x close

PM2.5 ทางออกประเทศไทย ? เมื่อเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต

ฝุ่น PM2.5

          เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาวช่วงปลายปีฝุ่นละอองขนาด PM2.5 มาเยือนประเทศไทยราวกับได้นัดหมายกันไว้ทุก ๆ ปี พร้อมกับที่สื่อใหญ่ทั่วโลกนำเสนอเรื่องราวการเสียชีวิตของเด็กผู้หญิงวัย 9 ขวบจากประเทศอังกฤษ โดยแพทย์ชันสูตรว่าเป็นการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศและเป็นกรณีแรกของโลก ซึ่งเป็นเหมือนการตอกย้ำให้ตระหนักถึงความหนักหน่วงของปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่ใหญ่เกินกว่าจะเพิกเฉยอีกต่อไป


          ในงาน “Thaihealth Watch : จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่องฝุ่นขนาดเล็กก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญซึ่งถูกนำมาพูดคุยบนเวที ตามหัวข้อ “PM2.5 ทางออกประเทศไทย ? เมื่อเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต”

          ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ชักชวนให้ผู้ร่วมฟังเสวนาสนใจสถิติบางอย่าง “จากข้อมูลสถานการณ์สุขภาพคนไทยในรอบ 10 ปีเห็นได้ชัดเลยว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งปอดสูงขึ้นมากอย่างน่าตกใจ ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ลดลง”

ฝุ่น PM2.5

          ถ้าย้อนกลับไปดูในพื้นที่กรุงเทพฯ “เราพบว่า คนกรุงเทพฯ เสียปีแห่งการมีสุขภาพที่ดีลดลงไปถึง 3,116 ปี ถ้าเทียบเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไปถึง 1,600 ล้านบาท”

          นั่นมาจากปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 ซึ่งในวันนี้ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ทั่วทั้งประเทศกำลังเผชิญกับปัญหานี้ ที่น่ากังวลคือ กลุ่มเปราะบางอย่างเด็กนักเรียนในหลายจังหวัดที่ต้องเรียนหนังสือในห้องที่เปิดโล่ง “การสูด PM2.5 8 ชั่วโมงในห้องเรียน เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก” โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น เพื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชนให้ตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละอองจึงเกิดขึ้น

          “มันคือมัจจุราชเงียบที่บั่นทอนชีวิตเรามาโดยตลอด มีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 เฉลี่ยสูงถึง 7 ล้านคนต่อปี”

          ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และโฆษกศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากจะสัมพันธ์กับโรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรงหลอดเลือดในสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง ยังมีข้อมูลการศึกษาใหม่ ๆ ที่ระบุว่า PM2.5  สัมพันธ์กับโรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต และโรคอัลไซเมอร์ อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กจะมีความอ่อนไหวต่อมลพิษทางอากาศมากกว่ากลุ่มอื่น

          “อีกทั้ง PM2.5 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึงกว่า 1,500 ล้าน หรืออาจจะสูงถึง 3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ค่าผลกระทบ PM2.5 จึงไม่ได้อยู่ที่ค่าใช้จ่ายเรื่องหน้ากากหรือเครื่องฟอกอากาศเท่านั้น มันรวมถึงสุขภาพที่เราต้องเสียไป ความเสียโอกาสจากเรื่องของรายได้ที่ลดลง ภาพลักษณ์ของประเทศ การท่องเที่ยว เม็ดเงินที่จะมาลงทุน”

          ปัญหาฝุ่นและมลพิษนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แต่ขาดผู้มารับผิดชอบโดยตรง ทำให้ทุกวันนี้มีสภาพเหมือนลูกบอลที่ต่างก็เตะให้ออกห่างจากตัว “กรมควบคุมมลพิษเป็นแค่กรมหนึ่งในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขาไม่ได้มีอำนาจจัดการตรงนี้ ไม่มีกฎหมายรองรับของตัวเองอีกด้วย”

