x close

เมื่อหนึ่งผู้กำกับและหนึ่งสถาปนิกเหมือนมีชีวิตใหม่ด้วยการวิ่ง

สสส.

          เรื่องราวของชายสองคนต่อไปนี้มีจุดเริ่มต้นต่างกัน คนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากแผ่นฟิล์ม กับอีกคนได้รับแรงเตือนจากร่างกาย แต่สุดท้าย ทำไมต่างมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ สนามวิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา

เมื่อแรงบันดาลใจสร้างแรงบันดาลกาย
    
          “ถ้าคุณอยากวิ่ง คุณวิ่งกิโลเดียวก็พอ แต่ถ้าคุณอยากพบชีวิตใหม่ คุณค่อยมาวิ่งมาราธอน” เชื่อว่าประโยคนี้จากภาพยนตร์เรื่องรัก 7 ปี ดี 7 หน ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน แต่สำหรับ บอล-วิทยา ทองอยู่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ดังอย่าง แฟนฉัน, เก๋า..เก๋า, บ้านฉัน...ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้), น้อง.พี่.ที่รัก ประโยคนี้เป็นมากกว่าความทรงจำ แต่เป็นแรงผลักให้เขาเริ่มต้นวิ่งจนทุกวันนี้

สสส.

          “เริ่มวิ่งครั้งแรกช่วงที่บริษัททำภาพยนตร์เรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หน แล้วเกิดกระแสภายในบริษัท หลังเลิกงานจะชวนกันไปวิ่ง แรก ๆ เหนื่อยมาก เพราะตั้งแต่สมัยเรียน การออกกำลังกายอย่างมากก็เตะบอลกับเพื่อน แต่พอโตขึ้นก็ไม่ค่อยได้ออกกำลัง เพราะนัดรวมเพื่อนยาก”

          อย่างไรก็ตาม พอภาพยนตร์ลาโรง กระแสการวิ่งภายในบริษัทก็จางลง เขาก็เริ่มวิ่งบ้างไม่วิ่งบ้าง จนกระทั่งมาเจอจุดเปลี่ยนสำคัญ

จุดเปลี่ยนอยู่ด้านหลัง

สสส.

          “จู่ ๆ ปวดหลังมาก แทบนั่งไม่ได้ ต้องยืน คิดว่าเกิดจากนั่งทำงานท่าเดียวนาน ๆ เลยลองกลับมาวิ่ง พอวิ่งก็หายปวดหลัง ตั้งแต่นั้นก็วิ่งอย่างสม่ำเสมอ แต่คราวนี้จริงจังขึ้น มีเป้าหมาย ลงสมัครแข่งสนามแรก 21 กิโลเมตร ตอนนั้นคิดว่าถ้าไม่ไหวก็จะเดิน จำได้ว่าตอนเข้าเส้นชัยสำเร็จรู้สึกฟินมาก แต่วันต่อมาก็แทบเดินไม่ได้ เพราะตอนนั้นยังไม่ได้ซ้อมอย่างมีระบบ”

ตั้งเป้าไว้ แล้วไปให้ถึง

สสส.

          ไม่ว่าใครก็ตาม ก่อนจะเข้าเส้นชัยได้ ทุกคนต้องเคยเป็นนักวิ่งหน้าใหม่มาก่อน และปัญหาสากลของนักวิ่งหน้าใหม่ก็คือ การผลักตัวเองให้หลุดออกจากความเบื่อ ความท้อจากการเริ่มวิ่งช่วงแรก ซึ่งต่อไปนี้คือเทคนิคส่วนตัวที่เอามาแชร์ให้ฟัง

          “ให้ท้าทายตัวเอง เช่น ใน 1 ปี วิ่งสะสมให้ครบ 500 กิโลเมตร แล้วก็ลองท้าทายคนอื่นด้วย อย่างใช้แอปพลิเคชันบันทึกสถิติวิ่งของเรา เอาไปเทียบแข่งกับเพื่อน จะรู้สึกสนุกมีแรงฮึด ถึงขั้นพกกางเกงวิ่งติดกระเป๋า เอาไว้ที่ออฟฟิศ จะได้พร้อมวิ่งทุกเมื่อ”
    
