ข้อมูลผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในคู่รัก

          ข้อมูลจากการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกรณีคู่รักของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า มีสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่มีภาพของการเกิดความรุนแรงซ้ำและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และจะเห็นว่าอำนาจชายเป็นใหญ่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว จนทำให้คนในสังคมเกิดการยอมรับกับสถานะทางเพศที่สังคมสร้างขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

          สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวสะท้อนให้เห็นถึงความอดทนต่อความรุนแรงที่ผูกติดกับความเชื่อว่าสักวันอีกฝ่ายจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี หยุดการกระทำความรุนแรงลงได้ เราต้องให้โอกาสมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งการให้โอกาสผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวนั้น หากสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่หากเปลี่ยนไม่ได้ก็เหมือนเป็นการให้โอกาสในการกระทำความรุนแรงในครอบครัวอีกครั้งในการเกิดการกระทำซ้ำในภายหลัง บางรายยังมีปัจจัยกระตุ้นจากสุราและยาเสพติดจนเป็นวงจรความรุนแรงและจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกรณีผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในคู่รัก 2 กรณีสะท้อนสถานการณ์ข้างต้น

กรณีที่ 1 ขมิ้น (นามสมมติ)

          ขมิ้น เด็กสาววัย 19 ปี ถูกกระทำความรุนแรงจากคนรัก ขมิ้น เล่าว่า เธอเริ่มคบกับแฟนชื่อ บอย (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นรักแรกตั้งแต่สมัยเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่ง แฟนเป็นรุ่นพี่สถาบันเดียวกันอยู่ระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.) ช่วงก่อนคบหาฝ่ายชายปฏิบัติตัวดีมาตลอด อดทนพิสูจน์ตัวเองจนฝ่าด่านเพื่อน ๆ ของเธอมาได้ จนเธอเห็นความพยายามจึงเริ่มเปิดใจและคบหาจริงจัง และยอมมีเพศสัมพันธ์เพราะฝ่ายชายมีงานทำและดูมีอนาคต “ช่วงแรกบอยเป็นผู้ชายที่ให้เกียรติ เอาใจใส่ ดูแลเป็นอย่างดี พาไปเที่ยว กินข้าว ใช้ชีวิตแบบคู่รัก”

          เมื่อระยะเวลาผ่านไป 1 ปี บอยเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป “เริ่มหึงหวงมากขึ้น เวลาทำอะไรไม่ถูกใจ ขัดใจ หรือไม่ทำตามความต้องที่บอก ก็จะใช้คำพูดดุด่า แสดงอาการหึงหวง กระทั่งเพื่อน ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายก็ไม่ค่อยอยากให้ไปสุงสิง หึงหนักเข้าจนลงมือทำร้าย”

          ความรุนแรงขยายตัวขึ้นเมื่อฝ่ายชายกินใบกระท่อม ขมิ้นพยายามตัดใจขอให้เลิกคบหาหลายครั้ง แต่ฝ่ายชายก็ไม่ยอมและทำร้าย จนครั้งหนึ่งที่ถูกทำร้ายอย่างหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลและกลับตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ขมิ้น เล่าว่า “กล่าวหาว่าเราจะไปมีแฟนใหม่ เมื่อทะเลาะกันแฟนจะเข้ามาทำร้ายร่างกาย ตบตี และเข้ามาขอโทษ พยายามพูดดีว่าจะไม่ทำอีกแล้ว จนใจอ่อนและยกโทษให้ตลอด”

          หลังจากที่แฟนทราบว่าตั้งครรภ์ แฟนเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายก็กลับไปวนเวียนกินใบกระท่อม ทำให้กลับไปมีพฤติกรรมเหมือนเดิมทำร้ายทั้งที่เธอตั้งครรภ์อยู่ เช่น ผลักให้รถชน ผลักตกสระบัว หลายเหตุการณ์ทำให้ขมิ้นแน่ใจว่าแฟนไม่ได้รักเธอจริง ๆ สุดท้ายจึงตัดสินใจตัดขาดความสัมพันธ์ ยอมเลี้ยงลูกเพียงลำพัง

          ขมิ้น เล่าว่า “เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดคือ ถูกเตะเข้าที่ท้องอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จากนั้นหมอจึงแจ้งว่ากำลังตั้งครรภ์ รู้สึกตกใจมาก ตอนนั้นทำอะไรไม่ถูก ซึ่งแฟนก็รู้ว่าท้อง”


