ประโยชน์ของกล้วยดิบ กล้วยห่าม กล้วยสุก ต่างสีก็มีดีต่างกัน ป่วยแบบไหน กินสีอะไรดี ?

           กล้วย แต่ละสี มีคุณประโยชน์ที่แตกต่างกัน ใครท้องผูก ท้องเสีย แล้วอยากใช้กล้วยบรรเทาอาการ รู้ไหมว่า ต้องกินกล้วยสีไหน ?
กล้วย

          ประโยชน์ของกล้วย ที่เรารู้จักกันดีก็คือ เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ ที่มีคุณค่าทางอาหารมากมาย อย่างกล้วยน้ำว้า 1 ผลเล็ก ให้พลังงาน 59 กิโลแคลอรี น้ำตาล 9 กรัม มีทั้งเบต้าแคโรทีน วิตามินบี วิตามินซี โพแทสเซียม แมกนีเซียม ไฟเบอร์สูง กินให้อิ่มอยู่ท้องก็ได้ และมีสารทริปโตเฟนที่ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น

          นอกจากนี้ กล้วย ยังมีสารสำคัญที่ช่วยรักษาอาการท้องเสีย ท้องผูก และบรรเทาอาการโรคกระเพาะ แต่ใช่ว่าจะรับประทานกล้วยแบบไหนก็ได้ เพราะกล้วยดิบ กล้วยห่าม กล้วยสุก ล้วนมีสรรพคุณต่างกันอย่างที่เรารวบรวมข้อมูลมาบอกต่อ พร้อมพาไปไขข้อสงสัยด้วยว่า กล้วยที่สุกงอมจัด ๆ ช่วยต้านมะเร็งได้จริงหรือไม่

ประโยชน์ของกล้วยดิบ

ประโยชน์ของกล้วยดิบ

กล้วยดิบบรรเทาอาการแสบท้องจากโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน

          ในกล้วยดิบมีสารแทนนินในปริมาณสูงกว่ากล้วยสุก โดยสารชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และป้องกันผนังลำไส้ถูกทำลายจากเชื้อโรคหรือเอนไซม์ที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น เอนไซม์จากพริก พร้อมกับช่วยสมานแผล จึงช่วยรักษาแผลในหลอดอาหารและกระเพาะอาหารที่เกิดจากโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ทำให้อาการแสบท้องลดลง

          วิธีรับประทานกล้วยดิบเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารก็คือ ให้ฝานกล้วยน้ำว้าดิบหรือกล้วยหักมุกดิบเป็นแว่น ๆ แล้วนำไปตากแห้ง 2 วัน จากนั้นบดเป็นผง นำมาชงกับน้ำอุ่น ดื่มก่อนอาหาร 30 นาที วันละ 2 ครั้ง

กล้วยดิบมีพรีไบโอติกสูง ดัชนีน้ำตาลต่ำ

          กล้วยดิบเต็มไปด้วยแป้งที่ทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์ (Resistant Starch) กว่า 70-80% เพราะแป้งยังไม่ถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาล จึงมีคุณสมบัติคล้ายกับเส้นใยอาหารหรือพรีไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารที่ดีต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ ช่วยปรับสมดุลในระบบทางเดินอาหาร

          อีกทั้งกล้วยดิบยังมีค่าดัชนีน้ำตาล GI ต่ำ ร่างกายจะค่อย ๆ ดูดซึมอย่างช้า ๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็วหลังรับประทาน เหมาะกับคนที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ก็มีข้อเสียตรงที่รสชาติของกล้วยดิบไม่ค่อยอร่อย ออกจะฝาด ๆ ขม ๆ และย่อยยาก บางคนกินเข้าไปแล้วอาจมีอาการท้องอืด รู้สึกมีลมในกระเพาะ

ประโยชน์ของกล้วยห่าม

กล้วยห่าม

กล้วยห่ามช่วยรักษาอาการท้องเสีย

          กล้วยห่ามจะมีเปลือกเป็นสีเขียวอมเหลือง รสชาติฝาดปนหวานเล็กน้อย มีสารแทนนินอยู่เช่นกัน คนที่มีอาการท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากธาตุในร่างกายไม่สมดุล เช่น รับประทานอาหารเผ็ดจัด สามารถรับประทานกล้วยดิบหรือกล้วยห่ามครั้งละครึ่งผล - 1 ผล เพื่อบรรเทาอาการท้องเดินได้ เพราะสารแทนนินมีสรรพคุณช่วยลดการหดเกร็งและลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ 

          อีกวิธีหนึ่งก็คือ ฝานกล้วยเป็นแว่นบาง ๆ นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 10 กรัม โดยผสมกับน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น 120-200 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการท้องเสีย

ประโยชน์ของกล้วยสุก

กล้วยสุก

           กล้วยสุกมีรสหวานอร่อยกว่ากล้วยดิบ เพราะแป้งในกล้วยเปลี่ยนเป็นน้ำตาลแล้ว ทำให้มีคุณประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

