กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวช่วยได้ หากเกิดการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

          การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัวไม่ให้ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวหรือหากถูกกระทำต้องได้รับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการคุ้มครองสวัสดิภาพจำเป็นต้องครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ รวมถึงทรัพย์สินต้องไม่เสี่ยงภัย มีการป้องกันภัยล่วงหน้าที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีความเสมอภาค และไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยข้อแม้ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ อาชีพ สถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม สุขภาพ ประเทศไทยจึงมีกฎหมายหลายฉบับในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มีเจตนารมณ์สำคัญ คือ
     1. ต้องการเห็นความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัว
     2. คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว
     3. สงวนและคุ้มครองสถานภาพของการสมรส หากไม่สามารถรักษาไว้ได้ให้การหย่าเป็นไปโดยความเป็นธรรมและเสียหายน้อยที่สุด
     4. คุ้มครองและช่วยเหลือครอบครัว
     5. ช่วยเหลือสามีภรรยาและบุคคลในครอบครัวให้ปรองดองและปรับปรุงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว โดยเปิดช่องให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุ เมื่อพบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และเปิดโอกาสให้มีการแก้ไข ฟื้นฟูผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวด้วย


มาตรการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มี 3 มาตรการ คือ
 
1. มาตรการคุ้มครองเบื้องต้น มีการดำเนินการตั้งแต่
     1. การแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
     2. การคุ้มครองผู้ถูกกระทำ
     และ 3. การไม่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกกระทำ

2. มาตรการการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวระหว่างดำเนินคดี มีการดำเนินการ คือ
     1. การป้องกันความเสี่ยงจากการถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ
     2. พนักงานสอบสวนเสนอมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่ศาลภายใน 48 ชั่วโมง
     3. ศาลมีอำนาจออกคำสั่งในการกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว
     4. การกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่
     และ 5. การยื่นอุทรณ์เพื่อขอทบทวนคำสั่งศาล

3. การกำหนดมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ดำเนินการโดย
     1. กำหนดให้พนักงานสอบสวนหรือศาล จัดให้มีการบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นก่อนการยอมความ การถอนการร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้อง
     2. ให้ศาลมีอำนาจในการกำหนดใช้วิธีการฟื้นฟู บำบัด ควบคุมความประพฤติผู้กระทำความผิดหรือให้ผู้กระทำผิดชดใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์หรือทำงานด้านบริการด้านสาธารณะ ละเว้นการกระทำที่เป็นเหตุการเกิดความรุนแรงในครอบครัวหรือทำทัณฑ์บนไว้

บุคคลใดบ้างที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเมื่อถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เช่น

     • คู่สมรส คู่สมรสเดิม
     • ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส
     • บุตร บุตรบุญธรรม/สมาชิกในครอบครัวรวมถึงบุคคลที่ต้องพึ่งพาอาศัยและพักอาศัยในครัวเรือนเดียวกัน

การกระทำใดบ้าง คือ ความรุนแรงในครอบครัว

     • การกระทำโดยมุ่งร้ายให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว
     • การกระทำโดยเจตนาที่น่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว
     • การบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม (มาตรา3)  

          สำหรับผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีสิทธิแจ้งความประสงค์จะดำเนินคดีโดยแจ้งความหรือร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลา 3 เดือน นับแต่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงอยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้

          กรณีของเด็กถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มีสาระสำคัญ คือ

     1. เป็นกฎหมายอาญาที่มีลักษณะพิเศษ ที่มาตรการทางอาญาลงโทษผู้กระทำผิดต่อเด็ก มาตรการทางสังคม และมาตราทางการแพทย์ในการคุ้มครองเด็ก
     2. คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ  คือ เด็กต้องการได้รับการคุ้มครอง
     3. มุ่งให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน พัฒนาและคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัย
     4. ให้รัฐเข้าแทรกแซง กรณีเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือมีแต่ไม่ทำหน้าที่ หรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หรือทำหน้าที่ได้ไม่เหมาะสม
     5. รัฐดำเนินการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็กให้เหมาะสมช่วงระยะเวลาหนึ่งตามความจำเป็น และตามสมควร
     6. ประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับเป็นอันดับแรก ใช้กระบวนการทางสังคมและการแพทย์ในการช่วยเหลือเด็ก และใช้กฎหมายเป็นฐาน และเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ
     7. กำหนดให้โรงเรียน สถานศึกษาจัดกิจกรรมแนะแนว ให้คำปรึกษา และฝึกอบรมแก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสมรับผิดชอบต่อสังคมและความปลอดภัยแก่นักเรียน นักศึกษา

          สำหรับพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 เป็นกฎหมายอีกฉบับที่เกี่ยวข้องการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยมีหลักการสำคัญ คือ

     1. ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพและวิธีปฏิบัติต่อเด็ก เยาวชน ผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว กระบวนการพิจารณาคดีในการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
     2. ให้การคุ้มครองการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะในการปฏิบัติต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และเยาวชนอายุเกิน 15 ปีแต่ไม่ถึง 18 ปีรวมถึงครอบครัว
     3. กำหนดมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา โดยกำหนดให้คดีที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา
     4. กำหนดให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีสิทธิ์ร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวออกคำสั่งกำหนดมาตรการ วิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ให้ศาลมีอำนาจในการออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยห้ามผู้ถูกกล่าวหาเสพสุราหรือส่งมึนเมาเข้าใกล้ที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานของผู้ร้อง

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดี ๆ จาก สสส. เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
Tiktok : @thaihealth
Youtube : SocialMarketingTH
Website : Social Marketing Thaihealth


กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวช่วยได้ หากเกิดการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โพสต์เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15:14:54 204 อ่าน
TOP
x close