ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การปล่อยให้เด็ก ๆ มีเวลาเล่นอิสระเป็นวิธีที่ดีในการเตรียมพวกเขาให้พร้อมรับมือกับอนาคต
ให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างอิสระ ตามความสนใจ ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์แน่นอน การเล่นแบบนี้นอกจากจะสนุกแล้วยังช่วยพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions) ซึ่งสำคัญต่อการควบคุมพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์
ยิ่งเด็ก ๆ ฝึกทักษะสมอง EF มากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งมีความสามารถในการจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น การเล่นอิสระเป็นวิธีธรรมชาติที่ช่วยส่งเสริมทักษะสมอง EF ดังนี้ :
การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating)
ในขณะที่เล่นอิสระ เด็ก ๆ จะมีอิสระในการเลือกเล่นตามความสนใจของตนเอง พวกเขาจะได้คิดค้นสร้างสรรค์วิธีการเล่นใหม่ ๆ โดยไม่มีข้อจำกัดจากกฎเกณฑ์ตายตัว เช่น การสร้างปราสาททรายตามจินตนาการ หรือลองทำโครงการศิลปะที่พวกเขาคิดขึ้นมาเอง การที่เด็ก ๆ ได้ทดลองไอเดียใหม่ ๆ และฝึกคิดนอกกรอบ จะช่วยให้มีความกล้าในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ในทางตรงกันข้าม การเล่นที่มีผู้ใหญ่ควบคุม เด็กจะเคยชินกับการทำตามคำสั่งและอาจไม่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ เพราะไม่มั่นใจในตัวเอง
การวางแผนและจัดการ (Planning & Organizing)
การเล่นอิสระทำให้เด็ก ๆ ได้คิดวางแผนและตัดสินใจด้วยตัวเอง กำหนดว่าจะเล่นอะไร ใช้อุปกรณ์อะไร เล่นอย่างไรให้สนุก การที่เด็ก ๆ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นตามสถานการณ์จริง รวมถึงการควบคุมตัวเองให้ทำจนสำเร็จ จะช่วยพัฒนาทักษะการวางแผนและการจัดการ ในขณะที่การเล่นที่มีผู้ใหญ่จัดการให้ เด็ก ๆ จะไม่ค่อยได้ฝึกทักษะการวางแผนด้วยตัวเอง
การจดจำข้อมูลเพื่อนำมาใช้งาน (Working Memory)
การเล่นอิสระช่วยฝึกทักษะนี้ได้ดี เช่น การจดจำกติกาและข้อตกลงในการเล่น การทบทวนวิธีการเล่น และเชื่อมโยงข้อมูลใหม่กับประสบการณ์ที่ผ่านมา เมื่อเจออุปสรรคในการเล่น เด็ก ๆ จะต้องดึงข้อมูลที่มีอยู่มาคิดหาวิธีแก้ไข ทำให้ Working Memory ได้รับการฝึกฝน ในขณะที่การเล่นที่มีผู้ใหญ่ควบคุม เด็กจะรอฟังคำสั่งและทำตามขั้นตอนที่กำหนด
การยืดหยุ่นทางความคิด (Cognitive Flexibility)
การเล่นอิสระช่วยส่งเสริมการยืดหยุ่นทางความคิด เช่น เด็กอาจเปลี่ยนวิธีการเล่นเมื่อเจออุปสรรค หรือปรับเปลี่ยนกติกาให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ การที่เด็กต้องค้นหาวิธีแก้ปัญหาและเรียนรู้ที่จะฟังความคิดเห็นของผู้อื่นจะช่วยพัฒนาทักษะการยืดหยุ่นทางความคิด ในขณะที่การเล่นที่มีโครงสร้างและผู้ใหญ่แนะนำ เด็กมักถูกควบคุมให้ทำตามกฎ ทำให้ไม่มีโอกาสฝึกทักษะนี้
การจดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention)
การเล่นอิสระช่วยให้เด็ก ๆ ได้กำหนดเป้าหมายและแนวทางการเล่นด้วยตัวเอง เช่น การปั้น การต่อตามแบบที่คิดขึ้นมาเอง การที่เด็กได้เล่นในสิ่งที่ชอบและสนใจจะช่วยให้พวกเขาจดจ่อใส่ใจเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องรอให้ผู้ใหญ่บอกหรือควบคุม
การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)
การเล่นอิสระช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การจัดการกับอารมณ์หลากหลายด้วยตัวเอง เช่น เมื่อเด็ก ๆ รู้สึกโกรธหรืองอแงเพราะไม่ได้ตามที่ต้องการ พวกเขาจะต้องหาวิธีควบคุมอารมณ์และปรับเปลี่ยนสถานการณ์เพื่อให้การเล่นดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น การเผชิญกับความผิดหวังหรือความล้มเหลวจะช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้การอดทนและควบคุมอารมณ์ ต่างจากการเล่นที่มีผู้ใหญ่ช่วยเหลือ
การยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control)
เมื่อเด็ก ๆ เล่นอิสระ พวกเขาจะต้องรู้จักยับยั้งตัวเองไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การไม่แย่งของเล่นจากเพื่อน ต้องควบคุมตัวเองเพื่อให้เล่นเข้ากับกติกาที่ตกลงกับเพื่อนไว้ การตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร จะช่วยฝึกการยับยั้งชั่งใจที่มาจากแรงผลักดันภายใน ในขณะที่การเล่นที่มีผู้ใหญ่ควบคุม เด็กจะทำตามข้อกำหนดจากภายนอก
การเล่นอิสระไม่เพียงสร้างความสุขให้กับลูก แต่ยังเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับอนาคตที่สดใส มาสนับสนุนการเล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์กันเถอะ !
ชวนอ่านข้อมูลความรู้ที่พลาดไม่ได้เกี่ยวกับการเล่นอิสระได้ที่นี่ >>
creativehealthcampaign.thaihealth.or.th
กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดี ๆ จาก สสส. เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
TikTok : @thaihealth
YouTube : SocialMarketingTH
Website : Social Marketing Thaihealth