รู้จัก มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ โรคร้ายที่คร่าชีวิตอ๋อม อรรคพันธ์ เกิดขึ้นได้ยาก รุนแรงสูง

          ทำความรู้จัก มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ หรือ Cardiac Rhabdomyosarcoma ที่คร่าชีวิตอ๋อม อรรคพันธ์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผย พบน้อย รักษายาก - พร้อมอาการที่แสดงถึงจุดเสี่ยง
อ๋อม อรรคพันธ์

ภาพจาก omakapan

          การเสียชีวิตของ อ๋อม อรรคพันธ์ นะมาตร์ ในวัย 39 ปี ถือเป็นข่าวช็อกเพราะเสียชีวิตตั้งแต่ตอนยังหนุ่ม แต่สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ โรคที่อ๋อมป่วย เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ยาก นั่นคือ มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ
 

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ สถิติในไทย พบน้อยมาก แค่ 5-7 คนต่อปี

          วันที่ 22 กันยายน 2567 เดลินิวส์ รายงานว่า ร.อ. นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า โรคมะเร็งหัวใจ หรือมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ พบได้น้อยมาก ทั้งสถิติโลกและประเทศไทย อัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 0.1 ต่อประชากร 1 ล้านคน โดยในประเทศไทยประมาณการการพบผู้ป่วย 5-7 คนต่อปี ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ อายุ 30–50 ปี ส่วนอายุเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 44 ปี และส่วนใหญ่จะพบในผู้ชาย 

          ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า การเกิดโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีการค้นพบพันธุกรรมบางอย่างที่สัมพันธ์กันกับการเกิดโรคนี้ แปลว่า มีความผิดปกติตั้งแต่เกิด ถึงเกิดโรคนี้ขึ้นมา แต่ไม่ใช่ทุกคน ส่วนความเสี่ยงอื่น ๆ ก็เป็นความเสี่ยงทั่วไปที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดเจน

          สำหรับอาการของโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ ระยะแรก ๆ จะไม่ค่อยมีอาการ จะมีอาการเมื่อโรครุนแรงแล้ว และพอรุนแรงก็มักจะไม่สามารถผ่าตัดได้แล้ว การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองมากกว่า ซึ่งในการรักษาก็จะคล้ายกับมะเร็งชนิดอื่น แต่จะยากกว่า เพราะหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญ การผ่าตัดออกมาก็ยาก อีกทั้งกล้ามเนื้อหัวใจเป็นเซลล์ที่เติบโตแล้ว ไม่ค่อยแบ่งตัวแล้ว จึงไม่ค่อยไวต่อยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสง

          ทั้งนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้จะเสียชีวิตภายในประมาณ 6 เดือน เพราะส่วนมากเป็นเยอะแล้ว ส่วนคนที่ให้ยาเคมีบำบัดได้ผลดีก็อาจจะอยู่ได้นานขึ้น และหากใครสามารถผ่าตัดได้ก็จะอยู่ได้นานขึ้นอีกหน่อย
 

รู้จัก มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ

เผยสัญญาณเตือน - วิธีลดความเสี่ยง โรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ

          นพ.ศุภฤกษ์ วิจารณาญาณ แพทย์เวชปฏิบัติ เจ้าของเพจดัง หมอโอ๊ค DoctorSixpack ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าว เริ่มจากการเล่าอาการป่วยของอ๋อมว่า พบก้อนเนื้อบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดยาว 12 เซนติเมตร ทำคีโมไปแล้ว 5-6 ครั้ง อีกทั้งมะเร็งยังลามไปที่ปอด 2 จุด แม้จะผ่าตัดแต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ หลังรักษาตัวมานาน 3 ปี อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าสาเหตุของการเสียชีวิตคือโรคอะไรแบบฟันธง แต่หมอสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นโรค Cardiac rhabdomyosarcoma และอีกโรคที่อาจเป็นได้ ก็คือ cardiac angiosarcoma

          โรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ หรือ Cardiac Rhabdomyosarcoma แม้จะมีโอกาสพบได้น้อย แต่อันตรายถึงชีวิตมาก โรคนี้สามารถเกิดได้ในทุกวัย แต่มักพบในเด็กและวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่
 

สาเหตุการเกิดโรค

          ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงได้ 5 ข้อ ดังนี้

         
1. พันธุกรรม

          2. ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กลุ่มอาการ Li-Fraumeni

          3. การได้รับรังสีบริเวณทรวงอก อาจเพิ่มความเสี่ยงในระยะยาว

          4. ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งหลายชนิด รวมถึง Cardiac Rhabdomyosarcoma

          5. สารพิษบางชนิด การสัมผัสสารเคมีบางประเภทอาจเพิ่มความเสี่ยง
 

สัญญาณเตือนอาการของการเป็นโรค มีทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้

          1. เหนื่อยง่ายผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อออกแรงเพียงเล็กน้อย

          2. หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือรู้สึกใจสั่น

          3. หายใจลำบาก โดยเฉพาะเวลานอนราบ

          4. อาการบวมที่ขาหรือข้อเท้า

          5. เจ็บหน้าอกหรือรู้สึกแน่นหน้าอก

          6. อาการคล้ายเป็นลม หรือหมดสติ
 

ความเสี่ยงของโรค

          ถ้าหากมีข้อสงสัยว่าเสี่ยงจะเป็นมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ จะมีการวินิจฉัยด้วยกัน 6 วิธี โดยจะเน้นตรวจไปที่หัวใจ ดังนี้

          1. ตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงการฟังเสียงหัวใจ

          2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ EKG)

          3. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)

          4. การตรวจด้วยภาพถ่ายรังสีคอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

          5. การตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา
 

วิธีการรักษา

          โรคนี้จะใช้วิธีการผสมผสานกันหลายข้อ เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิต โดยสถิติชี้ชัดว่า มีผู้ป่วยรอดชีวิตเกิน 3 ปีได้ถึง 60% ดังนี้

          1. การผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกออก (หากทำได้)

          2. เคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง

          3. รังสีรักษา เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

          4. การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy)

          5. การปลูกถ่ายหัวใจ ในกรณีที่จำเป็น
 

วิธีการลดความเสี่ยงการเป็นโรค Cardiac Rhabdomyosarcoma

          มีทั้งหมด 5 ข้อ แม้จะไม่ได้การันตีว่าจะช่วยได้ 100% ก็ตาม ดังนี้

          1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

          2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีอันตรายโดยไม่จำเป็น

          3. ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะการตรวจหัวใจ

          4. สังเกตอาการผิดปกติและพบแพทย์ทันทีหากมีข้อสงสัย

          5. หากมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองเพิ่มเติม
 

ทำไมโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจถึงเป็นโรคเกิดขึ้นได้ยาก

          TikTok @dr.aonchatpon ของหมออ้น แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมพลาสติก มีการเล่าถึงสาเหตุที่มันเป็นโรคเกิดขึ้นได้ยากว่า หัวใจเป็นอวัยวะที่ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน แต่มะเร็งส่วนใหญ่มักเกิดในอวัยวะที่เป็นท่อ เยื่อบุ มีอะไรที่เป็นพื้นผิว เช่น เต้านม ลำไส้ ผิวหนัง เพราะมันมีการแบ่งตัวตลอดเวลา

          กล้ามเนื้อหัวใจ จะไม่ค่อยแบ่งตัว เป็นกล้ามเนื้อสำคัญ ฉะนั้นโอกาสที่จะพบมะเร็งตรงจุดนี้ยากมาก อัตราการพบ 1 ใน 5 หมื่น จากทั้งโลก

 

อ๋อม อรรคพันธ์

ภาพจาก omakapan

อ๋อม อรรคพันธ์

ภาพจาก omakapan

อ๋อม อรรคพันธ์

ภาพจาก omakapan

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ โรคร้ายที่คร่าชีวิตอ๋อม อรรคพันธ์ เกิดขึ้นได้ยาก รุนแรงสูง อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2567 เวลา 19:08:54 34,138 อ่าน
TOP
x close