หลายคนอาจได้ยินข่าวการเสียชีวิตของ น้องกาว นางสาวสโรชา เนียมบุญนำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า น้องกาว เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้คนอยากรู้จักเจ้าโรคนี้ว่าร้ายกาจแค่ไหน ทำไมเป็นแล้วจึงเสียชีวิตได้ วันนี้ เราจึงนำข้อมูลดี ๆ จากเว็บไซต์หมอชาวบ้านมาบอกกัน
- ชื่อภาษาไทย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ชื่อภาษาอังกฤษ Meningitis
สาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่
1. เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญ เช่น
- เชื้อวัณโรค (ทีบี) มักพบในผู้ป่วยเอดส์
- เชื้อเมนิงโกค็อกคัส (meningococcus) ซึ่งเป็นสาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีชื่อเรียกว่า "ไข้กาฬหลังแอ่น"
2. เชื้อไวรัส
3. เชื้อรา เช่น เชื้อราคริปโตค็อกคัส (crypto-coccus) ซึ่งพบบ่อยในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์
4. พยาธิ ที่พบบ่อยในบ้านเรา ก็คือ พยาธิแองจิโอสตรองไจลัส (angiostrongylus cantonensis) ซึ่งอยู่ในหอยโข่ง พบมากทางภาคกลางและภาคอีสาน
หนทางของการติดเชื้อ
1. ทางเดินหายใจ เช่น เชื้อทีบี เชื้อเมนิงโก-ค็อกคัส เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการไอ จาม หายใจรดกัน ไปอยู่ในทางเดินหายใจ (ลำคอ ปอด) แล้วผ่านกระแสเลือดเข้าไปในสมอง
2. ทางเดินอาหาร เช่น พยาธิแองจิโอสตรอง ไจลัส เข้าสู่ร่างกายโดยการกินหอยโข่งดิบ ไปอยู่ในกระเพาะลำไส้ แล้วเข้าสู่กระแสเลือด ขึ้นไปที่สมอง
3. แพร่กระจายผ่านกระแสเลือด โดยเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อของอวัยวะต่าง ๆ (เช่น ปอดอักเสบ กระดูกอักเสบเป็นหนอง) กระจายเข้าสู่กระแสเลือด แพร่ไปที่สมอง
4. เชื้อลุกลามจากบริเวณใกล้สมอง เช่น ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อของหูชั้นกลาง (หูชั้นกลางอักเสบ) หรือไซนัส (ไซนัสอักเสบ) เมื่อเป็นเรื้อรัง เชื้ออาจลุกลามผ่านกะโหลกศีรษะที่ผุกร่อนเข้าไปในสมอง หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีกะโหลกศีรษะแตก จากการบาดเจ็บ เชื้อโรคจากภายนอกอาจเข้าไป ในสมองโดยตรง จนเกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง
อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมักมีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนมาก และคอแข็ง (คอแอ่นไปข้างหลัง และก้มไม่ลง) ผู้ป่วยมักจะบ่นปวดทั่วศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีการเคลื่อนไหวของศีรษะ (เช่น ก้มศีรษะ) ซึ่งมักจะปวดติดต่อกันหลายวัน กินยาแก้ปวดไม่ทุเลา
ส่วนอาการไข้ อาจมีลักษณะไข้สูงตลอดเวลา หรือไข้เป็นพัก ๆ ถ้าเกิดจากพยาธิอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้ก็ได้ ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย สับสน ซึมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดสติ นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการกลัวแสง เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก แขนขาเป็นอัมพาต หรือชักติดต่อกันนาน ๆ
ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อาการอาจไม่ค่อยชัดเจน อาจมีไข้ กระสับกระส่าย ร้องไห้เสียงแหลม อาเจียน ชัก กระหม่อมหน้าโป่งตึง อาจไม่มีอาการคอแข็ง (ก้มคอไม่ลง)
ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกค็อกคัส อาจมีผื่นแดงจ้ำเขียวขึ้นตามผิวหนังร่วมกับอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน หลังแอ่น คอแอ่นคอแข็ง ชาวบ้านเรียกว่า "ไข้กาฬหลังแอ่น" (แปลว่า ไข้ออกผื่นร่วมกับหลังแอ่นหรือคอแอ่น) โรคนี้อาจพบระบาดได้
ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค หรือเชื้อรา มักมีอาการไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนนำมาก่อนประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต่อมาจึงมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง คอแข็ง และอาจมีอาการชักร่วมด้วย มักพบในผู้ที่ป่วยเป็นโรคเอดส์
การแยกโรค
เนื่องจาก โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอาการที่คล้ายกับโรคหลายอย่าง จึงต้องมีการวินิจฉัยแยกโรคให้ถูกต้อง โดย
1. ไข้สมองอักเสบ (encephalitis) ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ซึม หมดสติ บางคนอาจมีอาการชักติด ๆ กันนาน ๆ แต่ไม่มีอาการคอแข็งแบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
2. มาลาเรียขึ้นสมอง ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ซึม หมดสติหรือชักแบบไข้สมองอักเสบ มักมีประวัติเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขามาก่อนจะไม่สบาย
3. บาดทะยัก ผู้ป่วยจะมีบาดแผลตามผิวหนัง (เช่น ตะปูตำ หนามเกี่ยว บาดแผลสกปรก) ต่อมามีไข้ ปากแข็ง (อ้าปากไม่ได้ ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ) ต่อมามีอาการชักกระตุกเป็นพัก ๆ เวลาสัมผัสถูก ได้ยินเสียงดัง ๆ หรือเห็นแสงสว่าง ผู้ป่วยมักมีความรู้สึกตัวดี
4. โรคพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยมักมีประวัติถูกสุนัข แมว หรือสัตว์ป่ากัดหรือข่วนมาก่อน 1-3 เดือน ต่อมามีอาการไข้ ปวดศีรษะ กลัวลม กลัวน้ำ กระสับกระส่าย ชักเกร็ง ซึม หมดสติ
5. โรคลมชัก ผู้ป่วยมักมีอาการอยู่ ๆ ชักกระตุก หมดสติ น้ำลายฟูมปาก อาจกัดลิ้นตัวเองเป็นอยู่สักพักหนึ่งก็หยุดชัก แล้วค่อยๆ ฟื้นคืนสติได้เอง มักมีประวัติชักแบบนี้เป็นครั้งคราวเวลาร่างกาย เหนื่อยล้า อดนอน หิวข้าว ถูกแสงสว่าง ได้ยินเสียงดัง ๆ เป็นต้น
6. ชักจากไข้ พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ขวบ เด็กจะมีอาการไข้สูงจากโรคติดเชื้อ (เช่น ไข้หวัด คออักเสบ ปอดอักเสบ เป็นบิด) แล้วมีอาการชักเกร็งของแขนขา ตาค้าง น้ำลายฟูมปาก อาจกัดลิ้นตัวเอง ขณะชักจะไม่ค่อยรู้สึกตัว มักเป็นอยู่เพียงไม่กี่นาที (ส่วนน้อยอาจชักนานเกิน 15 นาที) ก็หยุดชัก แล้วค่อย ๆ ฟื้นคืนสติได้เอง อาจมีประวัติเคยมีอาการชักจากไข้มาก่อน หรืออาจมีพ่อแม่หรือพี่น้องมีประวัติชักจากไข้คล้าย ๆ กัน
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรคนี้ให้แน่ชัด ต้องอาศัยการตรวจพิเศษต่าๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเจาะหลัง โดยแพทย์จะใช้เข็มและอุปกรณ์เฉพาะ ทำการเจาะหลัง นำน้ำไขหลังไปตรวจหาเชื้อ และสารเคมี เพื่อแยกแยะสาเหตุ ในกรณีที่สงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วย (เช่น เอดส์ วัณโรคปอด) ก็อาจทำการเอกซเรย์ ตรวจเลือดและอื่น ๆ ร่วมด้วย
การดูแลตนเอง ผู้ป่วยที่มีอาการชักทุกคน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามี ไข้สูง ซึม หมดสติ คอแข็งร่วมด้วย
ยกเว้นเด็ก (อายุ 6 เดือน ถึง 5 ขวบ) ที่เคยมีประวัติชักจากไข้มาก่อน และคราวนี้ก็มีอาการชักจากไข้คล้าย ๆ กัน ก่อนพบแพทย์ก็อาจให้การปฐมพยาบาล กินยาลดไข้ และยากันชักตามคำแนะนำของแพทย์
การรักษา
เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น
- ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่พบ
- ถ้าเกิดจากเชื้อวัณโรค จะให้ยาฆ่าเชื้อวัณโรค นาน 6-9 เดือน
- ถ้าเกิดจากเชื้อรา จะให้ยาฆ่าเชื้อรา
- ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาจำเพาะ จะให้การรักษาตามอาการ ซึ่งมักจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์
ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีผลแทรกซ้อนทางสมองตามมา เช่น แขนขาเป็นอัมพาต หูหนวก ตาเหล่ ปากเบี้ยว โรคลมชัก (ลมบ้าหมู) สมองพิการ ปัญญาอ่อน ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) เป็นต้น
การดำเนินโรค
ถ้าเป็นไม่รุนแรง และได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม มักจะหายขาดได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน
แต่ถ้าเป็นรุนแรง หรือได้รับการรักษาช้าไป อาจตายหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองอย่างถาวรได้
การป้องกัน
1.ป้องกันไม่ให้เป็นวัณโรค โดยการฉีดวัคซีน บีซีจีตั้งแต่แรกเกิด
2.ป้องกันไม่ให้เป็นโรคพยาธิแองจิโอสตรอง-ไจลัส โดยการไม่กินหอยโข่งดิบ
3.ถ้าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ ควรรักษาอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้เป็น เรื้อรังจนเชื้อเข้าสมอง
4.ในกรณีที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่น ควรป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยการกินยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ไรแฟมพิซิน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก