“เมื่อกล่องเป็นมากกว่ากล่อง” เพราะการเล่นของเด็กไม่จำเป็นต้องมีของเล่นราคาแพงหรือเทคโนโลยีล้ำสมัย บางครั้งเพียงแค่ “กล่องกระดาษ” เศษไม้ หรือสิ่งที่หาได้ง่ายภายในบ้าน ก็สามารถกลายเป็นของเล่นสนุก ๆ ที่มีคุณค่า เสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้ นี่คือหัวใจของแคมเปญ “เล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์” ของ สสส. ที่สนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเลือก ค้นหา ทดลอง สร้างสรรค์ของเล่นและวิธีการเล่นด้วยตัวเอง โดยมีผู้ปกครองคอยสังเกตและสนับสนุนความสนใจของลูกหลาน
อะไรก็เล่นได้ การเล่นแบบนี้ไม่เพียงสร้างความสนุก แต่ยังช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ รอบด้าน ทั้งทางด้านสังคม การแก้ปัญหา และการคิดเชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้ผู้ปกครองอาจได้ค้นพบความถนัดและความสนใจที่ซ่อนอยู่ในตัวลูกที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน
ในมุมมองวิชาการ การใช้สิ่งของรอบตัวซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่เคลื่อนย้ายได้มาทำเป็นของเล่น คือการเล่นแบบ Loose Parts เป็นของเล่นที่ไร้ขอบเขตและกฎเกณฑ์ ที่สามารถสร้างสรรค์ด้วยจินตนาการง่าย ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่แนวคิดใหม่ในวงการการศึกษาสำหรับเด็ก แต่เป็นการกลับไปสู่ธรรมชาติของการเล่นที่ทุกคนเคยสัมผัส โดยสามารถเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่ของธรรมชาติ เช่น หิน ใบไม้ ไปจนถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น กล่องกระดาษ ขวดพลาสติก หรือของเหลือใช้ในบ้าน สิ่งเหล่านี้คือของเล่นที่ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างตายตัว การเล่นแบบ Loose Parts นี้ จึงส่งเสริม Growth Mindset เพราะเด็กจะได้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและสร้างสิ่งใหม่ ๆ จากของธรรมดา
การเล่นนี้ยังช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของแคมเปญ “เล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์” ของ สสส. ที่สนับสนุนให้เด็กมีโอกาสได้เล่น ได้สำรวจ เรียนรู้ และสร้างสรรค์ด้วยตนเองได้อย่างอิสระ
โรส ประสพสุข โบราณมูล ผู้แทนสมาคมการเล่นนานาชาติ หรือ IPA สาขาประเทศไทย ได้เล่าถึงข้อดีของ Loose Parts ว่าเด็ก ๆ ทุกคนมีธรรมชาติของการเล่นและเรียนรู้ผ่านการสำรวจสิ่งรอบตัวอยู่แล้ว เด็ก ๆ จะได้ทดลองเล่นและค้นพบสิ่งที่เขาถนัดและชื่นชอบด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นฐานรากสำคัญของการพัฒนาทักษะในอนาคตจากการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วรอบตัวมาเล่น ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่พ่อแม่ใช้ในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์จากอาชีพของผู้ปกครอง เช่น การเล่นขายหมูปิ้งจากของจริง หรือการใช้ดิน ทราย วัสดุธรรมชาติรอบบ้าน ทุกอย่างกลายเป็นของเล่นได้ เพียงแค่ปล่อยให้เด็กได้มีโอกาสสร้างสรรค์และสัมผัส
โรส ประสพสุข อธิบายอีกว่า เด็ก ๆ เล่นได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่จำกัดเฉพาะการเล่นในสนามเด็กเล่นหรือสถานที่เฉพาะทาง หรือของเล่นที่ซื้อ-ขายในห้างร้านทั่วไป เพียงแค่พ่อแม่มองสิ่งรอบตัวด้วยสายตาที่เปิดกว้าง ทุกสิ่งสามารถกลายเป็นของเล่นได้เสมอ การเล่นแบบนี้ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายและยังส่งเสริมการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน ลองชวนลูกเล่นด้วยการถามว่า วันนี้เราจะเอาอะไรมาเล่นกันดี และให้เขาเลือกจากของในบ้าน รอบบ้าน ซึ่งแม้พ่อแม่จะอยากเปิดโอกาสให้ลูกเล่นอย่างอิสระ แต่บางกรณีหากเป็นของใช้ที่จะต้องใช้งาน หรือเอาไปเล่นอาจจะเสียหายหรือเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ ก็สามารถบอกลูกด้วยเหตุผลได้ และชวนให้ลูกเลือกอย่างอื่นที่เอามาเล่นแทน เพราะบทบาทของผู้ใหญ่ในการสนับสนุนการเล่นอิสระ นอกจากจะมีส่วนสำคัญในการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และร่วมเล่นไปกับเด็ก ๆ เมื่อเด็กต้องการ คอยชื่นชมความพยายามและสิ่งที่เด็ก ๆ สร้างสรรค์แล้ว ยังรวมถึงช่วยประเมินความเสี่ยง ดูแลความปลอดภัย และสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้วินัยและการอยู่ร่วมในสังคมผ่านการมีข้อตกลงร่วมกันก่อนการเล่นด้วย โดยแก่นสำคัญคือการช่วยสนับสนุนและแนะนำได้แบบต้องไม่ครอบงำหรือบังคับจนเกินไป
ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญ การเล่นอิสระอาจกลายเป็นสิ่งที่หาได้ยาก แต่การให้พื้นที่และเวลาให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างอิสระ ให้เด็กมีโอกาสเลือกเองว่าจะเล่นอะไรและเล่นอย่างไร จะช่วยให้พวกเขาได้เชื่อมโยงกับโลกจริง การเล่นอิสระเป็นเหมือน “ห้องเรียนธรรมชาติ” ที่ไม่มีข้อจำกัดของวิชาและไม่มีกรอบของเวลา ทำให้เด็กได้เรียนรู้ตามจังหวะและความสนใจของตนเอง การได้รับการสนับสนุนจะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาได้ค้นพบความถนัดและพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง สนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเล่นอิสระ แคมเปญ “เล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์” จาก สสส. เพิ่มเติมที่ https://creativehealthcampaign.thaihealth.or.th/
กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดี ๆ จาก สสส. เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
TikTok: @thaihealth
YouTube: SocialMarketingTH
Website : Social Marketing Thaihealth