x close

โคเคน สารเสพติดให้โทษทุกทาง มีไว้เสี่ยงคุก เสพหนักสุด ๆ ถึงตาย !

          มาทำความรู้จักว่า โคเคน คือยาอะไร เป็นสารเสพติดให้โทษประเภทไหน อันตรายต่อร่างกายยังไงบ้าง

โคเคน สารเสพติดอันตราย

          ขึ้นชื่อว่าสารเสพติด ก็เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อร่างกายนัก อย่างโคเคนก็เช่นกัน ที่เรารู้กันดีว่าเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดหนึ่ง ซึ่งโคเคนจะอันตรายต่อร่างกายยังไง ให้โทษแบบไหน และหากมีไว้ในครอบครองจะมีโทษทางกฎหมายอย่างไรบ้าง เรามาทำความรู้จัก โคเคน สารเสพติดให้โทษกัน

โคเคน คือยาอะไร

          โคเคน (Cocaine) จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 กล่าวคือ เป็นยาเสพติดให้โทษทั่วไป ในกลุ่มเดียวกับฝิ่น มอร์ฟีน หรือโคเดอีน เป็นต้น โคเคนเป็นสารสกัดจากต้นโคคา (Coca) ซึ่งมีมากในแถบอเมริกาใต้ จัดเป็นสารอัลคาลอยด์ โคเคอีน ซึ่งมักจะอยู่ในรูปผง เกล็ดสีขาว รสขม ไม่มีกลิ่น ในระยะแรก ๆ โคเคนไม่ทนต่อความร้อน ต้องใช้วิธีการฉีดเพื่อให้โคเคนออกฤทธิ์ แต่เกิดการพัฒนาในช่วงหลังซึ่งทำให้โคเคนทนต่อความร้อนหลังละลาย และกลายเป็นไอที่อุณหภูมิมากกว่า 98 องศาเซลเซียส ทำให้ง่ายต่อการเสพโดยการสูบ คล้ายกับการสูบบุหรี่

โคเคนมีฤทธิ์อย่างไร แบบไหนคืออาการของผู้เสพโคเคน

โคเคน สารเสพติดอันตราย

          โคเคนจัดเป็นยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท เหมือนกับแอมเฟตามีน กระท่อม โดยจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้เสพมีอาการ ดังนี้

               - รู้สึกเคลิ้ม
               - สมองมึน เบลอ
               - หงุดหงิด กระสับกระส่าย
               - นอนไม่หลับ
               - อาเจียน
               - หัวใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ
               - ความดันโลหิตสูง
               - เจ็บหน้าอก หลอดเลือดอุดตัน
               - ผนังจมูกขาดเลือด ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกฝ่อ ขาดหรือทะลุ
               - หากใช้ในปริมาณที่เยอะและติดต่อกันเป็นเวลานานอาจช็อก ชัก มีเลือดออกในสมอง หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจตาย เสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลันได้เลยทีเดียว

โคเคน อันตรายอย่างไร

          จากข้อมูลข้างต้นก็จะเห็นว่า การเสพโคเคนหรือการได้รับโคเคนในปริมาณที่มากเกินไป มีผลกระทบต่อร่างกายอย่างมาก ซึ่งนอกจากอาการทางกายแล้ว ในบางคนอาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว นำไปสู่พฤติกรรมรุนแรง หรือสามารถก่ออาชญากรรมคล้ายกับคนเมายาบ้าได้เช่นกัน

          นอกจากนี้ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังเตือนว่า การใช้สารเสพติดอย่างโคเคนมาก ๆ อาจทำให้เสี่ยงโรคซึมเศร้าได้ด้วย

โคเคนรักษาฟัน เป็นเรื่องที่ทำกันในอดีต

โคเคน สารเสพติดอันตราย

          จากที่ได้ยินข่าวว่า โคเคนมีส่วนในการทำทันตกรรม ก็ต้องอธิบายให้เข้าใจตรงกันว่า จริง ๆ แล้วโคเคนเคยถูกใช้เป็นยารักษาโรคมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 โดยซิกมันด์ ฟรอยด์ ปรมาจารย์ทางจิตเวช ได้ใช้สารสกัดจากต้นโคคาเป็นยารักษาโรคซึมเศร้า โรคจิตจากภาวะติดยาเสพติดอื่น ๆ และต่อมาทางการแพทย์ก็ได้ใช้โคเคนเพื่อเป็นยาชาเฉพาะที่ แต่ก็พบว่า การใช้โคเคนเป็นยาชา ออกฤทธิ์ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ทั้งยังเสี่ยงทำให้ความดันโลหิตสูงจนมีผลต่อการทำงานของหัวใจ อีกทั้งยังมีฤทธิ์เสพติด จึงเปลี่ยนมาใช้ยาชาตัวอื่นทดแทน เช่น สารสังเคราะห์ลิโดเคน เมพิวาเคน อะทิเคน ที่ให้ฤทธิ์เป็นยาชาได้ดีกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่า จึงเลิกใช้โคเคนเป็นยาชามานานกว่า 150 ปีแล้ว

โคเคน กับประโยชน์ทางการแพทย์อื่น ๆ

          ปัจจุบันทางการแพทย์ในหลายประเทศยังใช้โคเคนในรูปของสารโคเคนไฮโดรคลอไรด์ (Cocaine Hydrochloride) เพื่อรักษาโรคบางชนิด ขณะที่ในไทยจะใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 และ 4 เช่น มอร์ฟีน โคเคน เป็นยาชาเฉพาะจุดในห้องผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดจมูกและคอ หรืออย่างมอร์ฟีนก็ใช้เป็นยาระงับปวดชนิดรุนแรง เป็นต้น ซึ่งการใช้ยาเสพติดให้โทษเหล่านี้ในทางการแพทย์ จะมีองค์การอาหารและยา หรือ อย. เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว และจะจัดส่งให้สถานพยาบาลตามการร้องขอมาเท่านั้น

โคเคน กับโทษทางกฎหมาย

โคเคน สารเสพติดอันตราย

          นอกจากโคเคนจะอันตรายต่อร่างกายแล้ว การเสพโคเคนหรือมีโคเคนไว้ในครอบครอง โดยไม่มีใบอนุญาต ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ และต้องได้รับโทษทางกฎหมาย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีโคเคน (ตั้งแต่ 100 กรัมขึ้นไป) ไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          สารเสพติดไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ไม่ควรเข้าใกล้โดยไม่จำเป็น ทั้งการเสพ หรือการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ก็เหมือนมีของร้อนอยู่ติดกาย ซึ่งจะพาหายนะมาหาเราเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิดจะดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เดลินิวส์
ไทย พีบีเอส
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
iLaw
วิทยาลัย อี.เทค

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โคเคน สารเสพติดให้โทษทุกทาง มีไว้เสี่ยงคุก เสพหนักสุด ๆ ถึงตาย ! อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2563 เวลา 17:41:14 23,644 อ่าน
TOP