จิงจูฉ่ายเป็นสมุนไพรจีนที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก เจอได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ต้มเลือดหมู หรือต้มจืด เพราะสรรพคุณเขาดี ช่วยลดกลิ่นคาว แถมยังรักษาได้หลายอาการ
ใครที่เคยสั่ง "เกาเหลาเลือดหมู" มารับประทาน เคยสงสัยกันไหมว่า ในชามเกาเหลาของเราจะมีผักสีเขียวชนิดหนึ่ง ที่ไม่ใช่ผักกาดหอม ขึ้นฉ่าย หรือใบตำลึง ใส่ชามมาด้วย หลายคนไม่ทราบว่าเจ้าผักชนิดนี้มีชื่อเรียกว่าอะไร แต่เจ้านี่แหละค่ะที่เรียกว่า "จิงจูฉ่าย" ผักสมุนไพรจีนสรรพคุณดีที่เราอยากบอกต่อ
จิงจูฉ่าย สมุนไพรสัญชาติจีน
จิงจูฉ่าย แค่ชื่อก็บอกสัญชาติได้ว่ามาจากจีน โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่มณฑลกุ้ยโจว แต่ถ้าต่างประเทศจะเรียกผักชนิดนี้ว่า White mugwort หรือ Celery เพราะลักษณะจิงจูฉ่ายคล้าย ๆ ขึ้นฉ่ายฝรั่ง แต่ต้นเล็กกว่า ดูไปดูมาก็เหมือนขึ้นฉ่ายที่เราคุ้นเคย แต่ใบจะสีเข้มกว่ามาก และจิงจูฉ่ายมีกลิ่นหอมคล้าย ๆ ตั้งโอ๋ จากน้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ในลำต้น
จิงจูฉ่าย มีชื่อภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า Artemisia lactiflora ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Apium graveolens L. ลักษณะต้นจิงจูฉ่ายจะเป็นกอคล้ายใบบัวบก ใบเป็นรูปรี ขอบเป็นแฉกสีเขียว 5 แฉก เนื้อใบหนา เหง้ามีขนาดใหญ่ ขยายพันธ์ง่าย ๆ ด้วยเมล็ด เจริญงอกงามได้ดีในที่ที่มีแสงแดดรำไร ชื้น ดินโปร่งแต่ไม่แฉะ ชอบอากาศเย็นมากกว่าอากาศร้อน เกษตรกรนิยมปลูกจิงจูฉ่ายกันพอสมควร เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้กำไรดีพอสมควรเลย
จิงจูฉ่าย คุณค่าทางโภชนาการดีงาม
คุณค่าทางโภชนาการของจิงจูฉ่ายมีไม่น้อยทีเดียวค่ะ ในปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 392 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยสารอาหารนานาชนิด ได้แก่ โปรตีน, ไขมัน, คาร์โบไฮเดรต, เส้นใย, แคลเซียม, เหล็ก, ฟอสฟอรัส, วิตามินเอ, วิตามินบี6, วิตามินซี และวิตามินอี
จิงจูฉ่าย สรรพคุณดียังไง
1. ปรับสมดุลความดันโลหิต
น้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ในลำต้นและใบของจิงจูฉ่าย ประกอบด้วยสารไลโมนีน ซิลนีน และสารกลัยโคไซด์ที่มีชื่อว่า อะปิอิน ซึ่งสารเหล่านี้มีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลความดันโลหิตได้
2. ขับลมในกระเพาะและลำไส้
นอกจากจะช่วยปรับสมดุลความดันโลหิตแล้ว น้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ในลำต้นและใบของจิงจูฉ่ายยังมีสรรพคุณขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ พร้อมทั้งมีส่วนกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร โดยปัจจุบันมีการนำจิงจูฉ่ายมาทำเป็นชาสมุนไพรเพื่อให้ดื่มได้ง่ายขึ้นด้วย
3. บำรุงปอด ฟอกเลือด
จิงจูฉ่ายมีฤทธิ์เย็น ช่วยบำรุงปอด ฟอกเลือด กระตุ้นเลือดลมให้ไหลเวียนได้สะดวก คนจีนจึงนิยมนำผักชนิดนี้มาปรุงเป็นอาหารรับประทานในหน้าหนาว เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ปรับสมดุลให้ร่างกายให้ไม่ป่วยง่าย
4. แก้ประจำเดือนไม่ปกติ
ด้วยสรรพคุณในการช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ช่วยฟอกเลือด จิงจูฉ่ายจึงมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติของสาว ๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วยนะคะ
5. ช่วยดับพิษ แก้อักเสบ
สารสำคัญในจิงจูฉ่ายมีสรรพคุณดับพิษ แก้อักเสบ แก้ผิวหนังเป็นฝี ตุ่ม หรือผื่นคันได้ เพราะในจิงจูฉ่ายก็มีสารต้านอนุมูลอิสระไม่น้อยเลยเหมือนกัน ทั้งสารฟลาโวนอยด์ เบต้าแคโรทีน ไรโบฟลาวิน และวิตามินซี เป็นต้น
6. ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย
เมื่ออุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด จิงจูฉ่ายจึงมีสรรพคุณช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย แถมยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดีขึ้นด้วย
7. เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมาลาเรีย
จิงจูฉ่ายมีสารสำคัญที่ชื่อว่า อาร์ทีมิซินิน (Artemisinin) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคไข้มาลาเรียได้
8. ยับยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง
มีหลายงานวิจัยที่พบว่า สารในจิงจูฉ่ายสามารถป้องกันและยับยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็งได้ แต่อย่างไรก็ตาม การวิจัยเรื่องจิงจูฉ่ายกับมะเร็งยังคงอยู่ในระดับห้องทดลองเท่านั้น และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าจิงจูฉ่ายรักษามะเร็งในคนได้ ดังนั้น ไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อหวังผลการรักษาโรคมะเร็ง
จิงจูฉ่าย ทำเมนูอะไรได้บ้าง
จิงจูฉ่ายมีกลิ่นหอม และมีรสขมเล็กน้อย นอกจากจะนำมาดับคาวเครื่องในในต้มเลือดหมูแล้ว เรายังสามารถนำจิงจูฉ่ายมาใส่ผัดผัก ไข่เจียว ใส่ในแกงจืด แกงส้ม หรือกินแกล้มน้ำพริก รวมทั้งนำมาคั้นสด ๆ ดื่มเป็นน้ำจิงจูฉ่าย หรือชาจิงจูฉ่าย ก็ยังได้
จิงจูฉ่ายกับข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน เพราะเสี่ยงต่อการแท้ง หรืออาจมีอันตรายกับทารก
- คนเป็นความดันต่ำควรหลีกเลี่ยงการกินจิงจูฉ่าย ที่อาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดลงจนถึงขีดอันตราย
แม้จะขึ้นชื่อว่าสมุนไพร แต่ก็มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอยู่ด้วย ดังนั้นก่อนจะกินจิงจูฉ่ายหรือสมุนไพรชนิดใดก็ตามเป็นเวลานาน ๆ หรือในปริมาณมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เราอาจคาดไม่ถึง
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 27 สิงหาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน, ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, มูลนิธิโครงการหลวง, theasianparent