x close

กระเทียมดำ คืออะไร สรรพคุณต่างจากกระเทียมทั่วไปหรือเปล่า ?

          การทำให้กระเทียมเปลี่ยนเป็นสีดำ จะช่วยเพิ่มสรรพคุณกระเทียมได้มากขนาดไหน แล้วกระบวนการนี้จะทำให้เกิดข้อควรระวังในการกินกระเทียมดำด้วยหรือเปล่า มาเช็กกัน
กระเทียมดำ

           กระเทียมดำเป็นกระแสในแวดวงคนรักสุขภาพมาได้สักพักแล้ว ซึ่งสรรพคุณของกระเทียมดำที่เลื่องลือกันมากก็คือช่วยต้านมะเร็ง แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักประโยชน์ของกระเทียมดำอย่างแท้จริง และไม่รู้ว่ากระเทียมดำคืออะไรด้วย งั้นวันนี้เรามาว่ากันด้วยเรื่องกระเทียมดำดีกว่า
กระเทียมดำคืออะไร
          กระเทียมดำคือ กระเทียมปกติที่เรากินนี่แหละค่ะ แต่ผ่านกระบวนการหมักบ่มที่อุณหภูมิสูงประมาณ 60-90 องศาเซลเซียส และควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ให้อยู่ในช่วง 80-90% เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ก็จะได้กระเทียมดำที่มีเนื้อสัมผัสเหนียว ยืดหยุ่นคล้ายเจลลี่ และการหมักบ่มกระเทียมจะช่วยดับกลิ่นฉุนลง ทำให้กระเทียมมีรสชาติหวาน กินง่ายมากขึ้น ที่สำคัญสารสำคัญในกระเทียมก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย
 
กระเทียมดำ ดียังไง

          กระเทียมที่ผ่านกระบวนการบ่มด้วยความร้อนจะช่วยเพิ่มสารสำคัญในกระเทียมได้ โดยการศึกษาพบว่า กระเทียมดำจะมีสาร S-allylcysteine (SAC) ซึ่งเป็นสารกำมะถัน ละลายน้ำได้ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งสารตัวนี้ก็มีในกระเทียมสดด้วยเช่นเดียวกัน แต่เมื่อนำกระเทียมมาหมักบ่มจนได้กระเทียมดำ สาร SAC จะเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่าเลย
 

          นอกจากนี้กระเทียมดำยังมีฟลาโวนอยด์เพิ่มขึ้น 4.77 เท่า มีโพลีฟีนอลเพิ่มขึ้น 4.19 เท่า และมีกรดอะมิโนมากกว่าเมื่อเทียบกับกระเทียมสด อย่างไรก็ตาม คุณภาพของกระเทียมดำจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่ใช้บ่ม ความชื้น และวิธีการหมักด้วย

กระเทียมดำ

กระเทียมดำมีประโยชน์อย่างไร
          เราสามารถกินกระเทียมดำแบบสด หรือนำไปประกอบอาหารก็ได้ ซึ่งหลายคนคงอยากรู้ถึงสรรพคุณของกระเทียมดำกันแล้ว งั้นเลื่อนลงมาอ่านด้านล่างนี้เลย
 
1. สารต้านอนุมูลอิสระสูง
กระเทียมดำ

          กระเทียมดำมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่ากระเทียมสดถึง 6 เท่า จึงช่วยปกป้องเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายจากการถูกอนุมูลอิสระทำลาย ลดอนุมูลอิสระที่มีอยู่ได้ ซึ่งก็ช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการมีอนุมูลอิสระสูงได้ด้วย

2. เสริมภูมิคุ้มกัน
          แน่นอนว่าการกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงของร่างกายได้เป็นอย่างดี
3. รักษาอาการปวดและอาการอักเสบในร่างกาย
          งานวิจัยของ Prof. Dr. Sigrun Chrubasik Hausmann แพทย์ทางอายุรกรรม มหาวิทยาลัยไฟร์บวร์ก พบว่า สารสำคัญในกระเทียมดำมีส่วนช่วยบำบัดอาการปวด ทำให้ระบบภูมิต้านทานโรคดีขึ้น และมีส่วนช่วยในการรักษาโรคได้
4. เพิ่มไขมันดี (HDL)
          การศึกษาในคลินิกพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงที่กินกระเทียมดำ 6 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ มีระดับไขมันดี (HDL) เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก แต่ทั้งนี้ก็ไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนของระดับไขมัน LDL และคอเลสเตอรอล และอีกหลายงานวิจัยที่พบสรรพคุณลดไขมันในเลือดก็ยังเป็นการทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาสรรพคุณลดไขมันในเลือดของกระเทียมดำเพิ่มขึ้นจนกว่าจะได้ผลการศึกษาที่แน่นอน
5. บำรุงสมอง และป้องกันโรคความผิดปกติของระบบประสาท
          ในกระเทียมดำมี GABA ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท พร้อมกันนั้นก็ช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทได้ด้วย
6. ควบคุมโรคภูมิแพ้
กระเทียมดำ

          จากการศึกษาพบว่า กระเทียมดำมีสรรพคุณในการหยุดยั้งยีนอันเป็นสาเหตุของอาการอักเสบ และช่วยลดอาการภูมิแพ้ทางจมูกหรือผิวหนังได้ อีกทั้งสารต้านอนุมูลอิสระในกระเทียมยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
7. ลดอาการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร
          สารต้านอนุมูลอิสระในกระเทียมดำมีส่วนช่วยป้องกันไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา โดยเฉพาะไวรัสที่ก่อให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร
8. ช่วยปกป้องตับ
          อนุมูลอิสระและไขมันเป็นตัวบั่นทอนการทำงานของตับที่สำคัญ ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระในกระเทียมดำจะช่วยลดอนุมูลอิสระเหล่านี้ได้ อีกทั้งกระเทียมยังช่วยเพิ่มระดับไขมันดีในร่างกายได้อีกทางหนึ่งด้วย
9. ดีต่อหัวใจ
กระเทียมดำ

          ผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Physiology เมื่อปี 2018 เผยว่า กระเทียมดำมีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต สารต้านอนุมูลอิสระก็ยังช่วยให้หัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และด้วยสรรพคุณนี้ก็น่าจะดีต่อสุขภาพหัวใจ รวมไปถึงโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างมีนัยสำคัญ
10.  ลดความดันโลหิต
          นอกจากกระเทียมดำจะมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตแล้ว ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่บอกว่า กระเทียมดำมีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตด้วย ดังนั้นหากมีภาวะความดันโลหิตต่ำก็ควรหลีกเลี่ยงการกินกระเทียมดำนะคะ เพราะอาจทำให้ความดันตกได้
11. ต้านมะเร็งได้ แต่ยังอยู่ในขั้นหลอดทดลอง
          แม้สรรพคุณของกระเทียมดำจะเด่นในเรื่องต้านมะเร็ง ซึ่งฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาก็พบว่า กระเทียมมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ แต่ก็ยังเป็นแค่การทดลองในสัตว์และหลอดทดลองเท่านั้น ณ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่บ่งชี้ว่า กระเทียมดำมีสามารถต้านมะเร็งหรือรักษามะเร็งในคนได้ จำเป็นต้องมีงานวิจัยในเรื่องนี้เพิ่มอีก
 
กระเทียมดำ

กระเทียมดำ อันตรายไหม มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

          แม้กระเทียมดำจะมีสารสำคัญต่อสุขภาพมาก ทว่าคุณภาพของกระเทียมดำควรต้องได้มาตรฐานด้วย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนอื่น ๆ โดยเลือกที่ได้มาตรฐาน มีฉลาก มี อย. เพื่อการันตีคุณภาพในการผลิตกระเทียมดำด้วยนะคะ

          อย่างไรก็ตาม หากรับประทานกระเทียมดำมากเกินไปก็อาจได้รับผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคเรื้อรังที่อยู่ในระหว่างการรักษา นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือดเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ก็ไม่ควรกินกระเทียมดำ เพราะอาจทำให้มีอาการเลือดไหลไม่หยุดได้ รวมทั้งผู้ที่ใช้ยาลดความดันโลหิต ก็ควรเลี่ยงการกินกระเทียมดำที่จะทำให้ความดันตกได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนจะกินกระเทียมดำ อาหารเสริม สมุนไพร หรือยาใดก็ตาม ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เสมอ
 

          กระเทียมดำเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่มีประโยชน์น่าสนใจ แต่เพื่อความปลอดภัยควรเลือกกินกระเทียมดำเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่กินเพื่อหวังผลรักษาโรค และต้องย้ำหนัก ๆ ว่าควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนกินทุกครั้ง
 

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยแม่โจ้
เฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย
livestrong
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กระเทียมดำ คืออะไร สรรพคุณต่างจากกระเทียมทั่วไปหรือเปล่า ? อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 09:24:09 72,217 อ่าน
TOP