น้ำมันปลา ยี่ห้อไหนดี 2025 เติมโอเมก้า 3 ให้กับร่างกาย เลือกอย่างไรได้ประโยชน์จริง ๆ

           น้ำมันปลา ยี่ห้อไหนดี ปี 2025 จะเติมกรดไขมันโอเมก้า 3 ให้กับร่างกายทั้งที ต้องรู้เคล็ดลับในการเลือกซื้อน้ำมันปลาให้ได้คุณภาพจริง ๆ เพื่อสุขภาพที่ดี
สรรพคุณน้ำมันปลา

           ในยุคที่ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยเติมเต็มสารอาหารต่าง ๆ ให้กับร่างกายจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายใน พ.ศ. นี้ โดยเฉพาะ "น้ำมันปลา (Fish oil)" ที่เป็นแหล่งรวมของกรดไขมันโอเมก้า 3 กรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่กลับมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพมากมาย แล้วเราควรเลือกน้ำมันปลา ยี่ห้อไหนดี เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างเต็มประสิทธิภาพ วันนี้เรามีข้อมูลมาแนะนำ พร้อมรีวิวแบรนด์ที่น่าสนใจ

รู้จักโอเมก้า 3 สารสำคัญในน้ำมันปลา

           ก่อนอื่นอยากชวนมารู้จักกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3) ที่เป็นพระเอกของน้ำมันปลากันสักหน่อย
โอเมก้า 3

          โอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนชนิดหนึ่งที่จัดเป็นไขมันดี มีความสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะในหลาย ๆ ระบบ แต่ทว่าร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จึงต้องรับประทานอาหารที่อุดมด้วยโอเมก้า 3 เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างน้ำมันปลา เพื่อให้ร่างกายนำกรดไขมันโอเมก้า 3 ไปใช้ประโยชน์ โดยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่พบในน้ำมันปลา ประกอบด้วย 2 ชนิดสำคัญ คือ

  • กรดไขมัน EPA หรือ กรดไขมันอีโคซาเพนทาอีโนอิก (Eicosapentaenoic acid) มีคุณสมบัติในเรื่องช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสมองและระบบประสาท

  • กรดไขมัน DHA หรือ กรดไขมันโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (Docosahexaenoic acid) เป็นกรดไขมันที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการพัฒนาเซลล์สมองและจอประสาทตา จึงอาจมีส่วนช่วยเสริมสร้างความจำ การเรียนรู้ และสมาธิ เป็นต้น

น้ำมันปลา ช่วยอะไร
กับสรรพคุณที่ควรรู้

ประโยชน์ของน้ำมันปลา

           คุณประโยชน์ของน้ำมันปลาล้วนมาจากกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิด EPA และ DHA ซึ่งองค์กรด้านสุขภาพส่วนใหญ่แนะนำให้วัยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีควรได้รับ EPA และ DHA อย่างน้อย 250-500 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อดูแลสุขภาพโดยรวม ดังเช่น

ดูแลสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

          มีการศึกษาหลายแห่งระบุว่า กรดไขมันโอเมก้า 3 ทั้ง EPA และ DHA มีส่วนช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดที่ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว และช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ดังนั้น การรับประทานน้ำมันปลาหรือปลาเป็นประจำจึงอาจมีส่วนช่วยลดความดันโลหิตและลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง

เสริมการทำงานของสมอง

           กรดไขมัน DHA เป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์สมองในการสร้างและซ่อมแซมเซลล์ประสาท เป็นผลให้สมองประมวลข้อมูลได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังเสริมพัฒนาการในเรื่องการเรียนรู้และความจำ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า การรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 เป็นประจำอาจช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะสมองเสื่อมได้ถึง 20% (อ้างอิง : foodforthebrain.org, pubmed.ncbi.nlm.nih.gov) เนื่องจาก DHA ช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์ประสาท รวมทั้งเสริมสร้างเส้นใยประสาทให้แข็งแรง ทำให้การส่งผ่านสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทมีประสิทธิภาพ

ช่วยดูแลสุขภาพดวงตา

           กรดไขมัน DHA มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของดวงตาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะจอประสาทตาที่เป็นส่วนรับภาพและส่งสัญญาณไปยังสมอง มีปริมาณ DHA มากถึง 60% ของกรดไขมันในประสาทตาทั้งหมด การได้รับ DHA อย่างเพียงพออาจช่วยสนับสนุนสุขภาพจอประสาทตา

