เด็กคนไหนสมดุลหรือไม่สมดุล อาจใช้ความรู้สึกตัดสินไม่ได้ แนะนำแบบประเมิน เช็กความสมดุลของลูก โดย สสส.



          การเลี้ยงลูกตั้งแต่เล็กจนโตนั้นน่าจะเป็นเหมือนภารกิจที่เป็นความท้าทายของพ่อแม่ ซึ่งแต่ละช่วงวัยก็มีความยากง่ายต่างกันไป สำหรับเด็กวัย 6-12 ปีนั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงวัยที่ร่างกายมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงสูงมาก โดยเปลี่ยนจากเด็กเล็กไปสู่เด็กโตและเตรียมไปสู่วัยรุ่น รวมถึงเป็นช่วงวัยของการไปโรงเรียนแบบเต็มตัว ต้องปรับวิถีชีวิตส่วนใหญ่ในแต่ละวันเพื่อการเรียนรู้และทำกิจกรรมที่โรงเรียนเป็นหลัก

          ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ รวมถึงวิถีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละครอบครัว และอาจจะไม่ทันได้สังเกตว่าลูกกำลังมีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ไม่สมดุลจนอาจส่งผลเสียในระยะยาวหรือเปล่า 

          การจะดูว่าเด็กคนไหนสมดุลหรือไม่สมดุล อาจใช้ความรู้สึกตัดสินไม่ได้


          เพราะเหตุนี้ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ภายใต้แคมเปญรณรงค์ “สามเหลี่ยมสมดุล” ได้ออกแบบเครื่องมือมาช่วยพ่อแม่เพื่อตรวจเช็กความสมดุลของลูก ด้วย แบบประเมินความสมดุลของเด็ก ที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบความสมดุล 3 ด้านสำคัญ คือ กิจกรรมทางกาย กินอาหารดีมีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ มีร่างกายแข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย มีสติปัญญาและอารมณ์ดี ลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ เช่น โรคอ้วน ภาวะดื้ออินซูลิน หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น

          ผลการประเมินจาก แบบประเมินความสมดุลของเด็ก จะช่วยให้รู้ว่าลูกของเรานั้นยังขาดความสมดุลตรงจุดไหน ด้านไหนสมดุลดีแล้วควรสนับสนุนต่อไป หรือด้านไหนยังต้องปรับปรุง

          ลองประเมินความสมดุลแบบง่าย ๆ ใช้เวลาไม่นาน เพียงคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์  www.balancekids.activekidsthailand.com  ก็จะพบ แบบประเมินความสมดุลของเด็ก  หน้าแรกจะเริ่มต้นด้วยการกรอกข้อมูลทั่วไปของลูก ได้แก่ เพศ วันเดือนปีเกิด น้ำหนัก ส่วนสูง และรอบเอว



          จากนั้นเริ่มเข้าสู่ การประเมินความสมดุลด้านการวิ่งเล่น โดยผู้ปกครองจะต้องใส่ข้อมูลเกี่ยวกับ จำนวนนาที ที่เด็ก ๆ ได้มีกิจกรรมทางกายตามปกติในแต่ละวัน โดยแบ่งเป็นกิจกรรมที่ได้ทำในวันธรรมดา (จันทร์ถึงศุกร์) และกิจกรรมในวันหยุด (เสาร์ถึงอาทิตย์) ได้กรอกแบบนี้ก็จะเช็กว่าใน 1 วัน ลูกได้วิ่งเล่นออกกำลังกายถึง 60 นาที ตามเกณฑ์ความสมดุลหรือไม่