          หลังจากยุติความสัมพันธ์ ขมิ้นดูแลลูกเพียงลำพัง แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นและมีภาระหลายอย่าง ขมิ้นจึงติดต่อเรียกร้องให้แฟนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของลูก แต่แฟนกลับไม่สนใจและไม่ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายใด ๆ ขมิ้นจึงได้ติดต่อหน่วยงานในการเข้ารับคำปรึกษาจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพื่อต้องการดำเนินการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

          มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการดำเนินการด้านกฎหมาย และมีกระบวนการเสริมพลังอำนาจอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ขมิ้นกล้านำประสบการณ์ของตนเองออกมาสื่อสารกับผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและต่อสาธารณชน

          ขมิ้น เล่าว่า “หนูผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายและลุกขึ้นมาเผชิญชีวิตใหม่ได้ และลูกก็เป็นพลังใจสำคัญให้สู้และอดทนกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หนูไม่เคยคิดที่จะทำแท้ง คิดเสมอว่าสามารถเลี้ยงลูกเองได้โดยไม่ต้องพึ่งอดีตแฟน แต่ที่ยังเสียใจจนทุกวันนี้คือ หนูเป็นลูกสาวคนโตของครอบครัว พ่อแม่คาดหวังว่าโตขึ้นจะเลี้ยงดูแลพ่อแม่ได้ แต่ความหวังของพ่อแม่ก็พังลง เพราะความรักวัยรุ่นที่ไม่พร้อม ไม่ศึกษานิสัยใจคอกันให้ดี และสิ่งนี้จะเป็นบทเรียนชีวิตให้กับหนู ซึ่งขอฝากแง่คิดกับทุกคนว่าความรักไม่ว่าจะเป็นคู่รัก เป็นสามี ควรให้เกียรติกัน ไม่ควรกระทำความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม”


กรณีที่ 2 เหมียว (นามสมมุติ)


          ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เหมียว เด็กสาวอายุ 21 ปี ได้รู้จักกับแฟนชื่อ ชิน ผ่านกลุ่มเพื่อนที่แนะนำ หลังจากนั้นได้มีการพูดคุยกันผ่าน IG เพื่อสร้างความสัมพันธ์และทำความรู้จักกันให้มากขึ้น ชินเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ชั้นปีที่ 3 อายุ 21 ปีเท่ากัน ส่วนเหมียวกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง โดยเหมียวจะเรียนและทำงาน Part time ไปด้วยเพื่อหารายได้ดูแลตัวเองและต้องการแบ่งเบาภาระครอบครัว

          เหมียว เล่าว่า “ช่วงระยะเวลาศึกษากัน 2-3 เดือนแรก ชินเป็นผู้ชายที่จะคอยเอาใจใส่ ดูแล ห่วงใย นิสัยดีมาตลอด พอช่วงเข้าเดือนที่ 4-6 เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป คือ โทร. หาบ่อยมากขึ้น เริ่มใช้คำพูดคำสั่งห้าม เช่น ห้ามออกไปเที่ยวกลางคืนกับเพื่อน ห้ามแต่งตัวโป๊ เมื่อเรียนเสร็จก็ต้องให้กลับห้องเพื่อคุยโทรศัพท์ด้วย และข่มขู่ว่าถ้าออกไปกับเพื่อนก็ให้เลิกกันไปเลย”

          การกระทำดังกล่าวทำให้เหมียวรู้สึกอึดอัด สิ่งที่ทำได้คือ การโทร.ไปปรึกษาเพื่อนสนิท เพื่อนก็บอกว่า “แฟนคงเป็นห่วงเหมียวแหละ” คำตอบที่ได้จากเพื่อนทำให้เหมียวกลับมาทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและคิดว่าแฟนหวังดี เป็นห่วงเธอจริง ๆ เพราะแฟนคนอื่นก็มีพฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้เหมียวอดทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่กดดัน เครียด อืดอัดไปอีก 2 เดือน

