แมลงสาบ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Cockroaches จัดเป็นแมลงดึกดำบรรพ์ที่อยู่บนโลกมานานกว่า 250 ล้านปี และกระจายสายพันธุ์ไว้มากกว่า 4,500 ชนิด เพราะเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการปรับสายพันธุ์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งแมลงสาบยังอึดมาก โดยจากผลการวิจัยระบุว่า แมลงสาบสามารถใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีหัวได้นานถึง 1 สัปดาห์ กลั้นหายใจได้นาน 40 นาที อยู่ใต้น้ำได้นาน 30 นาที นอกจากนี้ยังสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องกินอาหารนานถึง 1 เดือน และไม่กินน้ำได้นานถึง 2 สัปดาห์ เลยทีเดียว
วงจรชีวิตของแมลงสาบมีอยู่ 3 ระยะด้วยกัน คือ ไข่ ตัวอ่อนหรือตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย มีความยาวลำตัวประมาณ 1-8 เซนติเมตร มีสีตั้งแต่น้ำตาลอ่อนไปจนถึงดำ หรือบางสายพันธุ์เป็นสีเขียวหรือสีส้ม ทั้งนี้ หลังจากโตเต็มที่อายุของแมลงสาบจะอยู่ได้ประมาณ 2-5 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร
แมลงสาบมีแหล่งกำเนิดในเขตอบอุ่น จึงมักจะพบแมลงสาบในแถบภูมิภาคที่มีอากาศร้อนมากกว่าประเทศที่หนาวเย็น และยังเป็นสัตว์ที่ชอบอาศัยในที่มืด ๆ อบอุ่น มีความชื้นสูง เราจึงมักจะพบแมลงสาบในห้องน้ำ ท่อระบายน้ำ ในครัว โกดังเก็บสินค้า หรือในกองขยะ
ปัจจุบันในไทยมีแมลงสาบอยู่ 12 ชนิดด้วยกัน แต่ที่พบในบ้านเรือนได้บ่อยจะมี 3 สายพันธุ์ คือ
1. แมลงสาบอเมริกัน ตัวใหญ่มันวาว สีน้ำตาลแดงเข้ม
2. แมลงสาบเยอรมัน ลำตัวออกสีแทนหรือน้ำตาลอ่อน มีแถบสีน้ำตาลเข้มคู่กันบนแผ่นหลัง ยาวประมาณครึ่งนิ้ว
3. แมลงสาบบรุนเนีย ตัวเล็กกว่าแมลงสาบอเมริกันเล็กน้อย ลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดงคล้ำ ที่อกด้านบนมีจุดดำขนาดใหญ่ 2 จุด ล้อมรอบด้วยวงเส้นสีเหลืองจาง ๆ อาจเห็นเป็นรูปส้อมอยู่บนขอบหลังของส่วนอก
หลายคนอาจพูดว่ากลัวก็คือกลัว แต่ถ้าลองพิจารณาดูเหตุผลลึก ๆ ในจิตใจ อาจเป็นเพราะแมลงสาบเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ในที่สกปรก ชื้นแฉะ กองขยะ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของเชื้อโรค ทำให้เรารู้สึกได้ว่าแมลงสาบคือความอันตราย เพราะนำโรคมาสู่มนุษย์ได้มากมาย เช่น อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ บางคนอาจเป็นหอบหืด ภูมิแพ้ หรือโรคผิวหนังได้อีก
อีกอย่างก็คือรูปร่างและกลิ่นเหม็น ๆ ของมัน เห็นเฉย ๆ ก็รู้สึกขยะแขยงแล้ว แล้วถ้ามาสัมผัสตัว แค่คิดก็ขนลุกชูชันไปหมดทั้งตัวเลยว่าไหม นอกจากนี้แมลงสาบก็ชอบแอบมาแบบเงียบ ๆ ทำให้คนตกใจและจำความรู้สึกตอนนั้นได้อย่างฝังลึก รวมไปถึงเวลาที่แมลงสาบบินเข้าหาด้วยความเร็ว พุ่งตรงมาแบบแน่วแน่ และชอบมาเกาะมาไต่ตามตัวเราอีก ทั้งหมดนี้คงเป็นเหตุผลที่ไม่มีใครอยากเจอแมลงสาบแบบจัง ๆ โดยเฉพาะในระยะประชิด
กลัวแมลงสาบขั้นไหน ถึงจะเข้าข่ายโฟเบีย
โรคกลัวแมลงสาบ หรือ Katsaridaphobia ก็เป็นภาวะโฟเบียที่ต้องมีอาการเฉพาะเจาะจงที่สังเกตได้ อย่างเมื่อเจอแมลงสาบแล้วจะมีอาการดังนี้
- หยุดชะงัก ไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้
- กรีดร้องหรือร้องไห้
- เข่าอ่อน
- เป็นลม
- หัวใจเต้นเร็วขึ้น
- หายใจถี่
คนที่กลัวหรือเกลียดแมลงสาบแบบสุด ๆ จนอาจเป็นโฟเบีย บางคนแค่เห็นรูปแมลงสาบก็ไม่ได้ มือไม้อ่อน มองแล้วใจสั่นได้เหมือนกัน ซึ่งสาเหตุที่กลัวแมลงสาบขั้นหนักแบบนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากประสบการณ์เลวร้ายที่มีร่วมกับแมลงสาบ เช่น เจอฝูงแมลงสาบหลาย ๆ ตัวอยู่รวมกันแบบใกล้ ๆ เจอแมลงสาบพุ่งเข้าใส่และไต่ไปตามตัว หรือเมื่อตอนยังเด็กเคยเล่นซ่อนแอบ หรือถูกขังในพื้นที่แคบ ๆ ที่ไม่ค่อยสะอาดและมีแมลงสาบอยู่ในนั้นด้วย ทว่าเราก็สามารถหายจากภาวะกลัวแมลงสาบได้นะคะ
การรักษาอาการกลัวแมลงสาบสำหรับคนที่กลัวหนักมากจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เช่น เห็นแมลงสาบอยู่ในห้องน้ำแล้วไม่กล้าเข้าห้องน้ำนั้นอีกเลย ซึ่งถ้าเป็นห้องน้ำในบ้านตัวเองก็จะใช้ชีวิตลำบากน่าดู ดังนั้นหากคุณรู้สึกว่าความกลัวแมลงสาบมันหนักจนใช้ชีวิตประจำวันได้ยาก แนะนำให้ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ซึ่งวิธีรักษาจะเป็นไปตามขั้นตอนและระดับความรุนแรงของผู้ป่วย เช่น เริ่มพูดคุยเรื่องแมลงสาบกับผู้ป่วย จากนั้นก็เขยิบมาดูรูปภาพ ทำให้คุ้นชินกับแมลงสาบมากขึ้น ไปจนถึงขั้นกล้าสัมผัสแมลงสาบปลอม หรือเห็นแมลงสาบตัวจริงแบบไกล ๆ ได้โดยไม่ตระหนก หรือมีอาการโฟเบียกำเริบอีก
อ้อ ! และในต่างประเทศก็เริ่มมีการใช้เทคโนโลยี VR คือ การจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง มารักษาผู้ป่วยโฟเบียแล้วด้วยนะคะ
หากเจอคนกลัวแมลงสาบมาก ๆ อย่าไปแกล้งเขาด้วยแมลงสาบและเห็นเป็นเรื่องขบขัน แต่ขอให้เข้าใจความกลัวที่เขาเป็นอยู่ ส่วนคนที่เช็กอาการแล้วพบว่าไม่ได้กลัวแมลงสาบหนักถึงขั้นโฟเบีย เราก็ขอแสดงความยินดีด้วย นอกจากนี้เราก็มีวิธีกำจัดแมลงสาบมาให้ไปลองจัดการเจ้าปีเตอร์ตัวดีกันค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับแมลงสาบ
- 10 วิธีกำจัดแมลงสาบตัวเล็ก ให้หมดไปจากบ้านเราสักที
- วิธีกำจัดแมลงสาบ ก่อนถูกศัตรูตัวร้ายยึดบ้าน
- 5 หมัดเด็ด ! รับมือกับแมลงสาบบินว่อนสุดยี้
- 7 ที่ดักแมลงสาบทำเอง วิธีกำจัดแมลงสาบไปที่ชอบ ๆ แบบไม่ใช้ความรุนแรง
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, INN, pantip.com, CNA Lifestyle