เสริมสร้างสุขภาพเซลล์ในร่างกาย

           โอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ โดยช่วยให้เยื่อหุ้มเซลล์มีความยืดหยุ่น สามารถควบคุมการผ่านเข้า-ออกของสารต่าง ๆ และส่งผ่านสัญญาณระหว่างเซลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของร่างกายโดยรวม

ช่วยดูแลข้อต่อ

          กรดไขมัน DHA มีส่วนช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อและเส้นเอ็น ทำให้เคลื่อนไหวคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงมีส่วนช่วยลดภาวะอักเสบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย

ดีต่อสุขภาพผิว

           การได้รับโอเมก้า 3 ในปริมาณที่เพียงพออาจช่วยให้ผิวพรรณของเราดูสุขภาพดี ด้วยการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยดูแลผิวจากภายใน และยังมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ

ปรับสมดุลสารสื่อประสาท

           โอเมก้า 3 อาจมีส่วนช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เช่น เซโรโทนิน และโดปามีน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก

น้ำมันปลา เหมาะกับใครบ้าง

          คนรักสุขภาพสามารถรับประทานน้ำมันปลาได้เป็นประจำ และน้ำมันปลายังมีประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับกลุ่มคนดังต่อไปนี้

  • นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการดูแลสมองให้สามารถเรียนรู้ จดจำ และมีสมาธิมากขึ้น

  • วัยทำงานที่มีความเครียดสูง ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ต้องการกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่อาจช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียด ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย มีสมาธิจดจ่อกับงานได้นานขึ้น

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากน้ำมันปลาอาจมีส่วนช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์

  • ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง หรือมีภาวะไขมันในเลือดสูง การรับประทานน้ำมันปลาในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์

  • ผู้สูงอายุ เพราะน้ำมันปลาอาจช่วยชะลอการเสื่อมของสมองและสุขภาพของจอประสาทตา

  • ผู้ที่รับประทานอาหารได้จำกัด หรือรับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอ การรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ

  • ผู้ที่มีปัญหาปวดเข่า ปวดขา สามารถรับประทานน้ำมันปลาที่อาจมีส่วนช่วยลดการอักเสบ

  • นักกีฬาและคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ควรได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 ไปช่วยบำรุงข้อต่อ และอาจช่วยลดการอักเสบในกล้ามเนื้อ

น้ำมันปลา กินตอนไหนดี

น้ำมันปลา กินตอนไหนดีที่สุด

          น้ำมันปลาที่วางขายในท้องตลาดบางชนิดละลายได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ร่างกายดูดซึมได้ไม่ดี บางคนเมื่อรับประทานแล้วอาจเกิดอาการข้างเคียง เช่น ลมหายใจเหม็นคาว เรอมีกลิ่นคาวปลา คลื่นไส้

          ดังนั้น เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ จึงแนะนำให้รับประทานน้ำมันปลาพร้อมอาหารหรือก่อนมื้ออาหารเล็กน้อย เพื่อให้ไขมันจากอาหารเป็นตัวช่วยละลายน้ำมันปลา และให้น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารช่วยในการแตกตัวของน้ำมันปลา ร่างกายจะได้ดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น พร้อมกับลดอาการข้างเคียงต่าง ๆ ลงได้ด้วย

วิธีเลือกซื้อน้ำมันปลา
ต้องพิจารณาอะไรบ้าง

          น้ำมันปลามีหลากหลายยี่ห้อและหลากหลายสูตร แล้วเราควรจะเลือกซื้ออย่างไรให้ได้น้ำมันปลาคุณภาพดีจริง ๆ นี่คือสิ่งที่ควรพิจารณา

  • พิจารณาแหล่งที่มาของปลา โดยควรเลือกน้ำมันปลาที่สกัดมาจากปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาแอนโชวี่ ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง และมีโอกาสปนเปื้อนสารพิษน้อยกว่าปลาทะเลน้ำตื้น

  • เลือกน้ำมันปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิด EPA และ DHA ในปริมาณสูงอย่างน้อย 500 มิลลิกรัม เพื่อดูแลสุขภาพสมอง หัวใจ และเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย หรือหากต้องการดูแลสุขภาพดวงตา ผิวพรรณ และข้อต่อต่าง ๆ เพิ่มเติมจากอาหารปกติ ควรรับประทานในปริมาณ 1,000 มิลลิกรัม หรือในปริมาณที่เหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำ

