ร่างกายของเราจะมีกล้ามเนื้ออยู่ 3 ประเภท คือ กล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อลาย ซึ่งตัวกล้ามเนื้อลายนี้เป็นกล้ามเนื้อชนิดเดียวในร่างกายที่ทำงานอยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ หมายความว่า เราสามารถควบคุมกล้ามเนื้อลายได้ จึงมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย
สำหรับภาวะกล้ามเนื้อสลาย หรือภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อถูกทำลายจนเซลล์แตก ส่งผลให้เอนไซม์และสารต่าง ๆ เช่น โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส โปรตีนเม็ดสีในกล้ามเนื้อ (Myoglobinuria) รวมไปถึงครีเอทีนไคเนส หรือ CK (Creatine kinase) เอนไซม์ที่พบในกล้ามเนื้อลายหลั่งไหลเข้าสู่กระแสเลือดจำนวนมาก ยิ่งหากกล้ามเนื้อสลายตัวมากเท่าไร ร่างกายก็อาจขับสารต่าง ๆ ออกไปไม่ทัน จนสร้างปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ ทั้งนี้ กล้ามเนื้อลายสลายก็เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน
สาเหตุของกล้ามเนื้อลายสลาย ได้แก่
1. การใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนัก เช่น การออกกำลังกายหนักเกินไป หรือออกกำลังกายนานเกินไป
2. การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้ออย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุหรือการถูกทำร้ายร่างกาย
3. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาลดไขมัน ยาในกลุ่ม Statins ยาเคมีบำบัด ยาเสพติด ยาจิตเวชบางชนิด รวมไปถึงยาสลบ ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อ
4. ภาวะร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน หรือมีอุณหภูมิร่างกายสูงจัด ต่ำจัด ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อถูกทำลายได้
5. ภาวะชักเกร็งเป็นเวลานาน ๆ หรือการถูกไฟฟ้าช็อต
6. การอักเสบของปลอกประสาทโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (GBS)
7. การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด
8. กลไกการสร้างและสลายกล้ามเนื้อผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
9. ภาวะเกลือแร่และกรดด่างในร่างกายผิดปกติ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะเกลือแร่ต่ำ ที่อาจส่งผลต่อกระบวนการแลกเปลี่ยนน้ำของเซลล์ ทำให้กล้ามเนื้อเสียหาย
10. ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง
11. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก รวมทั้งการใช้สารเสพติด
12. ความผิดปกติทางพันธุกรรม
เช็กอาการกล้ามเนื้อลายสลาย เพราะอะไรไตถึงพัง
อาการกล้ามเนื้อลายสลาย สามารถสังเกตได้ดังนี้
1. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยมักจะเกิดที่กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ต้นขา ไหล่ เป็นต้น และอาจรู้สึกปวดตึงที่กล้ามเนื้อหรือเป็นตะคริวในบางครั้ง
2. ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลเข้ม
3. มีไข้
4. หัวใจเต้นเร็ว
5. คลื่นไส้อาเจียน หรือปวดท้อง
อย่างไรก็ตาม หากตรวจเลือดจะพบว่าค่า CK สูงกว่าปกติมาก ๆ อาจขึ้นไปถึงหลักแสนจากค่าปกติที่ 10,000-25,000 IU และอาจพบโปรตีนเม็ดสีในกล้ามเนื้อ (Myoglobinuria) เกินขนาดในปัสสาวะ เสี่ยงต่อการอุดตันในไต ซึ่งภาวะนี้แหละที่เป็นสาเหตุของอาการไตวาย เพราะไตสูญเสียการทำงานจนขับสารส่วนเกินในร่างกายไม่ทัน
นอกจากภาวะกล้ามเนื้อสลายจะทำให้รู้สึกปวดเมื่อยร่างกายแล้ว ยังอาจสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพได้ ตั้งแต่ภาวะแรงอัดในขาทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ เลือดไม่ไปเลี้ยงจนกล้ามเนื้อตาย (Compartment Syndrome) รวมไปถึงภาวะไตวายเฉียบพลันอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น
ทั้งนี้ หากสังเกตอาการตัวเองได้ทัน อาการก็อาจจะไม่รุนแรงและรักษาได้ไม่ยาก ที่สำคัญคืออาจไม่เกิดภาวะไตวาย ซึ่งก็จะช่วยเซฟตัวเองจากอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอด้วย
ในส่วนของการรักษาภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย มีวิธีดังนี้
1. หากมีอาการไม่มาก ให้พักกล้ามเนื้อ งดกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหนัก ๆ
2. ให้น้ำแก่ร่างกายเพื่อปรับสมดุลสารต่าง ๆ รวมทั้งป้องกันไตเสียหาย
3. หยุดการใช้ยาที่ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย หรือรักษาที่ต้นเหตุอื่น ๆ ตามอาการแสดงของผู้ป่วย
กรณีมีอาการหนักให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์อาจให้น้ำเกลือและรักษาด้วยยา รวมทั้งฟอกไตในผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเฉียบพลัน แต่ถ้าไม่อยากต้องล้มหมอนนอนเสื่อให้หมอช่วยรักษา เราก็มีวิธีป้องกันกล้ามเนื้อลายสลายมาฝาก
ถ้าไม่ได้มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลายผิดปกติโดยกำเนิด รวมไปถึงไม่ได้เกิดอุบัติเหตุใด ๆ ทั้งจากการใช้ชีวิตประจำวันและอุบัติเหตุทางการแพทย์ เราก็สามารถป้องกันกล้ามเนื้อลายสลายได้ ดังนี้
1. ออกกำลังกายแต่พอดี ไม่หนักเกินไป ไม่นานเกินไป และประเมินสภาพร่างกายให้เหมาะสม เมื่อเหนื่อยจนไม่ไหวต้องพัก
2. ถ้าต้องออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เช่น วิ่งมาราธอน ควรซ้อมให้มาก ๆ ซ้อมจนร่างกายพร้อมก่อนลงสนามจริง
3. ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อลดภาวะขาดน้ำในร่างกาย
4. ปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยา และหากพบความผิดปกติของร่างกายต้องรีบแจ้งแพทย์เจ้าของไข้
5. หมั่นรักษาสุขภาพและดูแลร่างกายให้ปลอดภัยจากโรคหรืออันตรายต่าง ๆ
จริง ๆ แล้วภาวะกล้ามเนื้อสลายมักเกิดได้บ่อยกับคนที่ใช้ร่างกายหนักเกินไป ดังนั้นการประเมินเรี่ยวแรงและความสมบูรณ์ของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรฝืนแรงของตัวเองนะคะ ถ้าเหนื่อยเกินไป หนักเกินไป ควรพักเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพที่อาจตามมา
ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก May Clinic คลินิกนักวิ่งโดยหมอเมย์
เฟซบุ๊ก ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์
vrunvride