5 เรื่องเตือนใจให้ชัวร์ก่อนขับ รับสงกรานต์ด้วยความปลอดภัยในทุกมิติ

ขับรถปลอดภัย

ขับรถปลอดภัย

ดื่มไม่ขับ

          เทศกาลแห่งความสุขก็อาจกลายเป็นเรื่องสุดเศร้า จากข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561-2565) มีผู้ขับขี่ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับเฉลี่ย 23,026 คน อย่าลืมว่าทุกการดื่มไม่ว่าจะแก้วเดียว กระป๋องเดียว ชอตเดียว จะเพียวหรือมิกซ์ ก็มีผลออกฤทธิ์กดประสาท สมองทำงานช้าลง การมองเห็นแย่ลง อาจเกิดภาพเบลอ ภาพซ้อน เห็นวัตถุผิดขนาด โดยผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือเทียบเท่าเบียร์แค่ 1-2 กระป๋อง (ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล) ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 2 เท่า 

โทร. ไม่ขับ

          การใช้โทรศัพท์มือถือไม่ว่ากรณีใด ๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะทำให้การรับรู้ทั้ง สายตา หู มือ และประสาทสัมผัสของผู้ขับขี่ลดลง อีกทั้งยังมีกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถอย่างเข้มงวด มีโทษปรับสูงสุดถึง 4,000 บาท แต่ผู้ขับขี่ควรมีเบอร์โทร. สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือการร้องขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว เช่น เบอร์โทร. แจ้งประกันรถยนต์ สายด่วนที่ควรรู้ 1669 หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน, 1193 ตำรวจทางหลวง, 1677 สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน ฯลฯ

ง่วงไม่ขับ

          การหลับใน ไม่ต่างอะไรจากการหูหนวก ตาบอด เป็นอัมพาต หมดสติไปชั่วครู่ จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ไม่แพ้การดื่มแล้วขับเลยทีเดียว เนื่องจากผู้ขับขี่ที่ง่วงมักมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินช้าลง ตัดสินใจผิดพลาด จนไม่ได้เหยียบเบรกหรือพุ่งชนสิ่งกีดขวาง ถ้าขับขี่ด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การวูบหลับไปเพียง 3 วินาที จะทำให้รถไถลไปไกลถึง 84 เมตร และแน่นอนว่าลักษณะการชนมักรุนแรงเพราะคนขับไม่ได้หักหลบหรือเหยียบเบรก ทำให้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตได้เสมอ

          นอกจากนี้ตามประมวลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 ระบุว่า ผู้ขับขี่รถขณะร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ มีความผิดตามมาตรา 103 บทลงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ถ้าผู้ขับขี่เริ่มรู้ตัวว่ามีอาการง่วงให้รีบจอดพักงีบสักครู่หนึ่ง ร้องเพลง เคี้ยวหมากฝรั่ง ดื่มกาแฟ และควรมีเพื่อนร่วมทางผลัดเปลี่ยนกันขับรถเมื่อต้องเดินทางไกล 

เร็ว ลื่น ไม่ขับ

          ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการสาดน้ำกันตามจุดต่าง ๆ อาจจะทำให้พื้นถนนเปียกลื่นและควบคุมรถได้ยากขึ้น ควรลดความเร็วลงทุกครั้ง และให้เว้นระยะจากคันหน้ามากกว่าปกติเพื่อให้มีระยะเบรกที่มากพอ ไม่เปลี่ยนเลนไปมา ถ้าถนนลื่นให้เหยียบแป้นเบรกเบา ๆ ประมาณ 3-4 ครั้ง เป็นการเช็กสภาพและทำให้เบรกทำงานดีขึ้น ควรหลีกเลี่ยงถนนที่เป็นแอ่งน้ำป้องกันอาการยางเหินน้ำ หรือกรณีที่ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ชัดเจนก็สามารถเปิดไฟหน้าช่วยให้รถคันหน้าหรือคันที่สวนทางมามองเห็นไฟจากรถเราได้ง่ายขึ้น รวมทั้งควรตรวจสอบสภาพยางทุกเส้นรวมทั้งยางอะไหล่ ให้มีความลึกพอจะรีดน้ำได้ดี เติมลมยางให้พร้อมก่อนออกเดินทางเสมอ

ไม่พร้อม ไม่ขับ

          ควรอยู่ในสภาพพร้อมเดินทางไกลทั้งคนและรถ เช่น ตรวจสอบไฟหน้า ไฟหลัง แบตเตอรี่ ถังน้ำมัน ที่ปัดน้ำฝนต้องรีดน้ำบนกระจกได้เต็มประสิทธิภาพ สัญญาณไฟเตือนต่าง ๆ สายเบรก สายลากรถ สายพ่วงแบตเตอรี่ ประแจ แม่แรง และที่เติมลมพกพา หรือถ้าเป็นการขี่มอเตอร์ไซค์ก็ต้องมีหมวกกันน็อกทุกครั้งทั้งผู้ขี่และผู้ซ้อนท้าย รวมทั้งมีการวางแผนเส้นทางและพร้อมรับมือกับสภาพการจราจรที่อาจจะติดขัดในบางจุด มีแผนสำรองเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันเสมอ ไม่ขับรถเร็ว ไม่ใช้อารมณ์หรือประมาทเวลาขับขี่ ไม่แซงทางโค้ง ไม่ฝ่าไฟแดง ไม่เปลี่ยนเลนด้วยความคึกคะนอง

save สมอง

          และเพื่อให้ทุกคนมีแนวทางการขับขี่อย่างปลอดภัย ในช่วงเทศกาลแห่งความสุข อย่าลืม ! ดาวน์โหลดคู่มือ #Saveสมอง จากอุบัติเหตุการขับขี่ โหลดฟรีและอ่านเวอร์ชั่นออนไลน์ได้ คลิกเลย : https://www.thaihealth.or.th/?p=353265

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดี ๆ จาก สสส. เพิ่มเติมได้ที่ : 
TikTok: @thaihealth
5 เรื่องเตือนใจให้ชัวร์ก่อนขับ รับสงกรานต์ด้วยความปลอดภัยในทุกมิติ โพสต์เมื่อ 10 เมษายน 2567 เวลา 15:20:52 27,130 อ่าน
TOP