มาลองหาวิธีที่จะช่วยผ่อนคลายความกังวล เลิกยึดติดกับความคิดฟุ้งซ่านไปไกล แล้วกลับมามีชีวิตปกติสุขอีกครั้งกันเถอะ
สถานการณ์หลาย ๆ อย่างในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ อาจทำให้หลายคนมีความวิตกกังวล ยิ่งพอต้องกักตัวมาอยู่บ้าน เว้นระยะห่างจากสังคม ก็ยิ่งจมอยู่กับความคิดฟุ้งซ่านไปต่าง ๆ นานา โฟกัสอะไรก็ยากเป็นเท่าตัว งั้นเอาเป็นว่าลองมาหาวิธีลดจิตฟุ้งซ่าน แก้อาการขี้กังวลของตัวเองในขั้นต้นดูก่อนไหม
จิตฟุ้งซ่าน กังวลมากไป อาการนี้แหละใช่เลย !
ลองเช็กอาการกันก่อนว่าที่เราเป็นอยู่ใช่ความคิดฟุ้งซ่าน หรือความกังวลที่เกินขอบเขตไปไหม เพราะนอกจากอาการทางใจ อย่างคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อยแล้ว ความวิตกกังวลหรือคิดฟุ้งซ่านอาจส่งผลให้เกิดอาการทางกายได้ด้วย ตามนี้เลย
1. กล้ามเนื้อตึง ปวดเมื่อย
2. ปวดศีรษะบ่อย
3. กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิทำงาน หรือเรียน
4. เบื่ออาหาร
5. อาหารไม่ย่อย
6. ท้องเสีย ท้องไส้ปั่นป่วน
7. เหนื่อยง่าย รู้สึกเหนื่อยล้าไม่หาย
8. นอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับ
ทั้งนี้ ในบางคนที่เครียดและวิตกกังวลมาก ๆ อาจมีอาการหนักกว่านี้ เช่น ใจสั่น ตัวสั่น เหมือนจะเป็นลม เหงื่อออกมาก รู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก ซึ่งหากมีอาการถึงขั้นนี้ควรไปพบแพทย์โดยด่วน
วิธีลดจิตฟุ้งซ่าน ขจัดความกังวล
เมื่อสำรวจอาการของตัวเองแล้วตรงหลายข้อ ก็ได้เวลามาหาวิธีเลิกความคิดฟุ้งซ่าน กังวลกับทุกอย่างในชีวิตแบบง่าย ๆ แค่ทำตามนี้
1. ฝึกควบคุมลมหายใจ
แค่โฟกัสมาที่ลมหายใจของตัวเอง ตั้งใจสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ แล้วค่อย ๆ ผ่อนออกช้า ๆ แค่นี้ก็ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายไปได้มากแล้ว แถมยังเป็นการเรียกสมาธิแบบง่าย ๆ ด้วย
2. ลุกออกไปจากความฟุ้งซ่าน
ถ้านั่งจมอยู่กับความกังวล คิดฟุ้งซ่านไปเยอะแยะ ให้ลุกออกไปสูดอากาศทันทีที่รู้สึกตัวเลยค่ะ โดยอาจจะออกไปเดินเล่น ชมนกชมไม้ ดูรถที่วิ่งผ่านไป-มาก็ได้ ปลดปล่อยความคิดจมปลักของตัวเองออกไปก่อน
3. พาตัวเองเข้าสังคม
มนุษย์จำเป็นต้องมีสังคม เพราะเราต้องพึ่งพากันและกัน ดังนั้น อย่าสร้างโลกส่วนตัวแล้วอยู่แต่ในนั้น ไม่ติดต่อใคร ไม่คุยกับใคร เพราะอยู่เงียบ ๆ คนเดียวก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกดีขึ้นจริงไหมคะ ลองแชตกับเพื่อน วิดีโอคอลหาญาติพี่น้อง เปิดโอกาสให้ตัวเองได้แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่นดูบ้าง
4. เล่นกับสัตว์เลี้ยง
หากมีสัตว์เลี้ยงอยู่ใกล้ ๆ ก็แบ่งเวลามาเล่นกับพวกเขาบ้าง แล้วคุณจะพบว่า ช่วงเวลาที่อยู่กับสัตว์เลี้ยงแสนรัก เหมือนได้พลังบวก ได้ปลดปล่อยทุกความกังวลและความทุกข์ไปชั่วขณะหนึ่งเลย
5. คิดบวก