          ส่วนต่อไปคือ การประเมินความสมดุลด้านการกิน ซึ่งเป็นการใส่ข้อมูลเกี่ยวกับ จำนวนมื้ออาหาร อาหารว่าง ขนม นม และน้ำเปล่า ที่เด็ก ๆ ได้รับตามปกติในแต่ละวัน โดยจะแบ่งการประเมินเป็นช่วงวันธรรมดาและวันหยุด การกินอาหารครบ 5 หมู่ ให้ครบ 3 มื้อต่อวันนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในวิถีเร่งรีบของเช้าวันธรรมดาที่ต้องไปโรงเรียนทำให้เด็ก ๆ หลายคนกินมื้อเช้าไม่ทัน ซึ่งส่งผลเสียหลายอย่างตามมา เช่น ขาดพลังงานไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ขาดสมาธิในการเรียนเพราะท้องหิว หรือทำให้สมองไม่สดชื่น จดจำและเรียนรู้ได้ไม่ดี



          และส่วนสุดท้ายคือ การประเมินความสมดุลด้านการนอน ผู้ปกครองเพียงใส่ข้อมูลเกี่ยวกับ พฤติกรรมการเข้านอนและตื่นนอน ของลูกในแต่ละวัน โดยแบ่งเป็นช่วงวันธรรมดาและวันหยุด การเข้านอนหัวค่ำและนอนให้พอ 9-12 ชั่วโมง จะทำให้ร่างกายของเด็กได้รับโกรทฮอร์โมนอย่างเต็มที่ ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโต โดยควรจะทำเป็นประจำสม่ำเสมอ สร้างนิสัยนอนหัวค่ำและตื่นเช้าทุกวัน เพราะการนอนดึกในวันธรรมดาแล้วค่อยไปนอนชดเชยในวันหยุด หรือการคิดว่านอนดึกตื่นสายในวันหยุดได้เพราะไม่ต้องไปโรงเรียน อาจสร้างนิสัยการนอนที่ไม่ดี ทำให้พลาดช่วงเวลาทองของโกรทฮอร์โมนติดต่อกัน ถึงแม้จะดูไม่เป็นอะไรในวันนี้ แต่พอรู้ตัวอีกทีลูกอาจมีส่วนสูงตกเกณฑ์ได้


          เมื่อกรอกข้อมูลครบทั้ง 3 ด้าน ระบบจะ สรุปผลการประเมิน ออกมา โดยแบ่งเป็น ข้อมูลด้านส่วนสูงและน้ำหนักเมื่อเทียบกับเกณฑ์ จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบส่วนสูงกับน้ำหนักแล้วเด็กมีรูปร่างอ้วน เมื่อเทียบส่วนสูงกับอายุถือว่ามีส่วนสูงตามเกณฑ์ และเมื่อเทียบน้ำหนักกับอายุแล้วมีน้ำหนักตามเกณฑ์


          ผลการประเมินยังบอกถึง ความสมดุลของพฤติกรรมสุขภาพ ผ่านข้อมูลพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน “วิ่งเล่น-กินดี-นอนพอ” และสรุปออกมาเป็นรูปสามเหลี่ยมว่าเด็กมีสามเหลี่ยมที่สมดุลหรือไม่ และมีผลเปอร์เซ็นต์ของแต่ละด้าน พร้อมคำแนะนำเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมต่อไป

          เราเข้าใจดีว่าการเลี้ยงเด็ก 1 คนไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้ทุกอย่าง แต่ความสมดุล 3 ด้าน “วิ่งเล่น-กินดี-นอนพอ” ถือเป็นพื้นฐานพฤติกรรมที่สำคัญ หากเราช่วยกันส่งเสริมให้สมดุลได้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกได้เติบโต แข็งแรง สมวัย และมีพัฒนาการที่ดีได้

รู้วิธีสร้างสามเหลี่ยมสมดุลเพิ่มเติมที่ www.activekidsthailand.com 


เด็กคนไหนสมดุลหรือไม่สมดุล อาจใช้ความรู้สึกตัดสินไม่ได้ แนะนำแบบประเมิน เช็กความสมดุลของลูก โดย สสส. โพสต์เมื่อ 20 มีนาคม 2567 เวลา 17:39:33 4,852 อ่าน
TOP