ไข่ต้ม 1 ฟอง แคลอรีเท่าไร
ไข่ต้ม 1 ฟอง โปรตีนกี่กรัม
ในแต่ละวันเราควรได้รับโปรตีน 0.8-1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ถ้าต้องการสร้างกล้ามเนื้อจะต้องได้รับโปรตีน 2-3 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
หมายความว่า ถ้าเรามีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรกินโปรตีนให้ได้ 40-50 กรัม/วัน และถ้าเป็นคนที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อจะต้องกินโปรตีนให้ได้ 100-150 กรัม/วัน
แน่นอนว่าไข่ต้มก็เป็นหนึ่งในแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยไข่ต้ม 1 ฟอง จะให้โปรตีนประมาณ 7 กรัม แต่หากรับประทานเฉพาะไข่ขาวจะได้โปรตีน 4 กรัม ทั้งนี้ โปรตีนจากไข่ต้มจะให้กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทั้ง 9 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น…
-
ฮิสทิดีน (Histidine) : ช่วยในการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ
-
ไอโซลิวซีน (Isoleucine) : ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระตุ้นการเผาผลาญไขมัน และช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูหลังออกกำลังกาย
-
ลิวซีน (Leucine) : ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ กระตุ้นการเผาผลาญไขมัน และช่วยให้อิ่มท้องนาน
-
ไลซีน (Lysine) : ช่วยดูดซึมแคลเซียม เสริมสร้างกระดูกและฟัน และช่วยสร้างโปรตีน
-
เมไทโอนีน (Methionine) : ช่วยสร้างโปรตีน เสริมสร้างตับ และช่วยดูดซึมแร่ธาตุต่าง ๆ
-
ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) : ช่วยสร้างโปรตีน กระตุ้นการสร้างสารสื่อประสาทอย่างโดพามีน และนอร์อิพิเนฟรินที่ส่งผลต่ออารมณ์
-
ทรีโอนีน (Threonine) : ช่วยสร้างโปรตีน เสริมสร้างกระดูกและคอลลาเจน เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหาร
-
ทริปโตเฟน (Tryptophan) : กรดอะมิโนที่เป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน ที่ช่วยให้นอนหลับสบาย ลดความเครียด และช่วยให้อารมณ์ดี
-
วาลีน (Valine) : ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระตุ้นการเผาผลาญไขมัน และช่วยให้อิ่มท้องนาน
ไข่ต้ม 1 ฟอง
มีสารอาหารอะไรบ้าง
ไข่ต้ม 1 ฟอง มีคาร์โบไฮเดรตไม่ถึง 1 กรัม เพราะส่วนใหญ่เป็นโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็น นอกจากนี้ก็ยังมีสารอาหารและกรดอะมิโนชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น
-
ไขมัน : มีปริมาณ 5 กรัม ต่อ 1 ฟอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว ที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีในเลือด อย่างไรก็ตาม เฉพาะในส่วนของไข่แดงจะมีคอเลสเตอรอลประมาณ 200 มิลลิกรัม จึงไม่ควรรับประทานไข่แดงเกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์ แต่สามารถรับประทานไข่ขาวได้ตามปกติ
-
วิตามินเอ : ช่วยเรื่องการมองเห็นและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
-
วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินบี 6 : ช่วยเรื่องการทำงานของระบบประสาท สมอง และกล้ามเนื้อ
-
แคลเซียม : ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน
-
ฟอสฟอรัส : ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และสังกะสี ได้ดีขึ้น
-
ธาตุเหล็ก : ช่วยให้ร่างกายนำออกซิเจนไปใช้ยังเซลล์ต่าง ๆ
-
สังกะสี : ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน สมานแผลและลดการอักเสบ
-
โฟเลต : ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง รวมถึงป้องกันการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด
-
เลซิทิน : มีอยู่ในไข่แดง เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท จึงช่วยเสริมสร้างสมองและระบบประสาท อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
-
โคลีน : สารอาหารสำคัญต่อสมอง ช่วยเพิ่มความจำ พัฒนาการเรียนรู้ และป้องกันโรคอัลไซเมอร์
-
ลูทีนและซีแซนทิน : ช่วยกรองแสงสีฟ้า ป้องกันรังสีจากแสงแดดที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ลดความเสี่ยงโรคจอประสาทตาและต้อกระจก
-
กรดอะมิโนอาร์จีนีน : ช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโต เสริมสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ รวมทั้งเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
-
กรดอะมิโนกลูตามีน : ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ ลดความเครียดและความวิตกกังวล
-
กรดอะมิโนไกลซีน : ช่วยให้นอนหลับสบาย ลดความวิตกกังวล และคลายเครียด ปรับปรุงการทำงานของสมองให้ความจำดีและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้เร็วขึ้น
กินไข่ต้มลดน้ำหนักได้ไหม
ด้วยความที่ไข่ต้มมีโปรตีนสูง และโปรตีนเป็นสารอาหารที่กินแล้วอิ่มอยู่ท้อง ทำให้เราไม่รู้สึกหิวจุบจิบระหว่างวัน ส่งผลให้กินอาหารได้น้อยลงในมื้อถัดไป เราจึงสามารถรับประทานไข่ต้มเพื่อช่วยเรื่องการควบคุมน้ำหนักได้
นอกจากนี้ในไข่ต้ม 1 ฟอง ยังมีไขมันเพียง 5 กรัม และให้พลังงานเพียง 70-80 กิโลแคลอรี ทั้งไขมันต่ำและแคลอรีต่ำแบบนี้ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม คือวันละ 1 ฟอง ก็ไม่ต้องกังวลว่าไข่ต้มจะทำให้น้ำหนักขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องระวังการรับประทานไข่แดงที่มีคอเลสเตอรอลสูงที่อาจส่งผลต่อสุขภาพได้อยู่บ้าง ดังนั้น ทางที่ดีคือไม่ควรรับประทานไข่แดงเกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์