นพ.มนูญ เตือนนักท่องป่า เข้าโพรงต้นไม้ใหญ่ ระวังป่วยจากเชื้อรามูลค้างคาว ทำปอดมีจุดเพียบ เตือนใครเคยไปควรไปพบแพทย์เพื่อเอกซเรย์เช็กไว้
วันที่ 4 ตุลาคม 2565 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC โพสต์เตือนภัยคนที่ไปท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ บางครั้งอาจจะเคยเห็นโพรงต้นไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งจากนี้ต้องระวังในการเข้าไปเพราะอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีผลให้ปอดได้รับความเสียหาย โดยระบุว่า
โดยต้นไม้ที่มีโพรงนี้ ชื่อไทย "ช้าม่วง" เป็นต้นไม้กลุ่มวงศ์ยาง อายุกว่า 100 ปี สูงกว่า 40 เมตร โพรงต้นไม้นี้เกิดตามธรรมชาติ โพรงแคบ เข้าได้ทีละคน ต้องก้มศีรษะเพื่อเข้าในโพรง มีพื้นที่ในโพรงให้คนเข้าไปได้ 6-7 คน ความสูงของโพรง 3 เมตร เป็นที่พักอาศัยของ "ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก" บริเวณที่ค้างคาวอยู่สูงถึง 5 เมตรจากพื้น ค้างคาวชนิดนี้อาศัยในถ้ำและโพรงต้นไม้ ซึ่งต้นไม้ต้นนี้อยู่ในป่าที่สมบูรณ์ โชคดีไม่เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชม เพราะต้องให้คนในพื้นที่พาเดินเข้าไป อยู่ในบริเวณคลองวังหีบ หนานตากผ้า ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
แนะนำว่าใครที่เคยเข้าไปในโพรงต้นไม้ต้นนี้ โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ควรไปหาแพทย์ขอทำเอกซเรย์ปอด และแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าตัวเองอาจติดเชื้อราที่ก่อโรคฮิสโตพลาสโมซิส คนที่อายุน้อยสุขภาพแข็งแรง แม้ติดเชื้อราแต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หายเองได้ ไม่ต้องรักษา แต่คนที่อายุมากมีโรคประจำตัว ต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา