เตือนภัยฉีดวิตามินผิวเข้าทางเส้นเลือด อันตรายถึงชีวิต กรมการแพทย์ ระบุไม่มีงานวิจัยยืนยันฉีดแล้วได้ผล เผยอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เสี่ยงดับไม่ทันตั้งตัว ชี้สีผิวไหนก็สวยได้ไม่จำเป็นต้องขาว
ปัจจุบันเรามักจะเห็นโฆษณาการฉีดวิตามินมากมายตามสถาบันเสริมความงาม หรือการสอนวิธีฉีดด้วยตัวเอง การรักสวยรักงามไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรทำอย่างถูกต้องและคำนึงถึงความเป็นปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 26 มีนาคม 2564 กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือนการฉีดวิตามินเข้าทางหลอดเลือดอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะทางการแพทย์ยังไม่มียาหรือเวชภัณฑ์ตัวไหน ที่มีสรรพคุณทำให้ผิวขาว ดังนั้น การนำสารอื่น ๆ มาผสมและฉีดเข้าไป มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดและมีอาการแทรกซ้อนได้
โดย นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ตามโซเชียลมีการโพสต์ภาพการสอนฉีดวิตามินเร่งผิวขาวที่เส้นเลือดหลังฝ่ามือ ซึ่งถูกแชร์ต่อลงใน TikTok นั้น ปัจจุบันการฉีดวิตามินเข้าทางหลอดเลือดเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในสถานความงาม เชื่อกันว่าวิธีบริหารวิตามินหรือสารต่าง ๆ ทางหลอดเลือดดำ จะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินหรือสารเหล่านั้นโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการดูดซึมที่ระบบทางเดินอาหาร แต่ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือยืนยันถึงประโยชน์ของการฉีดวิตามินเข้าทางหลอดเลือดต่อผิวหนัง
ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้คำแนะนำว่า การฉีดวิตามินหรือสารต่าง ๆ ทางหลอดเลือดดำ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต
อันตรายที่อาจเกิดขึ้น
- อันตรายถึงชีวิต จากการมีฟองอากาศในหลอดเลือด
- การฉีดด้วยอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด หรือไม่ได้ใช้วิธีการที่ปราศจากเชื้อ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- อาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ที่รุนแรงได้ ถ้าไม่อยู่ในสถานพยาบาลอาจช่วยชีวิตไม่ทัน
อาการแพ้เบื้องต้นที่ควรเฝ้าระวัง
- อาการคลื่นไส้อาเจียน
- เวียนศีรษะ
- ปวดท้อง
- ใจสั่น
- เหงื่อแตก
- แน่นหน้าอก
- หายใจลำบาก
- มีผื่นขึ้นทั่วตัว
นอกจากนี้ การบริหารสารน้ำใด ๆ ทางหลอดเลือดดำ ควรกระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตในการทำหัตถการ ทั้งนี้ สังคมควรปรับค่านิยมให้เห็นว่า ผิวทุกสีก็สวยได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผิวขาวอย่างเดียว
การดูแลผิวพรรณที่ถูกวิธี
- เริ่มต้นจากการทำความสะอาดผิวอย่างถูกวิธี
- ดื่มน้ำที่เพียงพอ
- ทาครีมบำรุงตามความจำเป็นเพื่อให้ผิวมีความชุ่มชื้นที่เหมาะสม
- ลดปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจจะทำลายผิว เช่น หลีกเลี่ยงแสงแดดที่แรงและมลภาวะต่าง ๆ เป็นต้น
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมการแพทย์