งแต่กำเนิด ก็สามารถป้องกันการเกิดขาโก่งได้ ดังนี้
 

          - กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อป้องกันภาวะขาดวิตามินดี แคลเซียม หรือสารอาหารบำรุงกระดูก โดยเฉพาะในวัยเด็ก

          - ควรตรวจสุขภาพเด็กอายุ 2-7 ขวบ อย่างสม่ำเสมอ (ทุก ๆ 6 เดือน) หากพบความผิดปกติจะได้แก้ไขทัน

          - ควรนั่ง เดิน ยืน ให้ถูกท่า ปรับบุคลิกภาพให้ดี

          - ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุกับร่างกาย โดยเฉพาะขา ข้อเข่า ข้อต่อต่าง ๆ

          - รักษาสมดุลน้ำหนักตัวอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ข้อเข่า ข้อต่อต้องรับน้ำหนักมากจนเสี่ยงการสึกหรอหรือเสื่อมเร็วกว่าปกติ
 

          ลองเช็กกันดูว่าเรามีภาวะขาโก่งหรือเกไหม และหากใช่ขึ้นมาก็ไม่ต้องตกใจ เพราะมีวิธีแก้ขาโก่งหลายทางเลือก อย่างที่เรานำเสนอไปเลย
 

ขอบคุณข้อมูลจาก
Health me please
DrSant บทความสุขภาพ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
โรงพยาบาลเปาโล
ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลเวชธานี-Vejthani Hospital
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีเช็กขาโก่งง่าย ๆ จะรักษาแบบไหนให้ขากลับมาตรงสวย อัปเดตล่าสุด 22 มิถุนายน 2563 เวลา 15:32:35 160,669 อ่าน
TOP