  • อ่านฉลากอย่างละเอียดว่าในน้ำมันปลา 1 แคปซูล มีปริมาณของกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นสัดส่วนเท่าไร เนื่องจากในอาหารเสริมน้ำมันปลาทั่วไปมักมีส่วนผสมของน้ำมันส่วนเกินรวมอยู่ด้วย ซึ่งถ้ามีน้ำมันส่วนเกินปริมาณมากเกินไปจะส่งผลให้ร่างกายดูดซึมกรดไขมัน EPA และ DHA ได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น จึงควรเลือกซื้อน้ำมันปลาที่มีน้ำมันส่วนเกินผสมอยู่น้อยที่สุด และถ้าจะให้ดีก็ควรเป็นน้ำมันปลาที่ปราศจากไขมันอิ่มตัว

  • เลือกน้ำมันปลาที่ดูดซึมง่าย ละลายง่าย เพื่อให้ร่างกายได้ประโยชน์จากกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างเต็มประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร เช่น เรอเหม็นคาวปลา คลื่นไส้ โดยอาจพิจารณาจากกรรมวิธีการผลิตน้ำมันปลาของแต่ละแบรนด์

  • เลือกน้ำมันปลาที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ไม่มีสารปนเปื้อน ปราศจากโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว เพื่อความปลอดภัยในการรับประทานอย่างต่อเนื่อง

  • น้ำมันปลาควรบรรจุมาในรูปแบบซอฟต์เจล ซึ่งจะช่วยป้องกันการสัมผัสกับอากาศโดยตรง เป็นการรักษาคุณค่าทางอาหาร อีกทั้งช่วยลดกลิ่นคาวและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น

  • น้ำมันปลาควรบรรจุในภาชนะที่ป้องกันแสงและความร้อน เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพก่อนกำหนด

  • เลือกซื้อน้ำมันปลาที่ไม่เจือสี ไม่ใช้วัตถุกันเสีย หรือสารเติมแต่งต่าง ๆ

  • ตรวจสอบส่วนผสมอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น น้ำมันปลาบางแบรนด์มีส่วนผสมของถั่วเหลือง จึงไม่เหมาะกับคนที่มีอาการแพ้ถั่ว เป็นต้น

  • เพื่อให้ได้น้ำมันปลาที่มีคุณภาพสูงสุด ควรตรวจสอบเครื่องหมาย อย. วันผลิต วันหมดอายุ ก่อนตัดสินใจซื้อ

           เมื่อทราบถึงวิธีการเลือกซื้อน้ำมันปลาแล้ว คราวนี้ตามมาดูกันว่าใน พ.ศ. นี้ มีน้ำมันปลายี่ห้อไหนน่าสนใจบ้าง

น้ำมันปลา ยี่ห้อไหนดี ปี 2025

1. น้ำมันปลา nutrilite omega (นิวทริไลท์ โอเมก้า)

น้ำมันปลาแอมเวย์

ภาพจาก : amway.co.th

          "น้ำมันปลา นิวทริไลท์ โอเมก้า จากแอมเวย์" เป็นแบรนด์แรกที่ต้องขอบอกต่อ เพราะใน 1 แคปซูล ประกอบด้วยน้ำมันปลา 744 มิลลิกรัม ซึ่งให้กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิด EPA 286 มิลลิกรัม และ DHA 214 มิลลิกรัม รวม 500 มิลลิกรัม จัดว่าเป็นน้ำมันปลาที่มีปริมาณ EPA และ DHA ในสัดส่วนที่เหมาะกับการดูแลสุขภาพ และแบรนด์นี้ก็ใช้ปลาทะเลน้ำลึกอย่างปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาแอนโชวี่ ที่จับแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้รับการรับรองจาก Friend of The Sea (FOS) ด้วยนะ

          จุดเด่นอีกข้อของน้ำมันปลา นิวทริไลท์ โอเมก้า ก็คือ ใน 1 แคปซูล มีน้ำมันส่วนเกินน้อยกว่าแบรนด์อื่น ๆ พอสมควร และยังเสริมด้วยน้ำมันจากเมล็ดเจียพร้อมวิตามินอีที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ปราศจากกรดไขมันอิ่มตัว จึงรับประโยชน์จากน้ำมันปลาได้เต็มประสิทธิภาพ ส่วนใครที่กังวลเรื่องกลิ่นคาวปลาก็หายห่วงได้ เพราะนิวทริไลท์ โอเมก้า เป็นน้ำมันปลาที่ละลายได้ดี สามารถช่วยลดอาการเรอกลิ่นคาวปลา หรือลมหายใจมีกลิ่นคาว รับประทานได้ง่ายทีเดียว