ฝุ่น PM2.5

          อาจารย์ศิวัช เสนอแนะถึงการสร้าง Super Agency เช่น ที่สหรัฐอเมริกามี สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือ อีพีเอ “Super Agency เหมือนเป็นซามูไร ก็ต้องมีดาบให้เขาคือ พ.ร.บ.อากาศสะอาด 2 อย่างนี้ต้องไปด้วยกัน ถ้าไม่มีเราก็จะเจอแต่เรื่องเดิม ๆ ทุกคนก็จะเตะบอลออกจากตัวเองไปให้ไกลที่สุด มันเป็นหายนะของส่วนรวม เป็นความรับผิดชอบของทุกคน ปัญหาตอนนี้คือ เราขาดเจ้าภาพ”

          ทพ. วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตอกย้ำว่า “ฝุ่นจิ๋วมันแตะทุกเรื่อง เรื่องของเมือง หรือแม้กระทั่งเรื่อง Climate Change โยงกันไปหมดเลย” ทำให้ต้องอาศัยหลายภาคส่วนเข้ามาทำงานแก้ไขปัญหาเพื่อเป้าหมายที่ยั่งยืน “ทุกคนมีส่วนร่วม งานชิ้นนี้ไม่มีใครเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาแก้ได้ ถามว่าใครทำให้เกิดฝุ่น ผมเชื่อว่าทุกคนมีส่วน จะมากจะน้อย”

          ขณะที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย และผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ก็ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ “ดาบ” ของ “ซามูไร” สำหรับจ้วงฟันปัญหามลพิษและฝุ่น PM2.5 นั่นก็คือ “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ”

          “โครงร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงเกิดขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่างทางโครงสร้างนโยบายแล้วก็กฎหมาย รวมถึงต้องการบูรณาการการทำงานของภาครัฐทุกหน่วยงาน ความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้เน้นเรื่องสิทธิการหายใจเอาอากาศที่สะอาดเข้าไป รวมทั้งสิทธิของหลายคนที่ไม่ค่อยถูกพูด เช่น สิทธิเด็ก กลุ่มคนที่เปราะบาง ผู้ที่เจ็บป่วย คนทำงานกลางแจ้ง

          “ร่างกฎหมายฉบับนี้เน้น 3 เรื่องหลัก คือ หนึ่งสิทธิในการที่จะเข้าถึงข้อมูลหรือรับรู้ข้อมูล ที่เขาต้องการและจำเป็นที่จะต้อง เอามาใช้ประกอบ การตัดสินใจ ประเด็นที่สองคือเรื่องของสิทธิในการมีส่วนร่วม กฎหมายนี้จะไปเสริมความเข้มแข็งของกฎหมายอีกหลาย ๆ เรื่อง”


          กฎหมายฉบับนี้ยังรวมถึง การกำกับดูแลลงโทษ ซึ่งจะเน้นความเท่าเทียมของแหล่งกำเนิดมลพิษทุกส่วน “ถ้าเราติดตามข่าวสารดูจะรู้สึกสะเทือนใจ เวลารัฐบาลมีมาตรการ กลุ่มแรกที่จะถูกจัดการคือ ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ชาวเขา ชนกลุ่มน้อย หรือเกษตรกร ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือแม้กระทั่งกิจการที่ภาครัฐเขาไปถือหุ้น กิจการเหล่านั้นเป็นแหล่งกำเนิด PM 2.5 มาก ๆ แต่กลับไม่เคยมีการพูด ไม่มีการจัดการ”

          นอกจากนี้ยังรวมถึงมาตรการจูงใจให้ผู้ปล่อยมลพิษทางอากาศในการช่วยแก้ปัญหา มลพิษข้ามพรมแดน ฯลฯ สนใจและร่วมสนับสนุน พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ที่ thailandcan.org เพราะว่า PM2.5 เป็นเรื่องใหญ่กว่าแค่ฝุ่นจิ๋ว จึงต้องการการดูแลแก้ไข ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้ที่หน้ากากและเครื่องฟอกอากาศเท่านั้น

PM2.5 ทางออกประเทศไทย ? เมื่อเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต โพสต์เมื่อ 12 มกราคม 2564 เวลา 14:55:57 9,553 อ่าน
TOP