พบชีวิตใหม่

    แม้ภาพยนตร์จะจบไปนานแล้ว แต่การวิ่งยังคงดำเนินต่อ และทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป “วิ่งทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง วันไหนวิ่งเช้าจะรู้สึกสดชื่นขึ้น สมองแล่น มีพลังในการคิดงานหรือประชุม ถ้าวิ่งเย็นจะหลับสบาย แต่ที่สำคัญรู้สึกว่า วิ่งทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างที่เราชอบต่อไปได้นาน ๆ ดังนั้น ถ้าใครที่วิ่งแล้วท้อ ขอให้ลองสังเกตร่างกายตัวเองที่แข็งแรงขึ้น จะรู้สึกภูมิใจมีแรงก้าวต่อ”

แรงกระตุกให้ลุกวิ่ง
เรื่องของชายอีกคนที่วิ่งเพราะร่างกายส่งสัญญาณเตือน


สสส.

          บอน-วีรภัฎ โชคดีทวีอนันต์ ผู้ก่อตั้ง Tofu co.,ltd. บริษัทสถาปนิกที่มีผลงานมากมาย เช่น โรงแรมทวารวดี รีสอร์ท ปราจีนบุรี, โรงแรมหรรษา เขาใหญ่ นครราชสีมา รวมถึงเป็นเจ้าของโครงการหมู่บ้านขนาดอบอุ่นกำลังดีอย่าง เดอะ บาวด์เฮาส์ นครปฐม

          เขาเปิดบทสนทนาด้วยการออกตัวว่า แม้มีประสบการณ์การวิ่งมาแล้วกว่า 10 ปี แต่เป็น 10 ปีที่ไม่ได้มาได้ง่าย ๆ

          “ย้อนไปสมัยเด็กเป็นคนไม่ค่อยออกกำลังกาย เพราะใส่แว่น เล่นอะไรก็ไม่สะดวก พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เน้นสังสรรค์กับเพื่อน เรียนจบจากต่างประเทศ กลับมาเริ่มทำงาน เป็นมาแบบนี้ตลอด จนอายุ 35 ไปตรวจสุขภาพครั้งใหญ่เพื่อทำประกัน เห็นค่าความดันสูงเล็กน้อย ก็ยังคิดว่าโชคดีที่อย่างอื่นยังโอเค แต่พอวันหนึ่งไปเตะบอลแล้วตะคริวกินทั้งตัว ทำให้เริ่มมองตัวเองเปรียบเทียบกับคนรอบข้างที่ออกกำลังกาย สงสัยว่าทำไมบางคนไปวิ่งมาราธอนได้ ทำได้ยังไง เลยไปลองวิ่งดู อีกอย่างที่สนใจวิ่ง เพราะเป็นกีฬาที่ไม่ต้องนัดใคร ทำได้ด้วยตัวเอง ทำเป็นประจำได้ง่าย เพราะที่ทำงานก็อยู่ใกล้สวนสาธารณะด้วย”

วิ่งเป็นหน้าที่ ? 

สสส.

          “แรก ๆ แค่วิ่ง 200 เมตรก็เหนื่อยแทบตาย ทำให้รู้ว่าร่างกายเราแย่ขนาดไหน เลยทำให้ใจนึกไปถึงครอบครัวด้วยว่า การดูแลสุขภาพคือหนึ่งในหน้าที่ของเราเหมือนกัน พอคิดได้แบบนั้นก็ฮึดขึ้น จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยับจากวิ่งได้ไม่กี่ร้อยเมตร มาเป็น 3 กิโล 5 กิโล 10 กิโลเมตร... จนวิ่งได้ประมาณ 3 ปี ก็ลองลงมาราธอนครั้งแรกที่ภูเก็ต และภายหลังก็มาวิ่งอัลตรามาราธอนด้วย”

ปรับเพซวิ่งให้เข้ากับชีวิตและงาน

สสส.