  • ปริมาณน้ำมันปลา : 1 แคปซูล มีน้ำมันปลา 744 มิลลิกรัม ให้กรดไขมันโอเมก้า 3 500 มิลลิกรัม เป็น EPA 286 มิลลิกรัม และ DHA 214 มิลลิกรัม 

  • วิธีรับประทาน : รับประทานวันละ 1 แคปซูล พร้อมอาหาร

  • ขนาดบรรจุ : 30 แคปซูล

  • ราคาปกติ : 975 บาท (ราคาสมาชิก)  

  • พิกัด : แอมเวย์ ช็อป ทุกสาขา / www.amway.co.th / แอปพลิเคชัน Amway Click / LINE Amway Thailand / Amway Contact Center : 0 2725 8000

  • ข้อมูลเพิ่มเติม : www.amway.co.th

2. น้ำมันปลา Nordic Naturals Ultimate Omega

น้ำมันปลา Nordic

ภาพจาก : nordic.com

          Nordic Naturals Ultimate Omega เป็นน้ำมันปลาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตจากสารสกัดเข้มข้นของปลาซาร์ดีนและปลาแอนโชวี่ที่จับจากธรรมชาติ 100% นำมาผ่านวิธีการสกัดเพื่อให้ได้กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีคุณภาพ และบรรจุน้ำมันปลาในซอฟต์เจลกลิ่นเลมอน หอมสดชื่น แถมช่วยดับกลิ่นคาว และทำให้รับประทานง่าย 

  • ปริมาณน้ำมันปลา : 1 แคปซูล มีน้ำมันปลา 1,280 มิลลิกรัม ให้กรดไขมัน EPA 650 มิลลิกรัม และ DHA 450 มิลลิกรัม  

  • วิธีรับประทาน : วันละ 2 แคปซูล พร้อมอาหาร หรือตามที่แพทย์แนะนำ 

  • ขนาดบรรจุ : 60 แคปซูล

  • ราคาประมาณ : 1,000 บาท

3. น้ำมันปลา Garden of Life Dr. Formulated Advanced Omega Softgels

น้ำมันปลา Garden of Life

ภาพจาก : gardenoflife.com

          อีกหนึ่งแบรนด์อาหารเสริมจากประเทศสหรัฐอเมริกา มาในรูปซอฟต์เจลกลิ่นเลมอน ที่ร่างกายดูดซึมได้ง่าย ส่วนข้างในก็อัดแน่นไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่สกัดจากปลาทูน่าจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ผ่านการรับรองจากโครงการ Non-GMO Project จึงมั่นใจได้ว่าเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีคุณภาพ  

  • ปริมาณน้ำมันปลา : 1 แคปซูล มีน้ำมันปลา 1,290 มิลลิกรัม ให้กรดไขมัน EPA 695 มิลลิกรัม และ DHA 465 มิลลิกรัม  

  • วิธีรับประทาน : ครั้งละ 2 แคปซูล

  • ขนาดบรรจุ : 60 แคปซูล

  • ราคาประมาณ : 900 บาท

4. น้ำมันปลา สุภาพโอสถ

น้ำมันปลา สุภาพโอสถ

ภาพจาก : suphaposod.com

          มาที่แบรนด์ไทยกันบ้าง กระปุกนี้เป็นน้ำมันปลา 1,000 มิลลิกรัม ยี่ห้อสุภาพโอสถ ที่สกัดกรดไขมันโอเมก้า 3 จากปลาทะเลน้ำลึก ผ่านกระบวนการผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐานสากล จึงได้กรดไขมันที่มีคุณภาพครบทั้ง DHA, EPA และมีวิตามินอีผสมมาด้วย มาในรูปแบบซอฟต์เจล รับประทานง่าย และง่ายต่อการดูดซึม

  • ปริมาณน้ำมันปลา : 1 แคปซูล มีน้ำมันปลา 1,000 มิลลิกรัม ให้กรดไขมัน EPA 180 มิลลิกรัม และ DHA 120 มิลลิกรัม  

