พ่อแม่มักไม่เอะใจถึงความไม่สมดุลของลูก กว่าจะเอะใจอาจแก้ไขไม่ทัน

เด็กอ้วน

          พ่อแม่จำนวนไม่น้อยปล่อยให้ลูกมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะพฤติกรรมการกิน การนอน และการออกกำลังกาย หลายคนยอมให้ลูกไม่กินผัก-ผลไม้เพราะลูกไม่ชอบ ยอมให้กินขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน-น้ำอัดลม เป็นประจำ บางคนปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอจนขาดการออกกำลังกาย หรือยอมให้ลูกเล่นเกมจนนอนดึกแทบทุกวัน พฤติกรรมขาด ๆ เกิน ๆ เหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าปล่อยไว้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะโรคอ้วนในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกวันและเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด

          ปัญหาในระยะสั้นของโรคอ้วนในเด็ก อาจนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในร่างกายของเด็กแทบจะทุกระบบเลยก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่น 
  • ระบบทางเดินหายใจ - ความอ้วนทำให้เด็กนอนกรน ทางเดินหายใจถูกอุดกั้นในขณะหลับ ทำให้มีภาวะหยุดหายใจ ส่งผลให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม เกิดอาการง่วงนอนอ่อนเพลียตอนกลางวัน กระทบต่อการเรียนรู้ในโรงเรียน 
  • ระบบทางเดินอาหาร - ความอ้วนทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ส่งผลให้ตับอักเสบเรื้อรัง นำไปสู่ภาวะตับแข็ง มีพังผืดในตับ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ หรือเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด - ความอ้วนทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดแข็งกว่าปกติ เกิดภาวะเมตาบอลิกซินโดรม กลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ระบบต่อมไร้ท่อ - เด็กอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และอาจจะเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ
  • ระบบสืบพันธุ์ - โดยเฉพาะในเด็กผู้หญิงอาจมีภาวะประจำเดือนผิดปกติ มีถุงน้ำในรังไข่ และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
          ปัญหาในระยะยาวของโรคอ้วนในเด็ก อาจทำให้พัฒนาการของเด็กลดลง ส่งผลกระทบต่อสมองและจิตใจ และยังมีผลต่อเนื่องไปจนถึงตอนโต ตัวอย่างเช่น ภาวะปวดหัวเรื้อรังที่มาจากการมีความดันโลหิตสูงในกะโหลกศีรษะ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียนหนังสือ การมีความภูมิใจในตนเองต่ำ หรือการถูกล้อเลียนเรื่องรูปร่าง อาจนำไปสู่ปัญหาด้านจิตใจและภาวะซึมเศร้า

          ผู้ใหญ่หลายคนยังเข้าใจว่า “อ้วนตอนเด็กไม่เป็นไร เดี๋ยวโตไปก็ยืด” ข้อเท็จจริงก็คือ แม้ตัวจะยืด แต่ถุงเก็บไขมันที่ร่างกายสะสมไว้ตั้งแต่เด็กนั้นยังคงมีเพียบ และเฝ้ารอวันพองขึ้นมาแบบเงียบ ๆ จากสถิติพบว่าเด็กน้ำหนักเกิน 55% จะโตไปเป็นวัยรุ่นที่น้ำหนักเกิน และถึงแม้ว่าบางคนอาจจะโตไปแล้วผอมลง แต่ก็อาจจะกลับมาอ้วนได้ง่ายมากกว่าคนทั่วไปเพราะถุงไขมันที่สะสมไว้นั่นเอง

          สาเหตุของเด็กอ้วนไม่ได้มีแค่เรื่องการกิน เมื่อพูดถึงต้นเหตุของความอ้วน ผู้ต้องสงสัยรายแรกคือเรื่องการกินอาหารที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะการกินอาหารสำเร็จรูปที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำ การกินอาหารหวาน มัน เค็ม มากไป และไม่ค่อยกินผัก-ผลไม้ 

          นอกจากนี้ภาวะอ้วนยังเกิดจากการขาดสมดุลด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย มีพฤติกรรมเนือยนิ่งจนไม่ได้เผาผลาญพลังงานอย่างเพียงพอ กลายเป็นไขมันสะสม โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่มีพฤติกรรมติดหน้าจอ ชอบนั่งดูทีวี เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือเล่นเกม นอกจากจะมีผลทำให้สมาธิสั้นแล้วยังมีผลกระทบต่อตัวบ่งชี้ทางสุขภาพ เช่น น้ำหนัก รอบเอว ความดันโลหิต คอเลสเตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือดด้วย 

          และตัวการสุดท้ายที่หลายคนคาดไม่ถึงคือเรื่องของการนอน การนอนไม่พอนั้นส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เพิ่มความอยากอาหารและปั่นป่วนระบบเผาผลาญ และยังทำให้ขาดความสมดุลของฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว คือ เกรลินฮอร์โมน ที่จะหลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหารเพื่อส่งสัญญาณไปที่สมองเพื่อกระตุ้นความหิว และฮอร์โมนอิ่ม หรือ เลปตินฮอร์โมน ที่จะหลั่งลดลงจนส่งผลให้กินอาหารแล้วไม่ค่อยอิ่ม ทำให้ยิ่งกินเยอะกว่าเดิม 

          จะเห็นได้ว่าทั้งการกิน การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อน แม้จะเป็นเรื่องที่พ่อแม่รู้กันดี แต่มักจะไม่เอะใจว่ามันสำคัญ ทำให้ปล่อยปละละเลยไป จนลูกเคยชินกับพฤติกรรมที่ไม่สมดุล และส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

          เพราะเด็กสมดุลได้ด้วยสามเหลี่ยมสมดุล คือ วิ่งเล่น กินดี นอนพอ  

          ถ้าสงสัยว่าลูกของเรามีพฤติกรรมการกิน นอน เล่น ที่สมดุลหรือไม่ ? สสส. ขอชวนมาตรวจเช็กกันได้ที่เว็บไซต์ https://activekidsthailand.com/ กับแบบประเมินออนไลน์ที่เข้าใจง่ายและใช้เวลาไม่นาน เป็นตัวช่วยให้พ่อแม่ได้ประเมินน้ำหนัก ส่วนสูง และพฤติกรรมการกิน นอน เล่น ของเด็ก ๆ ซึ่งจะช่วยให้รู้ได้ทันทีว่ายังขาดหรือเกินด้านไหน และควรปรับปรุงเรื่องไหนเป็นพิเศษ 

          มาร่วมช่วยให้ลูกมีสามเหลี่ยมสมดุล วิ่งเล่น กินดี นอนพอ ก่อนที่จะสายเกินไปจนแก้ไขไม่ทัน 




กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดี ๆ จาก สสส. เพิ่มเติมได้ที่ : 
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
TikTok : @thaihealth
YouTube : SocialMarketingTH
Website : Social Marketing การตลาดเพื่อสังคม

พ่อแม่มักไม่เอะใจถึงความไม่สมดุลของลูก กว่าจะเอะใจอาจแก้ไขไม่ทัน โพสต์เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:46:49 9,814 อ่าน
TOP