กล้วยสุกช่วยแก้ท้องผูก

           กล้วยสุกอุดมไปด้วยใยอาหารชนิดละลายน้ำที่เรียกว่า "เพกทิน" ในปริมาณสูง จึงมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยให้ขับถ่ายคล่องขึ้น ดังนั้น คนที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ สามารถรับประทานกล้วยสุกในตอนเช้า หรือตอนท้องว่างก่อนอาหาร 30 นาที ครั้งละ 1-2 ผล โดยเคี้ยวให้ละเอียดที่สุดแล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ อย่างไรก็ตาม เพกทินจะค่อย ๆ สลายตัวเมื่อกล้วยสุกจนเกินไป ทำให้กล้วยมีสภาพนิ่ม ดังนั้น ให้เลือกกินกล้วยที่สุกพอดี ๆ ยังไม่งอม

กล้วยสุกเพิ่มพลังงานอย่างรวดเร็ว

          สังเกตไหมว่านักกีฬาหลายคนมักกินกล้วยสุกระหว่างพักการแข่งขัน นั่นเพราะในกล้วย โดยเฉพาะกล้วยหอมสุก มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายอย่างยาวนาน สามารถทำกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

          นอกจากนี้ในกล้วยสุกยังมีโพแทสเซียมที่ช่วยลดการเกิดตะคริว รักษาสมดุลของความดันโลหิต มีแมกนีเซียมที่คอยส่งสัญญาณควบคุมการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท มีผลต่อการตัดสินใจขณะแข่งขัน รวมถึงวิตามินบี 6 ที่ช่วยเร่งการเผาผลาญอาหารให้เปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว

กล้วยสุกมีจุดสีดำตกกระ กินได้ไหม

กล้วยมีจุดสีดำตกกระ

          ประเด็นนี้ ดร.อารยา อาจเจริญ เทียนหอม อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยให้ข้อมูลผ่านรายการชัวร์ก่อนแชร์ ไว้ว่า หากเป็นกล้วยไข่หรือกล้วยหอมที่มีจุดสีดำตกกระเพียงเล็กน้อยถือว่าอยู่ในระยะที่พร้อมรับประทาน คุณค่าทางโภชนาการ เช่น วิตามินเอ ค่อนข้างสูงกว่ากล้วยที่ยังห่ามอยู่ แต่ถ้าเป็นกล้วยน้ำว้าปกติจะไม่ค่อยเกิดการตกกระ

          อย่างไรก็ตาม หากกล้วยตกกระมาก ๆ มีสีดำ แสดงว่ากล้วยเริ่มเสื่อมสภาพแล้ว เนื้อข้างในจะเละ เปลือกจะบางลง คุณค่าทางอาหารบางอย่างก็เสื่อมสลายไป และอาจมีเชื้อโรคบางตัวที่เข้าไปในเนื้อของกล้วยได้ จึงไม่ควรรับประทาน

กล้วยงอม ต้านมะเร็งจริงไหม

กล้วยมีจุดสีดำ

          ก่อนหน้านี้มีข้อมูลระบุว่า กล้วยงอมหรือกล้วยที่สุกมาก ๆ จนเปลือกมีจุดสีดำ จะสร้างสาร TNF-alpha (Tumor Necrosis Factor-alpha) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันมะเร็ง แต่เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง !

          โดย รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ไว้ว่า สาร TNF จะมีอยู่แต่ในระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น กล้วยหรือพืชชนิดอื่น ๆ ไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ ส่วนการทดลองที่อ้างอิงนั้นเป็นเพียงการนำสารสกัดจากกล้วยฉีดเข้าไปในท้องของหนูเพื่อศึกษาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน โดยอาศัยการวัดระดับของ TNF ในร่างกายหนู เพื่อบ่งบอกการทำงานของเม็ดเลือดขาวเท่านั้น ซึ่งผลที่ได้ก็ไม่ได้บ่งบอกว่าเมื่อรับประทานกล้วยสุกงอมแล้วจะทำให้ร่างกายสร้างสารดังกล่าวมากขึ้นแต่อย่างใด
           ไม่ว่าจะเป็นกล้วยสีไหนก็มีประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น เราสามารถเลือกรับประทานสลับกันได้ เพื่อรับประโยชน์ที่หลากหลาย เพียงแต่ต้องระวังการกินกล้วยที่สุกงอมจัด ๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลสูงมาก หากรับประทานเกินวันละ 1-2 ผล ร่างกายอาจสะสมน้ำตาลไว้มากเกินจำเป็นและขับออกไม่หมด นำไปสู่ภาวะอ้วนและไขมันในเลือดสูงได้ในภายหลัง

บทความที่เกี่ยวข้องกับกล้วย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประโยชน์ของกล้วยดิบ กล้วยห่าม กล้วยสุก ต่างสีก็มีดีต่างกัน ป่วยแบบไหน กินสีอะไรดี ? อัปเดตล่าสุด 26 เมษายน 2567 เวลา 15:57:01 35,019 อ่าน
TOP
x close