          ช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์เป็นช่วงที่แฟนออกจากโรงเรียนและต้องมาหาที่หอพัก สิ่งที่เกิดขึ้น คือ แฟนจะห้าม ๆ ไม่ให้ออกไปไหน ไม่ให้ทำงาน รวมถึงการเลิกคบกับเพื่อน แสดงอาการหึงหวง จนเหมียวได้แต่เก็บความรู้สึกไว้ไม่กล้าบอกเพื่อน

          ความรุนแรงในคู่ของเหมียวเริ่มเพิ่มมากขึ้น เมื่อชินกลับไปเรียนหนังสือ เหมียว เล่าว่า “แฟนจะโทร. บอกเพื่อนผู้หญิงไม่ให้เหมียวไปนอนที่ห้อง มีพฤติกรรมควบคุม ห้ามไม่ให้ทำงาน ห้ามแต่งตัว-แต่งหน้า รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวเหมียวมากขึ้น โดยจะถามเสมอว่าคุยโทรศัพท์กับใคร เพื่อนชื่ออะไร เบอร์ที่โทร. เข้ามาเป็นใคร  รวมถึงการคุยโทรศัพท์กับแฟนต้องเป็นแบบวิดีโอคอลให้เห็นหน้าเท่านั้น หรือแม้แต่ลงสตอรี่ก็ต้องแท็กแฟนทุกครั้ง”

          สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การทะเลาะมีปากเสียงกัน จนทำให้แฟนเข้ามาผลักตัวของเหมียวชิดกำแพงห้อง ทำลายข้าวของในห้อง ซึ่งปัญหาการทะเลาะวิวาทลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นเกือบทุกอาทิตย์ที่แฟนกลับมา สิ่งที่เหมียวทำได้ ณ ขณะนั้น คือ การปรึกษาเพื่อน

          เหมียว เล่าว่า “เพื่อนแนะนำว่าหากทนไม่ไหวก็ให้เลิกกับชิน เมื่อได้คำแนะนำ เหมียวตัดสินใจบอกเลิกความสัมพันธ์ ทำให้แฟนเสียใจร้องไห้ และบอกว่าไม่ต้องการเลิกกับเหมียว ขอโอกาสปรับตัว จนทำให้ใจอ่อนและยอมกลับมาคบกับแฟนอีก” แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1 อาทิตย์ แฟนก็ทำพฤติกรรมเหมือนเดิม ไม่ได้ปรับพฤติกรรมตามคำสัญญาที่ให้ไว้ และยิ่งมากขึ้นกับคำพูดดุด่าที่รุนแรง

          ประมาณช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ทั้งสองทะเลาะกันรุนแรง โดยแฟนใช้คำพูดดุด่าเหมียวรุนแรงมาก คือ “แต่งตัวเป็นกะหรี่” และเข้ามาทำร้ายร่างกายทั้งการเขย่า ผลักจนล้มได้รับบาดเจ็บ รวมถึงแฟนใช้มีดมากรีดตุ๊กตาที่เหมียวรักจนขาดและทำลายข้าวของในห้อง ขณะนั้นเหมียวรู้สึกกลัวมาก พยายามขอความช่วยเหลือโดยการโทรศัพท์หาเพื่อนให้มาช่วยเหลือ แต่แฟนได้กระชากโทรศัพท์และขว้างทิ้ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีเพื่อนของเหมียวและเจ้าของหอพักเข้ามาช่วยเหลือไว้

          หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เหมียวตัดสินใจไม่ให้โอกาสกับแฟนอีกแล้ว ตัดขาดทุกช่องทาง ไม่รับโทรศัพท์ เพื่อนและเจ้าของหอพักก็ช่วยกันดูไม่ให้แฟนมายุ่งเกี่ยวหรือเข้าใกล้ เหมียวไม่ได้ดำเนินการแจ้งความ เพราะแม่ของแฟนได้โทรศัพท์มาขอร้องไม่ให้แจ้งความดำเนินคดีใด ๆ

          เหมียว เล่าว่า “วันนั้นหากเพื่อนไม่มาช่วย เราอาจจะตายไปแล้วก็ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าผู้ชายจะโมโหถึงที่สุดขนาดไหน เขาก็อาจจะทำร้ายเราจนตายก็ได้”


กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดี ๆ จาก สสส. เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
TikTok : @thaihealth
YouTube : SocialMarketingTH
Website : Social Marketing Thaihealth

ข้อมูลผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในคู่รัก โพสต์เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15:37:17 1,878 อ่าน
TOP