          Pace (เพซ) คือ เวลาที่เราใช้ในการวิ่งต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นสิ่งที่นักวิ่งจำนวนหนึ่งให้ความสำคัญ เพราะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าสถิติการวิ่งดีขึ้นหรือไม่ เพียงแต่ว่าเขาคนนี้พบว่า เพซที่ดีจะต้องมีความเร็วเข้ากับจังหวะชีวิตอีกด้วย  

          “พอมาถึงช่วงเวลาหนึ่ง งานของเราก็เริ่มเยอะขึ้น เลยมองหาวิธีวิ่งที่เหมาะกับตัวเอง กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากขึ้น เลยเปลี่ยนมาเป็นการวิ่งเร็ว ระยะสั้น เพื่อให้แบ่งการฝึกซ้อมกับการทำงานและเวลาให้ครอบครัวได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ก็จะคอยเลือกลงงานวิ่งที่ใกล้กับไซต์งาน แล้วก็ตั้งเป้าหมายว่าจะวิ่งให้ได้รางวัล เพราะอยากให้ตอนประกาศรางวัล คนอื่นจะได้ยินชื่อทีมที่เป็นชื่อโปรเจกต์ของเรา ถือเป็นการโฆษณาไปในตัว หรือมีถ้วยรางวัลมาวางไว้ บางทีก็กลายเป็นตัวเชื่อมบทสนทนากับลูกค้าได้”

วิ่งเปลี่ยนชีวิต

สสส.

          “ช่วง 2 ปีหลังความสนุกของการวิ่งคือการได้เพื่อนใหม่ ได้เจอเพื่อนเก่า วิ่งยังทำให้เราไม่เหนื่อยง่าย ไม่ใช่แค่ทางกาย แต่ไม่ว่าเจองานหนักแค่ไหนก็ไม่ท้อ เพราะรู้สึกว่าตอนวิ่ง เวลาเหนื่อย เวลาร้อน ก็ไม่รู้จะบ่นไปทำไม ในเมื่อเราสมัครใจมาเอง นอกจากนี้วิ่งก็กลายเป็นเวลาที่ได้ทบทวนเรื่องงาน ได้ไตร่ตรองปัญหาอีกด้วย ทุกวันนี้วันไหนไม่ได้วิ่งจะรู้สึกว่าวันนั้นไม่สดชื่นเลย...”

          “วิ่ง” อาจมีความหมายแตกต่างกันสำหรับแต่ละคน บางคนวิ่งคือ การออกกำลัง เป็นการแข่ง เป็นการเยียวยา หรือเป็นเวลาพบปะเพื่อนฝูง แต่ไม่ว่าในความหมายใด การวิ่งช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพดี เหมือนมีชีวิตใหม่ที่ต่างจากเดิม สำหรับใครก็ตามที่อยากลองลุกขึ้นมาวิ่ง เราขอให้กำลังใจ ให้คุณลุกขึ้นมาเลย ลองเริ่มวิ่งจากสนามใกล้บ้าน ก่อนจะขยับลงสนามที่ใหญ่ขึ้น โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ที่สะพานพระราม 8 ขอแนะนำงานวิ่ง Thai Health day run 2023 ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่อาสาเป็นสนามวิ่งสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งนักวิ่งหน้าใหม่และหน้าเก่า ให้มาวิ่งเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีไปด้วยกัน



          หากคุณสนใจข้อมูลเกี่ยวกับการวิ่ง รวมทั้งข้อมูลสุขภาพดี ๆ ด้านอื่น สามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/thaihealthdayrun  


กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดี ๆ จาก สสส. เพิ่มเติมได้ที่ : 



เมื่อหนึ่งผู้กำกับและหนึ่งสถาปนิกเหมือนมีชีวิตใหม่ด้วยการวิ่ง โพสต์เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10:49:30 2,254 อ่าน
TOP