x close

ตามรอยฝุ่น PM2.5 เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำร้ายอะไรเราบ้าง และป้องกันได้อย่างไร

ฝุ่นPM2.5

          ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่สร้างความเสียหายทางสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล คือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม และถ้าฝุ่นนี้มีปริมาณสูงมากในอากาศร่วมกับความชื้นในอากาศ จะทำให้มองดูคล้ายกับมีม่านหมอกควันปกคลุมไปทั่ว 

ฝุ่นPM2.5

          ขนาดที่เล็กมากทำให้สามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบน ลงไปยังหลอดลม ถุงลมปอด และซึมผ่านผนังเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสเลือดแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมายหลายระบบอวัยวะ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ พันธุกรรม อายุ ความแข็งแรง การมีโรคเรื้อรัง ร่วมด้วยสภาพแวดล้อมและระดับความเข้มข้นของ PM2.5 กับระยะเวลาที่สูดเข้าไปในร่างกาย โดยผลกระทบต่อสุขภาพสามารถแบ่งเป็นระยะดังต่อไปนี้

          1. ระยะเฉียบพลัน (ไม่กี่ชั่วโมงถึงสัปดาห์)
          2. ระยะกึ่งเฉียบพลัน (เป็นเดือนถึงหลายเดือน)
          3. ระยะเรื้อรัง (เป็นปีถึงหลายปีหรือชั่วอายุขัย)

          ในระยะเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลัน ระบบที่มีผลกระทบได้เร็วและบ่อยสุดคือ ระบบทางเดินหายใจ เมื่อหายใจเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไป จะรู้สึกแสบจมูก ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ ทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างอักเสบ เช่น โพรงจมูก โพรงไซนัส คอ กล่องเสียง หลอดลม และปอด มีการอักเสบ อาจมีการติดเชื้อซ้ำเติมจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เพราะฝุ่น PM2.5 ทำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอลง ทั้งภูมิต้านทานด่านหน้า (ภูมิต้านทานของเยื่อบุระบบการหายใจ) และภูมิต้านทานด่านหลัง (ภูมิต้านทานผ่านระบบภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองและภูมิต้านทานระบบเซลล์)
 
ฝุ่นPM2.5

          สำหรับผลระยะยาว มลพิษฝุ่น PM2.5 ทำให้อัตราการป่วยและความรุนแรงของโรคเรื้อรังต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน (Stroke) โรคมะเร็งปอด โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแคบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจ เช่น ภูมิแพ้โพรงจมูก หอบหืด ซึ่งโรคต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้อายุขัยของประชากรสั้นลงอีกด้วย
 
ฝุ่นPM2.5

          นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยในหลายประเทศค้นพบความเชื่อมโยงระหว่าง ฝุ่น PM2.5 กับการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่พบว่า แม้คนสุขภาพดี เมื่อหายใจสูด PM2.5 ระดับเข้มข้นเข้าไปเป็นจำนวนมาก จะส่งผลให้ภูมิต้านทานด่านหน้าคือทางเดินหายใจและถุงลมในปอดอ่อนแอลง และภูมิต้านทานด่านหลังคือระบบน้ำเหลืองและระบบเซลล์อ่อนแอลง ทำให้สามารถติดเชื้อไวรัสง่ายขึ้น
 
          การป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM2.5 สามารถทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศในบริเวณที่ตัวเองอยู่อาศัย หากพบว่าวันใดค่า PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน ควรเลี่ยงหรือลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องอยู่นอกอาคาร ควรสวมหน้ากาก N95 ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งเชื้อไวรัสโควิด 19 และฝุ่นจิ๋ว PM2.5
 
ฝุ่นPM2.5

          สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือโรคระบบหายใจเรื้อรัง เช่น หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง กินยาหรือสูดยาตามแพทย์แนะนำ และสอบถามแพทย์ถึงแผนการดูแลตนเองเบื้องต้นหากมีอาการทรุดลง หากพบว่าตนเองและผู้ใกล้ชิดมีปัญหาด้านสุขภาพในช่วงที่มีฝุ่นพิษสูง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและวางแผนทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

          (ข้อมูลโดย ศ. นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดี ๆ จาก สสส. เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
Tiktok: @thaihealth
Youtube: SocialMarketingTH
Website : Social Marketing การตลาดเพื่อสังคม



ตามรอยฝุ่น PM2.5 เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำร้ายอะไรเราบ้าง และป้องกันได้อย่างไร โพสต์เมื่อ 4 เมษายน 2565 เวลา 17:50:23 14,120 อ่าน
TOP