ยอมรับไหมล่ะว่าความกังวลและความคิดฟุ้งซ่านของตัวเองล้วนแต่เป็นเรื่องในแง่ลบทั้งนั้น ดังนั้น ลองเปลี่ยนมุมมองมาคิดในแง่บวกดูบ้าง หรืออย่างน้อยก็คิดอะไรที่สร้างสรรค์ เช่น ปัญหาที่เราเจอยังอาจจะดูเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับคนที่ลำบากกว่า หรือหากตกงาน ลองคิดดูบ้างก็ได้ว่านี่อาจเป็นโอกาสให้เราได้กลับมาแอ็คทีฟตัวเองให้มากขึ้น และเราอาจเป็นคนที่เก่งได้มากกว่าที่เราคิดซะอีก
6. บอกตัวเองให้หยุดฟุ้งซ่าน
หากความคิดในหัวสับสนวุ่นวายไปหมด ลองตะโกนคำว่า “หยุด !” ในใจสักที ไม่แน่ว่าวิธีนี้อาจจะช่วยหยุดความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นได้จริง ๆ ก็เป็นได้
7. หากิจกรรมที่ชอบทำ
ดูซีรีส์ ฟังเพลง อ่านนิยาย ปลูกต้นไม้ เก็บบ้าน หรือทำอาหารเมนูใหม่ ๆ ชอบทำกิจกรรมไหนก็จัดไปอย่าให้เสีย ดีกว่าเอาเวลาไปนั่งจมอยู่กับความกังวลที่ไม่รู้จบ
8. โฟกัสกับสิ่งที่ทำและอยู่กับปัจจุบัน
หลายครั้งที่จิตเราหลุดไปกับความฟุ้งซ่านเพราะเราหลุดโฟกัสกับปัจจุบันนี่แหละค่ะ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ตัวเองเหม่อลอย แต่ให้เพ่งสมาธิไปกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ หรือหากตกอยู่ในภวังค์ กำลังกังวลไปเรื่อย ก็รีบดึงตัวเองมาสู่ปัจจุบันว่ากำลังทำอะไร อยู่ตรงไหน หรือกำลังมองอะไรอยู่
9. บรรยายสิ่งที่ตัวเองกังวลด้วยการเขียน
กังวลกับเรื่องไหน ฟุ้งซ่านไปกับเรื่องอะไรบ้าง หยิบปากกาแล้วเขียนบรรยายออกมาให้หมดไปเลย จากนั้นลองอ่านทวนดูอีกสักครั้ง แล้วถือโอกาสแยกแยะให้ออกว่า ความกังวลของเราเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขจริง ๆ หรือเป็นความกังวลล่วงหน้าไปเอง ทั้งที่ยังไม่เกิดปัญหาขึ้นเลย
10. วางแผนชีวิตให้ตัวเอง
ถ้าความกังวลจนฟุ้งซ่านของคุณเป็นเพราะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ทัน งานเยอะ เรื่องเรียนแยะไปหมด ลองตั้งสติแล้ววางแผนชีวิตตัวเองใหม่ดูไหม จัดลำดับความสำคัญในสิ่งที่ต้องทำลิสต์เป็นข้อ ๆ แล้วดำเนินตามตารางนั้นไป ชีวิตจะได้กลับเข้าสู่โหมดปกติ ไม่ต้องฟุ้งซ่านให้เหนื่อย
11. ใช้ธรรมะเข้าช่วย
หากจิตใจฟุ้งซ่าน ว้าวุ่นนัก อยากให้ลองมาทางสายธรรมะ โดยอาจจะนั่งสมาธิ ฝึกสติปัญญา หรือสวดมนต์ ฟังธรรมะก็ได้ ไม่ว่าจะวิธีไหนก็น่าจะช่วยให้จิตใจสงบขึ้นบ้างล่ะ
12. พบจิตแพทย์
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร หรือความกังวลในเรื่องไหน ที่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา เราเชื่อว่าความฟุ้งซ่านนี้จะอยู่ไม่นาน และอยากขอให้ทุกคนมีความเชื่อร่วมกันว่า แม้วันนี้จะเจอพายุชีวิตซัดกระหน่ำ แต่สักวันก็ต้องเจอฟ้าที่สดใส กำลังมีความสุขรอเราอยู่แน่ ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสารชีวจิต, psychologytools, verywellmind, psychologytoday, คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา