x close

สทน.ชี้โอกาสไทยเสี่ยงสารกัมมันตรังสี แค่ 0.001%



โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
สทน.ชี้โอกาสไทยเสี่ยงสารกัมมันตรังสี แค่ 0.001%


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            เป็นที่หวาดวิตกกันอย่างมาก จากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นระเบิด จนทำให้สารกัมมันตรังสี อันได้แก่ ไอโอดีน-131 และ ซีเซียม-137 ฟุ้งกระจายออกมาสู่ภายนอก ร้อนถึงคนเอเชียในหลาย ๆ ประเทศวิ่งวุ่นหาซื้อไอโอดีนมาทานป้องกันพิษ ไอโอดีน-131 เป็นการใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยเอง ที่หลายคนเริ่มรู้สึกกลัวว่า จะได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีที่ลอยมาจากแดนอาทิตย์อุทัยด้วยหรือไม่

            ทั้งนี้ ผศ.ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า โอกาสที่สารกัมมันตรังสีจากประเทศญี่ปุ่นจะฟุ้งกระจายมาถึงประเทศไทยนั้น น่าจะมีเพียงแค่ 0.001% เท่านั้น เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ระเบิดได้ถูกดับเครื่องไปแล้ว แตกต่างจากกรณีโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ครั้งนั้นเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง จนทำให้สารกัมมันตรังสีลอยไปไกลหลายพันกิโลเมตร ดังนั้น กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นระเบิดจึงไม่กระทบต่อประเทศไทยมาก แต่ควรจะห่วงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศเวียดนามมากกว่า เพราะอยู่ห่างจากจังหวัดมุกดาหารเพียงแค่ 250 กิโลเมตร จึงต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินไว้ล่วงหน้า

            เช่นเดียวกับนางสาวศิริรัตน์ พีรมนตรี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่ระบุว่า สารกัมมันตภาพรังสีไม่น่าจะฟุ้งกระจายมาถึงประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติก็ได้เฝ้าระวังอยู่อย่างต่อเนื่อง

            ขณะที่ ดร.สุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ ก็เห็นด้วยว่า สารกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่นไม่น่าจะมาถึงประเทศไทย เพราะจุดน้ำทะเลที่ทางญี่ปุ่นตรวจวัดและพบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในปริมาณเข้มข้นนั้น ห่างจากประเทศไทยถึง 5,000 กิโลเมตร จึงเชื่อว่า สารดังกล่าวคงไม่ละลาย หรือไหลมาถึงทะเลไทยอย่างแน่นอน ประกอบกับที่ผ่านมาเกิดฝนตกลงมาเป็นระยะ ๆ น้ำฝนจะช่วยเจือจางความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีลงไปได้อีก แม้ว่าแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเมืองฟูกูชิมะจะหลอมละลายจริง

            พร้อมกันนี้ ดร.สุเมธา ยังกล่าวต่อว่า มนุษย์สามารถรับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง โดยเฉพาะทางอากาศที่คนหายใจเอาฝุ่นกัมมันตรังสีเข้าไป รวมทั้งการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แต่สำหรับผลกระทบต่อผิวหนังนั้น จะเกิดขึ้นหากได้รับปริมาณรังสีมาก ๆ เพราะสารเหล่านี้ไม่ดูดซึมผ่านทางผิวหนังโดยตรง



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สทน.ชี้โอกาสไทยเสี่ยงสารกัมมันตรังสี แค่ 0.001% อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 12:09:23 1,403 อ่าน
TOP