x close

ไซยาไนด์ออกฤทธิ์แล้วมีอาการอย่างไร ควรแก้พิษไซยาไนด์อย่างไรให้รอดตาย

          ไซยาไนด์ กลายเป็นสารพิษที่ตอนนี้ทุกคนรู้ถึงความอันตรายกันถ้วนหน้า และอาจระแวงอยู่บ้างว่าจะมีวันไหนที่เราได้เจอไซยาไนด์ไหม เพราะฉะนั้นมาศึกษาวิธีแก้พิษติดตัวกันไว้ดีกว่า
พิษไซยาไนด์

          ไซยาไนด์ มีพิษที่อันตรายต่อชีวิตในเวลาอันสั้นกับร่างกายของมนุษย์เรา ไม่ว่าจะแค่สูดดมหรือรับประทานเข้าไปก็อาจเสียชีวิตได้ในไม่กี่นาที หรือหากเจอสารตัวนี้ในปริมาณเข้มข้นมาก ๆ ก็อาจเสียชีวิตได้ในหลักวินาทีเลยทีเดียว และจากกรณีที่มีการใช้พิษไซยาไนด์ไปก่อเหตุฆาตกรรม ก็ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มหาวิธีแก้พิษไซยาไนด์ เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ไปเจอกับคนที่โดนพิษตัวนี้ไหม และถ้าเจอขึ้นมาเราจะช่วยเขาอย่างไรให้มีโอกาสรอดชีวิตได้ ซึ่งวันนี้เราก็นำข้อมูลการปฐมพยาบาลเมื่อโดนพิษไซยาไนด์มาฝาก พร้อมพามารู้จักสารเคมีอันตรายชนิดนี้กันอีกที

ไซยาไนด์ คืออะไร

ไซยาไนด์

         ไซยาไนด์ (Cyanide) คือ ชื่อของสารประกอบที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรม มีทั้งแบบเกล็ดของแข็งผลึกสีขาว ของเหลวสีใส และแบบเป็นก๊าซ โดยจะถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ Free Cyanide, Simple Cyanide, Complex Cyanide, Total Cyanide และ Cyanide Related Compound ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีวัตถุประสงค์ในการใช้แตกต่างกัน เช่น สารในกลุ่ม Simple Cyanide (โซเดียมไซยาไนด์ โพแทสเซียมไซยาไนด์ ในรูปเกลือไซยาไนด์) จะใช้ทำความสะอาดโลหะ การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า การสกัดแร่ทองและเงินออกจากสินแร่ หรือใช้เป็นวันถุดิบในการย้อมสี เป็นต้น 

          อย่างไรก็ตาม หากนำสารในกลุ่ม Simple Cyanide ข้างต้นมาละลายน้ำ จะเกิดการแตกตัวออกเป็นสารในกลุ่ม Free Cyanide ซึ่งมีความเป็นพิษสูงมาก 

          นอกจากนี้ยังมีไซยาไนด์อีกส่วนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด เช่น แอปเปิล มันสำปะหลังดิบ หน่อไม้ดิบ แต่มีปริมาณเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม แนะนำให้นำมันสำปะหลังและหน่อไม้ฝรั่งไปปรุงสุกก่อนรับประทาน เพราะเมื่อผ่านความร้อนแล้ว ปริมาณไซยาไนด์จะลดลงและถูกขับออกทางปัสสาวะได้

ไซยาไนด์ มีประโยชน์อย่างไร

ไซยาไนด์

          ไซยาไนด์เป็นสารเคมีอันตรายที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ การผลิตพลาสติก และใช้ในอุตสาหกรรมการถลุงโลหะ หรือเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาขัดเงาโลหะ น้ำยาทำความสะอาดเครื่องเพชรหรือพลอย เป็นต้น

          โดยไซยาไนด์จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ผู้ที่ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ทั้งนี้ ต้องย้ำกันอีกทีว่าไซยาไนด์เป็นสารเคมีอันตราย และร่างกายก็รับสารพิษชนิดนี้ได้หลายช่องทาง ทั้งการสูดดม การสัมผัสทางผิวหนัง และทางปาก ซึ่งหากพลาดพลั้งได้รับไซยาไนด์เข้าร่างกายก็อาจมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่นาน

ไซยาไนด์ โดนแล้วจะมีอาการเป็นอย่างไร

พิษไซยาไนด์

          หากร่างกายได้รับสารไซยาไนด์ พิษจะเข้าไปยับยั้งกระบวนการหายใจระดับเซลล์ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ มีภาวะขาดออกซิเจน จึงส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ ดังนี้

