ความเข้าใจผิด#1 การปล่อยให้เด็กเล่นอิสระทำให้เกิดอันตราย
หนึ่งในความเข้าใจผิดที่พบบ่อยคือ การเล่นอิสระเป็นกิจกรรมที่อาจเกิดอันตรายได้ เพราะเด็กไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมจากผู้ใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วการเล่นอิสระไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้เด็กทำอะไรก็ได้โดยไม่มีการดูแล ผู้ใหญ่ยังคงมีบทบาทในการคอยดูอยู่ในสายตา และสนับสนุนให้การเล่นเป็นไปอย่างปลอดภัย เช่น ทำข้อตกลงร่วมกันกับเด็กเกี่ยวกับขอบเขตของการเล่น เตรียมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้เด็กสามารถเล่นได้อย่างอิสระ หรือช่วยประเมินความเสี่ยงตามสถานการณ์ หากพบว่าไม่ปลอดภัย ผู้ใหญ่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ โดยใช้การพูดเชิงบวก อธิบายเหตุผล และหยุดการเล่นที่อาจเป็นอันตรายด้วยท่าทีที่ใจเย็นแต่หนักแน่น
ความเข้าใจผิด#2 เล่นอิสระทำให้เสียเวลาเปล่า ๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร
บางคนมองว่าการเล่นอิสระเป็นกิจกรรมที่ไม่มีสาระ หรือเป็นการเสียเวลา ควรใช้เวลาไปกับกิจกรรมเสริมทักษะอื่น ๆ แทนดีกว่า แต่แท้จริงแล้วการเล่นอิสระเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ฝึกทักษะหลายด้านด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การควบคุมอารมณ์ หรือการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาการในระยะยาว และยังเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เด็กมีความสุขและผ่อนคลาย ช่วยให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมดุลและสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง
ความเข้าใจผิด#3 เด็กที่เล่นอิสระจะขาดวินัย ไม่รู้จักทำตามกฎ
อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่พบบ่อยคือหลายคนเชื่อว่าเด็กที่เล่นอิสระจะขาดวินัยและไม่รู้จักทำตามกฎระเบียบ แต่ การเล่นอิสระช่วยให้เด็กเรียนรู้วินัยได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้การเล่นแบบอื่น โดยผ่านการตั้งข้อตกลงร่วมกันและยอมรับผลที่ตามมาหากไม่ทำตามข้อตกลงนั้น เช่น การเล่นในพื้นที่ปลอดภัยที่กำหนดร่วมกันกับผู้ปกครอง การที่ต้องช่วยกันเก็บของและทำความสะอาดหลังเล่นเสร็จ หรือการเล่นตามกติกาที่ตกลงกันกับเพื่อน ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยเสริมสร้างวินัยจากภายในอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากผู้ใหญ่เสมอไป
ความเข้าใจผิด#4 ไม่มีเวลามากพอที่จะให้เด็กเล่นอิสระ
หลายคนคิดว่าการเล่นอิสระต้องใช้เวลามาก เลยทำให้คิดว่าไม่มีเวลา แต่จริง ๆ แล้วการเล่นอิสระไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน เพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ในแต่ละวัน เช่น 30 นาทีหลังกลับจากโรงเรียน ก็สามารถช่วยให้เด็กได้พักผ่อนและพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความเข้าใจผิด#5 การเล่นอิสระไม่ช่วยพัฒนาทักษะทางวิชาการ
บางคนเชื่อว่าการเล่นอิสระจะทำให้เด็กเสียเวลาที่ควรใช้ในการเรียนพิเศษหรือเสริมทักษะด้านวิชาการ แต่การเล่นอิสระในช่วงปฐมวัยนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิด งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าเด็กที่เล่นอิสระสม่ำเสมอจะพัฒนาทักษะการควบคุมตัวเองได้ดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายและทำตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เด็กเหล่านี้จึงมักจะประสบความสำเร็จในด้านวิชาการ เพราะมีทักษะในการควบคุมตัวเองในการเรียน ทำการบ้าน หรือส่งงาน การเล่นอิสระจึงสามารถช่วยเสริมทักษะทางวิชาการได้อย่างชัดเจน
ความเข้าใจผิด #6 เล่นอิสระต้องใช้เงินเยอะถึงจะทำได้
การเล่นอิสระไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมาย บางครั้งแทบไม่ต้องใช้เลยก็ได้ เพียงแค่พาลูกไปเล่นกลางแจ้งในธรรมชาติ ออกไปเล่นหน้าบ้าน หรือเล่นกับเพื่อน ๆ ที่สวนสาธารณะ หรือจะเล่นในบ้านโดยใช้สิ่งของรอบตัวที่สามารถหาได้ง่าย ๆ เช่น เศษกระดาษ กิ่งไม้ ก้อนหิน กล่องกระดาษเปล่า หรือขวดน้ำรีไซเคิล เพียงแค่นี้ก็สามารถสนุกและเรียนรู้ได้เต็มที่
ความเข้าใจผิด#7 การให้ลูกเล่นอิสระเป็นเรื่องยากเกินไป
บางครั้งผู้ปกครองก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าจะให้ลูกเล่นอะไรดี พอได้ยินคำว่า “เล่นอิสระ” แล้วก็ไปต่อไม่ถูก แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ยากอย่างที่คิด เพราะธรรมชาติของเด็กคือการเล่นอยู่แล้ว เพียงแค่เปิดโอกาสให้เค้าได้ทำสิ่งที่สนใจ เช่น ทำงานศิลปะ วิ่งเล่นปลดปล่อยพลัง หรือสร้างสรรค์ของเล่นจากวัสดุรอบตัว ให้เค้าได้คิดเอง เลือกเอง ว่าจะเล่นอะไร เล่นแบบไหน ผู้ใหญ่แค่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุน คอยดูอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ช่วยประเมินความเสี่ยงให้ หรืออาจจะไปร่วมเล่นด้วยเมื่อถูกชวนก็ได้
มาเปิดใจและเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เล่นอิสระ เพื่อความสุขสนุกสนานและการฝึกทักษะหลาย ๆ ด้านได้อย่างเต็มที่
ถ้ายังมีข้อสงสัยหรืออยากตรวจสอบความเข้าใจผิดแบบไหน สามารถคลิกไปดาวน์โหลด คู่มือเล่นอิสระ มาอ่านกันได้เลย
กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดี ๆ จาก สสส. เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
TikTok : @thaihealth
YouTube : SocialMarketingTH
Website : Social Marketing Thaihealth