รู้จัก โรคฝีดาษลิง ที่กำลังระบาดในยุโรป-อเมริกา อันตรายแค่ไหน-ติดได้ยังไง

          รู้จักกับโรคฝีดาษลิง ที่กำลังระบาดอยู่ในยุโรปและอเมริกาอยู่ในขณะนี้ อาการเป็นยังไง วิธีรักษาเป็นยังไง หรือบางทีอาจจะต้องปลูกฝีดาษกันอีกรอบ

          การระบาดของโควิด 19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกยาวนานกว่า 2 ปี ทำให้หลายคนเริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับโรคระบาดแปลก ๆ ใหม่ ๆ ว่า มันอาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แม้จะเกิดในต่างประเทศก็ตาม ดังเช่น โรคฝีดาษลิง ที่ตอนนี้กำลังระบาดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปอีกหลายประเทศ มีความเสี่ยงที่จะระบาดทั่วโลกหรือไม่

          ล่าสุด วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ของนายอนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีการโพสต์ถึงโรคฝีดาษลิงว่า ตอนนี้โรคดังกล่าวพบหลายประเทศในยุโรป และอีก 13 เคส ที่แคนาดา โดยแต่ละเคสไม่มีความสัมพันธ์กัน จึงเป็นไปได้ว่า ไวรัสมีการแพร่กระจายสู่มนุษย์สักพักแล้ว หลังจากนี้น่าจะมีการรายงานมากขึ้น

ประเภทของไวรัสฝีดาษลิง

          ฝีดาษลิงมีไวรัส 2 ชนิด แบ่งได้ตามความรุนแรง ซึ่งตัวที่กำลังแพร่อยู่นั้นเป็นสายพันธุ์รุนแรงน้อย อัตราเสียชีวิตเทียบเท่าโควิด-19 ส่วนสายพันธุ์รุนแรง ยังเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกา ความรุนแรงสูงกว่าเทียบเท่ากับ SARS-CoV ตัวแรก

          ส่วนประเภทของไวรัส เป็นตระกูลเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ ในอดีต ปัจจุบันไม่พบไวรัสตัวนี้ในธรรมชาติแล้ว แต่ตัวเชื้อยังมีเก็บรักษาไว้ในห้องแล็บที่มีความปลอดภัยสูงสุด เพราะมันเป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ไว และแพร่ทางอากาศได้ ทำให้คนอนุมานว่า ฝีดาษลิงอาจจะเป็นแบบนั้น โดยยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด

ความจริงของฝีดาษลิง เคยมีมาแล้วในอดีต ไม่ใช่โรคใหม่

          สำหรับโรคฝีดาษลิง มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 หรือประมาณ พ.ศ. 2493 สามารถติดเชื้อในคนได้ แต่ไม่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะช่วงนั้นมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษอยู่แล้ว และภูมิคุ้มกันนี้ก็ป้องกันฝีดาษลิงได้เป็นอย่างดี

          อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่วัคซีนไข้ทรพิษไม่ได้มีการฉีดกันมานานทำให้ภูมิตกลง จึงอาจเป็นสาเหตุที่เกิดการระบาดอีกครั้ง ไม่แน่ว่า อนาคตเราอาจจะต้องกลับมาปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษกันอีกครั้ง

ฝีดาษลิง

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

คนติดโรคฝีดาษลิงได้จากทางไหน

          กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายถึงโรคดังกล่าวว่า คนสามารถติดโรคนี้ได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

          1. สัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ

          2. ถูกสัตว์มีเชื้อกัดข่วน

          3. การกินเนื้อปรุงสุกไม่เพียงพอ

          4. ติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

          5. การแพร่เชื้อจากคนสู่คน แม้มีโอกาสน้อย แต่ก็สามารถติดเชื้อได้ผ่านสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังเป็นตุ่ม อุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

ระยะเวลาฟักเชื้อ อาการ

          เมื่อคนได้รับเชื้อ จะมีระยะฟักตัว 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน โดยตอนแรกจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย

          เมื่อผ่านไป 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดหลุดออกมา อาการป่วยจะมีราว 2-4 สัปดาห์ ปกติผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเองได้ คนที่มีอาการรุนแรงมักพบในเด็ก ในทวีปแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 10

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก โรคฝีดาษลิง ที่กำลังระบาดในยุโรป-อเมริกา อันตรายแค่ไหน-ติดได้ยังไง อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2565 เวลา 21:40:17 127,030 อ่าน
TOP
x close