สิวเห่อ หน้ามัน ขนดก ผมร่วง ประจำเดือนผิดปกติ ที่สาว ๆ เป็นกันเยอะ รู้หรือไม่ ต้นเหตุสำคัญจากฮอร์โมนเพศชายสูงจากภาวะ PCOS

          PCOS หรือภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ อันตรายที่ผู้หญิงเป็นกันเยอะแต่ไม่รู้ตัว แล้วเรามีสัญญาณของโรคนี้อยู่หรือเปล่า รีบเช็กด่วน ๆ

           ถ้าสาว ๆ คนไหนสังเกตว่าช่วงนี้น้ำหนักขึ้นแบบไม่รู้สาเหตุ ไขมันหน้าท้องก็เยอะผิดปกติ ขนก็ดกกว่าเดิม แถมประจำเดือนก็มาบ้างไม่มาบ้าง หรือมาน้อยจนรู้สึกเอะใจ ส่วนผมก็ร่วงเยอะจนตามเก็บแทบไม่ทัน และที่ร้ายที่สุดคงเป็นปัญหาสิว ผิวมัน ที่ใช้เครื่องสำอางตัวไหนก็เอาไม่อยู่ !

           เอ...หรือนี่จะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเรามีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไปจนเกิดภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล ซึ่งอาจเข้าข่ายมีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) หรือซีสต์ในรังไข่ ภัยเงียบที่สาว ๆ หลายคนมักจะไม่ค่อยรู้ตัวกันก็ได้นะคะ

PCOS คืออะไร เกิดจากอะไรได้บ้าง
ภาวะ PCOS

          PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) คือ กลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ และจัดเป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อที่พบได้ในกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุประมาณ 25-35 ปี ซึ่งส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล ทำให้ตกไข่ไม่สม่ำเสมอ และเกิดซีสต์หรือถุงน้ำเล็ก ๆ หลายใบในรังไข่

          อย่างไรก็ตาม สาเหตุของ PCOS ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการมีฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) สูงกว่าฮอร์โมนเพศหญิง หรือเกิดจากความผิดปกติในหลายระบบของร่างกาย เช่น รังไข่ ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง ผิวหนังและไขมันรอบนอกของร่างกาย รวมทั้งภาวะดื้ออินซูลินที่มีแนวโน้มจะเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานได้ในอนาคต ขณะที่ปัจจัยทางพันธุกรรมก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน

เช็กลิสต์อาการ PCOS สังเกตได้จากอะไร
ภาวะ PCOS

          เราสามารถสังเกตอาการที่เป็น 6 สัญญาณบ่งบอกภาวะ PCOS ได้ดังนี้

1. ประจำเดือนมาไม่ปกติ

          สาว ๆ บางคนอาจมีประจำเดือนขาด ๆ หาย ๆ ห่างออกไปนานกว่า 3 รอบประจำเดือน ทั้งที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือมีประจำเดือนมาน้อยมากหลังจากรอบเดือนขาดหายไปนาน แทบจะเรียกได้ว่ามาแบบกะปริบกะปรอย ซึ่งอาการนี้เกิดจากภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังนั่นเอง

2. ขนดก

          เป็นอาการที่พบบ่อยสำหรับผู้ที่มีภาวะ PCOS อาการขนดก สัญญาณเหล่านี้บ่งชี้ว่าร่างกายมีฮอร์โมนไม่สมดุล เพราะมีฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าปกติ โดยเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ รังไข่และต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนเพศชายให้สูงเกินกว่าปกติ จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ กับผู้หญิงที่มีภาวะ PCOS 350 คน พบว่า ครึ่งหนึ่งมีภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ และ 90% ของจำนวนนี้มีอาการขนดก

3. มีไขมันหน้าท้อง อ้วน น้ำหนักขึ้นโดยไม่รู้สาเหตุ

          สาว ๆ อาจจะรู้สึกว่า แม้จะยังกินอาหารเท่าเดิม มีพฤติกรรมเหมือนเดิม แต่ที่ได้เพิ่มเติมมาคือพุงป่อง ๆ จากการสะสมของไขมันหน้าท้อง และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นซะเฉย ๆ ซึ่งการอ้วนลงพุงนี่แหละค่ะ หนึ่งในสัญญาณของภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS ที่มีสาเหตุจากภาวะดื้ออินซูลิน ทั้งยังเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจอีกต่างหาก

4. สิวเห่อ

          อาการสิวเกิดจากผลของการทำงานของฮอร์โมนเพศชายที่สูง ทำให้ไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามากเกินไป จนเกิดสิวทั่วร่างกาย โดยเฉพาะแก้ม คาง หัวไหล่ หลัง เป็นต้น

5. ผิวมัน

           เนื่องจาก PCOS เป็นภาวะที่ฮอร์โมนเพศชายสูง จึงทำให้ต่อมไขมันผลิตไขมันมากเกินไป ทำให้ผิวมันง่าย

6. ผมร่วง ผมบาง

          อาการผมร่วง ผมบาง ที่เกิดจากภาวะ PCOS จะทำให้ผู้หญิงมีผมร่วง และทำให้เกิดศีรษะล้านแบบผู้ชายที่เรียกว่า female pattern hair loss ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการมีฮอร์โมนเพศชายสูง
นี่คือ 6 สัญญาณเตือนว่าเรามีโอกาสเป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ PCOS และถ้าหากเราปล่อยไว้นานไม่รักษาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนดังนี้

