เผย 5 แมงมุมพิษที่คนไทยควรรู้ หลังมีเคสหญิงกระบี่ถูกกัดจนหัวใจหยุดเต้น 4 ครั้ง

          เผย 5 แมงมุมพิษที่คนไทยควรรู้ หลังมีเคสหญิงกระบี่ หัวใจหยุดเต้น 4 ครั้ง ที่คาดว่าอาจถูกแมงมุมกัด ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ ยังไม่มีรายงานว่าพิษแมงมุมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตโดยตรงของคน



          จากกรณีที่ สำนักข่าวไทย รายงานว่า นางจันทร์ทิพย์ วงดาว อายุ 51 ปี ชาวกระบี่ ถูกสัตว์ไม่ทราบชนิดกัดนั้น เบื้องต้นคาดว่าถูกแมงมุมกัด ซึ่งนางจันทร์ทิพย์มีอาการวิงเวียนศีรษะ ระบบอวัยวะภายในล้มเหลว และหัวใจหยุดเต้นไปถึง 4 ครั้ง ขณะนี้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และยังไม่รู้สึกตัว ทางทีมแพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

          ล่าสุด วันที่ 16 กรกฎาคม 2563 เดลินิวส์ ได้นำเสนอบทความแมงมุมมีพิษ 5 ชนิด ที่ประชาชนควรรู้ โดยนายประสิทธิ์ วงษ์พรม ผอ.ศูนย์ธรรมชาติศึกษาไทย มีข้อมูล ดังนี้

ภาพข่าว แมงมุมพิษ

1. แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล

ลักษณะ

          - มีลายตรงหน้าท้องเป็นรูปนาฬิกาทรายสีแสด หรือสีแดง

          - หน้าท้องด้านบนจะมีสีน้ำตาลเป็นลักษณะครึ่งวงกลม

          - บริเวณท้องจะมีสัดส่วนใหญ่กว่าส่วนหัวชัดเจนมาก

          - มีลายนูนบนท้องเป็นริ้วสีน้ำตาลสลับสีขาวอ่อน ๆ ตรงริ้วเป็นจุดสามจุดเรียงกันสองแถว

          - มีถุงไข่เกาะรวมกันเป็นกลุ่ม มีลักษณะสีขาว คล้ายสำลีจุ่มน้ำ มีขนาด 1.5 เซนติเมตร

การพบเจอ

          - สามารถพบเจอได้ง่ายทุกจังหวัดทั่วประเทศ

          - บริเวณที่รก เช่น ใต้ถุนบ้าน โรงรถ ห้องน้ำเก่า โรงไม้เก่า ลังไม้ รองเท้าเก่า ๆ ใต้กะละมังเก่า ๆ หรือแม้กระทั่งเก้าอี้เก่าที่วางไว้นาน ๆ

สาเหตุการแพรร่ระบาด

          - คาดว่าจะเข้ามากับเรือสินค้าเป็นหลัก และมีรายงานด้วยว่า มีพ่อค้าบางคนนำมาขายให้คนที่ชอบเลี้ยงสัตว์แปลก โดยไม่รู้ว่าเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายแรง

การวางไข่

          - แมงมุม 1 ตัว สามารถวางไข่ได้มากถึง 20 ถุง ถุงละ 200-400 ฟอง

อาการหากถูกกัด

          - หลังถูกกัด 15-30 นาที จะปวดร้อนและรู้สึกชาหรือตึงที่บริเวณแผล

          - ลักษณะของแผลจะแดงเป็นจ้ำ ๆ ขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เพราะพิษของแมงมุมชนิดนี้จะเข้าไปทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดอาการชาขึ้นมา

ภาพข่าว แมงมุมพิษ

2. แมงมุมแม่ม่ายหลังแดง

ลักษณะ


          - มีพิษอยู่บริเวณหลัง ลักษณะคล้ายเพลิงสีแดง

          - ใต้ท้องจะมีสีส้ม

การพบเจอ

          - แมงมุมชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่บริเวณใต้โพรงดิน สามารถพบเจอได้ตามภาคตะวันออก ภาคกลาง เป็นต้น