  • ปวดศีรษะ สับสน มึนงง
  • ใจสั่น กระวนกระวาย
  • หน้าแดง ผิวแดง (cherry-red) หรือมีผิวม่วงคล้ำได้ เพราะออกซิเจนในหลอดเลือดดำสูง  
  • หากเกิดพิษจากการสูดดมสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ ลมหายใจจะมีกลิ่นอัลมอนด์
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ระคายเคืองผิวบริเวณที่สัมผัส
  • ซึมหรือชัก
  • แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • ความดันโลหิตสูง ก่อนจะทำให้หัวใจเต้นช้าลง ตามด้วยความดันโลหิตตก
  • หมดสติ
  • หากได้รับในปริมาณมาก ๆ อาจเสียชีวิตเฉียบพลัน จากระบบการทำงานของหัวใจ การไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว
          ทั้งนี้ อาการและความรุนแรงจากพิษไซยาไนด์อาจจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณสารที่ได้รับและการสัมผัสสารพิษ อย่างโดนผิวหนังก็อาจมีอาการระคายเคืองหลังจากสัมผัสสารพิษภายในหลักนาที หรือไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่หากสูดดมเข้าไปอาจมีอาการผิดปกติได้ภายในไม่กี่วินาที และหากรับประทานเข้าไปในปริมาณ 15 มิลลิกรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลา 6-10 นาทีเลยทีเดียว

วิธีแก้พิษไซยาไนด์

ล้างมือ

          หากโดนพิษไซยาไนด์ หรือเจอผู้ได้รับพิษไซยาไนด์ เราสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ดังนี้

          1. หากเกิดจากการสัมผัส ควรรีบถอดชุดที่เปื้อนสารออกทันที โดยใช้กรรไกรตัดผ้าออกเป็นชิ้น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังส่วนอื่น ๆ โดนสารพิษไปด้วย และรีบล้างตัวด้วยน้ำและสบู่โดยเร็ว จากนั้นรีบไปโรงพยาบาล ทั้งนี้ ผู้ช่วยเหลือต้องสวมชุดและหน้ากากเพื่อป้องกันตัวเองด้วย

          2. หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ควรออกจากพื้นที่นั้นโดยเร็วที่สุด แต่หากผู้ประสบเหตุหมดสติ ให้กู้ชีพด้วยการ CPR โดยห้ามเป่าปากผายปอดเด็ดขาด เพราะผู้ช่วยเหลืออาจได้รับพิษไปด้วย และรีบนำตัวไปโรงพยาบาลโดยเร็ว

          3. หากสัมผัสทางดวงตา ให้ถอดคอนแทคเลนส์ออก (ถ้ามี) แล้วใช้น้ำสะอาดล้างตาอย่างน้อย 10 นาที และรีบไปโรงพยาบาล
      
          4. หากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนไซยาไนด์ ให้รีบล้างปาก และห้ามทำให้อาเจียนเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไซยาไนด์ดูดซึมอย่างรวดเร็ว จากนั้นควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

          ไม่ว่าจะพลาดพลั้งได้รับสารไซยาไนด์เองหรือพบเจอคนที่โดนสารพิษไซยาไนด์ เราก็สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามวิธีเหล่านี้ได้ และควรรีบทำให้ไว พร้อมกับรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดด้วยนะคะ

วิธีรักษาเมื่อรับสารไซยาไนด์เข้าร่างกาย

วิธีแก้พิษไซยาไนด์

          วิธีรักษาหรือแก้พิษไซยาไนด์ ทางการแพทย์จะมียาแก้พิษ (Antidote) คือ ยาฉีดไฮดรอกโซโคบาลามิน (Hydroxocobalamin) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินบี 12 เพื่อเปลี่ยนไซยาไนด์ให้เป็นไซยาโนโคบาลามิน (Cyanocobalamin) ขับออกทางปัสสาวะ หรือ ให้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ที่จะเข้าไปเปลี่ยนสารไซยาไนด์ให้กลายเป็นไทโอไซยาเนต (Thiocyanate) ที่เป็นสารที่มีพิษน้อยกว่าและถูกขับออกทางปัสสาวะได้อย่างปลอดภัย 

          นอกจากนี้ยังมียาฉีดโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการแก้พิษจากไซยาไนด์ ทว่าการรักษาด้วยสารเหล่านี้ก็อาจเกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น สีผิวหนังเปลี่ยน ปัสสาวะมีสีแดง 2-3 วัน หรือในกรณีที่ใช้โซเดียมไนไตรท์ อาจมีอาการข้างเคียงเป็นความดันโลหิตตก ชีพจรเต้นเร็ว ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้ เนื่องจากสารชนิดนี้ก็เป็นพิษเช่นกัน แต่มีพิษน้อยกว่าไซยาไนด์

          อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่สัมผัสไซยาไนด์ หากรอดชีวิตก็อาจมีอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน เนื่องจากสมองส่วนเบซัลแกงเกลีย (Basal ganglia) ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวถูกทำลายถาวร

          วิธีแก้พิษไซยาไนด์สามารถทำได้ตามข้อมูลที่เรานำเสนอไปข้างต้น แต่ทั้งนี้หัวใจสำคัญของการรอดชีวิตเมื่อถูกพิษไซยาไนด์ คือการถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรืออย่างน้อย ๆ ก็ควรจำอาการหลังโดนพิษไซยาไนด์เอาไว้ให้ขึ้นใจ จะได้นึกเอะใจแล้วไปโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที 

บทความที่เกี่ยวข้องกับไซยาไนด์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไซยาไนด์ออกฤทธิ์แล้วมีอาการอย่างไร ควรแก้พิษไซยาไนด์อย่างไรให้รอดตาย อัปเดตล่าสุด 5 พฤษภาคม 2566 เวลา 23:39:49 26,801 อ่าน
TOP