1. ภาวะมีบุตรยาก

         ผู้หญิงที่มีภาวะ PCOS จะมีบุตรยากพ่วงเป็นเงาตามตัวมาด้วย เนื่องจากปัญหาการตกไข่ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นคนที่พยายามจะตั้งครรภ์มาทุกวิถีทางแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จดังใจหวัง ก็อยากให้ถึงนึกภาวะ PCOS ที่อาจเป็นต้นเหตุสำคัญไว้สักหน่อย

2. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

          หากมีภาวะ PCOS แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ รวมไปถึงอาจเสี่ยงโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ในอนาคต

3. โรคเบาหวาน

           ผู้ที่มี PCOS เป็นเวลานานจะเสี่ยงต่อภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้
           อย่างไรก็ตาม ภาวะ PCOS เป็นเรื่องที่ไม่ควรวางใจเด็ดขาด เพราะหากมีอาการรุนแรงอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และโรคมะเร็งเต้านมได้ ขณะเดียวกันยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ที่เป็นต้นเหตุของโรคร้ายอื่น ๆ ได้ในอนาคต ฉะนั้นเมื่อรู้ตัวว่ามีความเสี่ยง PCOS รีบหาทางรักษาจะดีที่สุดค่ะ
PCOS เป็นแล้วควรทำยังไงดี
ภาวะ PCOS

          ถ้าสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองแล้วค่อนข้างจะตรงกับอาการของ PCOS คือ มักมีประจำเดือนมาไม่ปกติ ขนดก หน้ามัน สิวเห่อ มีไขมันหน้าท้อง อ้วนขึ้น ผมร่วงเยอะมาก แนะนำให้ดูแลตัวเอง ดังนี้

● ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับมาตรฐาน โดยรักษาค่า BMI ให้อยู่ในช่วง 18.5-22.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร หรือมีความหนาของรอบเอวไม่เกิน 80 เซนติเมตร 

● เน้นรับประทานผัก ผลไม้ แป้งไม่ขัดสี พร้อมกับลดการรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (GI) สูง เช่น น้ำหวาน ของหวาน ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ต่าง ๆ จะได้ไม่กระตุ้นอาการ PCOS

● เสริมวิตามิน เช่น วิตามินดี แมกนีเซียม แคลเซียม และโอเมก้า 3 

● หมั่นออกกำลังกายเพื่อลดภาวะดื้ออินซูลิน

● นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

● พยายามทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด เพราะความเครียดทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล อาจส่งผลให้เกิดภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบได้

           นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีรักษาอาการฮอร์โมนเพศชายสูงจากภาวะ PCOS ด้วยการใช้ยาปรับฮอร์โมนรวม (เอสโตรเจนและโปรเจสติน) ซึ่งโปรเจสตินมีบทบาทสำคัญในฮอร์โมนรวม เพราะออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย โดยโปรเจสตินตัวที่ชื่อ ไซโปรเตอโรน อะซีเตท (Cyproterone acetate) เป็นตัวที่ลดปริมาณฮอร์โมนเพศชายได้มากกว่าโปรเจสตินตัวอื่น ๆ จากการศึกษา1 นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มผู้หญิงที่มีภาวะ PCOS พบว่า การกินฮอร์โมนรวมที่มีไซโปรเตอโรน อะซีเตท (Cyproterone acetate) ช่วยลดอาการสิว ผิวมัน ขนดก ได้อย่างชัดเจน1-2
ภาวะ PCOS

          ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรมองข้าม ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเอง และหากพบว่ามีอาการประจำเดือนผิดปกติ ผมร่วงเยอะ ขนดก เป็นสิว หน้ามัน สามารถเลือกใช้ยาปรับฮอร์โมนเพื่อบรรเทาอาการ PCOS จากต้นเหตุได้ เนื่องจากยาปรับฮอร์โมนในท้องตลาดมีเยอะ จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีผลงานวิจัยรับรองและมีบ่งชี้ในเอกสารกำกับยาชัดเจน ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้ แต่อย่าลืมปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาทุกครั้งนะคะ ส่วนใครที่สนใจอยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะ PCOS และการใช้ยาปรับฮอร์โมน ลองเข้าไปอ่านความรู้ดี ๆ ที่เพจ เฟซบุ๊ก คลับนี้เลดี้คุม by Young Love ได้เลยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก :
1. A.E. Schindler / European Journal of Obstetrics & Gynecology and Reproductive Biology 112 (2004) 136–141
2. Cem Batukan, “Comparison of two oral contraceptives containing either drospirenone or cyproterone acetate in the treatment of hirsutism” Gynecological Endocrinology, January 2007; 23(1): 38–44
เฟซบุ๊ก คลับนี้เลดี้คุม by Young Love, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลเพชรเวช, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (1), (2), โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, healthline.com, webmd.com
 

PP-PF-WHC-TH-0433-1 (10/2022)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สิวเห่อ หน้ามัน ขนดก ผมร่วง ประจำเดือนผิดปกติ ที่สาว ๆ เป็นกันเยอะ รู้หรือไม่ ต้นเหตุสำคัญจากฮอร์โมนเพศชายสูงจากภาวะ PCOS อัปเดตล่าสุด 10 ตุลาคม 2565 เวลา 15:56:40 10,706 อ่าน
TOP