  • วิธีรับประทาน : วันละ 1 แคปซูล หลังอาหาร 

  • ขนาดบรรจุ : 200 แคปซูล

  • ราคาปกติ : 1,200 บาท

5. น้ำมันปลา เบญจออยล์

น้ำมันปลา เบญจออยล์

ภาพจาก : benjaoil.com

          น้ำมันปลา เบญจออยล์ สกัดมาจากปลาน้ำลึกในเขตหนาว ซึ่งอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีคุณภาพและความบริสุทธิ์ โดยใน 1 ซอฟต์เจลจะให้น้ำมันปลา 1,000 มิลลิกรัม ให้กรดไขมัน EPA 180 มิลลิกรัม และกรดไขมัน DHA 120 มิลลิกรัม นับเป็นน้ำมันปลาแบรนด์ไทยที่หาซื้อได้ง่ายอีกหนึ่งยี่ห้อ

  • ปริมาณน้ำมันปลา : 1 แคปซูล มีน้ำมันปลา 1,000 มิลลิกรัม ให้กรดไขมัน EPA 180 มิลลิกรัม และ DHA 120 มิลลิกรัม  

  • วิธีรับประทาน : วันละ 1 แคปซูล

  • ขนาดบรรจุ : 100 แคปซูล

  • ราคาปกติ : 650 บาท

6. น้ำมันปลา MEGA We care

น้ำมันปลา MEGA We care

ภาพจาก : megawecare.co.th

          MEGA We care แบรนด์อาหารเสริมที่มีชื่อเสียงระดับต้น ๆ ในไทย มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาที่สกัดมาจากปลาแอนโชวี่ที่อาศัยในทะเลน้ำลึกของประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งใน 1 แคปซูล ขนาด 1,000 มิลลิกรัม ให้กรดไขมัน EPA 180 มิลลิกรัม กรดไขมัน DHA 120 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังมีวิตามินอีที่จะช่วยป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นของน้ำมันปลา 

  • ปริมาณน้ำมันปลา : 1 แคปซูล มีน้ำมันปลา 1,000 มิลลิกรัม ให้กรดไขมัน EPA 180 มิลลิกรัม และ DHA 120 มิลลิกรัม 

  • วิธีรับประทาน : ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหาร

  • ขนาดบรรจุ : 100 แคปซูล

  • ราคาปกติ : 655 บาท

7. น้ำมันปลา VISTRA Salmon Fish Oil 1000 mg Plus Vitamin E

น้ำมันปลา VISTRA Salmon

ภาพจาก : vistra.co.th

          น้ำมันปลาจากวิสทร้าขวดนี้เป็นน้ำมันปลาที่สกัดมาจากปลาแซลมอน ประเทศนอร์เวย์ ใน 1 แคปซูลจะได้โอเมก้า 3 ในปริมาณ 350 มิลลิกรัม เป็นกรดไขมัน EPA 180 มิลลิกรัม และ DHA อีก 120 มิลลิกรัม ผสมกับวิตามินอีอีก 9.09 มิลลิกรัม (10 หน่วยสากล) และเป็นสูตรใหม่ที่ปรับให้ไม่มีกลิ่นคาว ซอฟต์เจลมีขนาดเล็กลง ช่วยให้รับประทานง่ายขึ้น

  • ปริมาณน้ำมันปลา : 1 แคปซูล มีน้ำมันปลา 1,000 มิลลิกรัม ให้กรดไขมัน EPA 180 มิลลิกรัม และ DHA 120 มิลลิกรัม

  • วิธีรับประทาน : ครั้งละ 1 แคปซูล พร้อมมื้ออาหาร

  • ขนาดบรรจุ : 45 แคปซูล

  • ราคาปกติ : 220 บาท 

8. น้ำมันปลา Blackmores Omega Triple Daily

น้ำมันปลา Blackmores

ภาพจาก : blackmores.co.th

          หากกำลังมองหาน้ำมันปลาที่มีโดสสูง Blackmores Omega Triple Daily ขวดนี้ให้น้ำมันปลามาถึง 1,500 มิลลิกรัม เป็นสูตรโอเมก้า 3 เข้มข้น ประกอบไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ปริมาณ 930 มิลลิกรัม แบ่งเป็นกรดไขมัน EPA 540 มิลลิกรัม กรดไขมัน DHA 360 มิลลิกรัม สูตรนี้ก็ไม่มีกลิ่นคาว รับประทานง่าย ผ่านการตรวจสอบปริมาณสารปรอทและตะกั่วแล้ว ทว่าถ้าดูจากฉลากจะเห็นได้ว่ามีปริมาณน้ำมันส่วนเกินอยู่ราว ๆ 570 มิลลิกรัม ซึ่งก็ถือว่าเยอะพอสมควร