อาการหากถูกกัด

          - จะมีอาการร้อนและชาที่แผล ซึ่งบริเวณแผลจะมีลักษณะแดงเป็นจ้ำ ๆ เล็กน้อย แต่ไม่มีแผลเหวอะหวะ

          - จากเคสที่เคยถูกแมงมุมแม่ม่ายหลังแดงกัด เมื่อเข้ารับการรักษาจะอยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 2-3 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการและระมัดระวังไม่ให้แผลติดเชื้อ

ภาพข่าว แมงมุมพิษ

3. แมงมุมพิษสีน้ำตาล

การพบเจอ

          - มักกระจายตัวอยู่ในถ้ำ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบตามหมู่บ้านแต่อย่างใด

ความร้ายแรงของพิษ

          - พิษของแมงมุมชนิดนี้จะทำลายระบบเลือด

อาการหลังถูกกัด

          - ร้อนและชาที่แผล โดยภายหลังจากที่โดนกัดไปแล้ว 2 วัน แผลจะเริ่มเกิดการอักเสบ

          - ลักษณะแผลเหวอะหวะคล้ายกับงูกะปะกัด ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้นาน 10-20 วัน แผลจะเน่าได้ และในบางรายที่แพ้พิษก็อาจมีไข้ร่วมด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือต้องดูแลรักษาแผลให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ภาพข่าว แมงมุมพิษ

4. แมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียน

การพบเจอ

          - ถูกพบค้นแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2559 ภายในถ้ำในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องจากพระราชดำริฯ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

          - ชอบหลบซ่อนตัวตามซอกแคบ ออกหากินตอนกลางคืน ถึงจะมีพิษแต่ไม่มีนิสัยดุร้าย

ลักษณะ

          - มีสีน้ำตาลเข้ม

          - ร่างกายแบนเรียว

          - ขนาดตัวอยู่ที่ประมาณ 7.0-7.5 มิลลิเมตร

อาการหลังถูกกัด

          - บริเวณที่ถูกกัดจะมีการอักเสบ

          - เนื้อเยื่อตาย โดยนำไปสู่การติดเชื้อจนถึงแก่ชีวิต

ภาพข่าว แมงมุมพิษ

5. แมงมุมแม่ม่ายสีดำ

อาการหลังถูกกัด

          ลักษณะอาการจะคล้ายกับถูกแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลกัด แต่จะมีอาการแทรกซ้อนอีกคือ พิษของมันจะเข้าไปทำลายกล้ามเนื้อจุดกระบังลม อาจทำให้เกิดอาการเกร็งจนกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานได้

          รายงานข่าวระบุว่า ตามรายงานยังไม่มีการวินิจฉัยอย่างจริงจังว่าพิษแมงมุมเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตโดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกรณีของการเสียชีวิตจากพิษแมงมุมโดยตรง ดังนั้น ยืนยันว่า พิษแมงมุมในประเทศไทยไม่รุนแรงและไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตภายหลังจากที่โดนแมงมุมพิษกัดได้ก็คือภาวะแทรกซ้อนและการติดเชื้อจากแผล เนื่องจากความสกปรกของสัตว์ที่เข้าไปในผิวหนัง และเรื่องของอาการแพ้พิษในบางราย

          สิ่งสำคัญที่ประชาชนสามารถกำจัดแมงมุมพิษเหล่านี้ได้ ด้วยการดูแลรักษาทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยแมงมุม 1 ตัว สามารถออกไข่ได้ 20 ถุง ถุงละประมาณ 200-400 ฟอง ดังนั้น ควรกวาดบ้านบ่อย ๆ เพื่อเป็นการรบกวนแหล่งที่อยู่ แมงมุมเหล่านี้ก็จะหายไปเอง แต่ไม่ควรนำสารเคมี อาทิ ยาฉีดยุง ฉีดปลวก มด หรือแมลง ไปฉีด เพราะแมงมุมไม่ตาย

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย, เดลินิวส์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผย 5 แมงมุมพิษที่คนไทยควรรู้ หลังมีเคสหญิงกระบี่ถูกกัดจนหัวใจหยุดเต้น 4 ครั้ง อัปเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2563 เวลา 18:24:37 78,091 อ่าน
TOP
x close