  • ปริมาณน้ำมันปลา : 1 แคปซูล มีน้ำมันปลา 1,500 มิลลิกรัม ให้กรดไขมัน EPA 540 มิลลิกรัม และ DHA 360 มิลลิกรัม

  • วิธีรับประทาน : รับประทานพร้อมอาหาร วันละ 1 แคปซูล 

  • ขนาดบรรจุ : 60 แคปซูล

  • ราคาปกติ : 1,310 บาท 

9. น้ำมันปลา Vitamate Max Fish Oil

น้ำมันปลา Vitamate Max

ภาพจาก : skinusloc.com

          ไวตาเมท แมก ฟิชออยล์ 1,000 มิลลิกรัม เป็นอาหารเสริมน้ำมันปลาที่ให้กรดไขมัน EPA 180 มิลลิกรัม กรดไขมัน DHA 120 มิลลิกรัม มาในรูปแบบซอฟต์เจลที่ง่ายต่อการดูดซึม ส่วนรสชาติและกลิ่นนั้น จากรีวิวบอกว่าไม่มีกลิ่นคาว รับประทานง่าย แถมราคาก็ค่อนข้างดี

  • ปริมาณน้ำมันปลา : 1 แคปซูล มีน้ำมันปลา 1,000 มิลลิกรัม ให้กรดไขมัน EPA 180 มิลลิกรัม และ DHA 120 มิลลิกรัม

  • วิธีรับประทาน : วันละ 1 แคปซูล พร้อมอาหาร 

  • ขนาดบรรจุ : 90 แคปซูล

  • ราคาปกติ : 880 บาท

ข้อควรระวัง
ในการรับประทานน้ำมันปลา

          แม้น้ำมันปลาจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน แต่ยังมีข้อควรระวังที่ควรทราบก่อนตัดสินใจรับประทานดังต่อไปนี้

  • อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค

  • เมื่อเริ่มรับประทานน้ำมันปลาใหม่ ๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ เรอเป็นกลิ่นคาวปลา แน่นท้อง หรือท้องเสียในบางคน

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้อาหารทะเล แพ้ปลา 

  • ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำควรระวังการรับประทานน้ำมันปลาที่อาจยิ่งทำให้ความดันโลหิตลดลง 

  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย หรือภาวะเลือดแข็งตัวช้า ไม่ควรรับประทานน้ำมันปลา เนื่องจากโอเมก้า 3 มีคุณสมบัติต้านการแข็งตัวของเลือด อาจส่งผลให้เลือดหยุดไหลช้าลง

  • ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารควรระวังการรับประทานน้ำมันปลา เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออก 

  • ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน วาร์ฟาริน ไม่ควรรับประทานน้ำมันปลา  

  • หากจะเข้ารับการผ่าตัดควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังรับประทานน้ำมันปลาอยู่ และควรงดการรับประทานน้ำมันปลาก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 14 วัน

  • เด็กและสตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานน้ำมันปลา

  • กรณีมีโรคประจำตัวและรับประทานยาอยู่เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานน้ำมันปลา

  • ไม่ควรรับประทานน้ำมันปลาร่วมกับอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

  • ไม่ควรรับประทานน้ำมันปลาเกินขนาดที่ระบุไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ เพราะการรับประทานน้ำมันปลามากเกินไปอาจเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในเลือด รวมทั้งทำให้เลือดหยุดไหลช้าลง 

  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค  

  • หากมีอาการผิดปกติภายหลังจากการรับประทานน้ำมันปลาควรหยุดใช้ทันทีและรีบไปพบแพทย์

           การเลือกซื้อน้ำมันปลาไม่ควรพิจารณาเพียงแค่เรื่องราคาเท่านั้น แต่ควรมองหาน้ำมันปลาที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การคัดสรรปลาทะเลที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัยจากสารปนเปื้อน ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยให้น้ำมันปลาละลายง่าย ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลกับผลข้างเคียง อย่างลมหายใจหรือเรอมีกลิ่นคาวปลา เท่านี้ก็จะได้รับความคุ้มค่าจากการรับประทานน้ำมันปลาแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขภาพที่ดีโดยรวมควรรับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสม และออกกำลังกายเป็นประจำด้วยนะ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำมันปลา ยี่ห้อไหนดี 2025 เติมโอเมก้า 3 ให้กับร่างกาย เลือกอย่างไรได้ประโยชน์จริง ๆ อัปเดตล่าสุด 2 มกราคม 2568 เวลา 17:20:01 27,307 อ่าน
TOP