ปลดล็อกทักษะชีวิต ลูกได้อะไรมากกว่าที่คิด ด้วยการเล่นอิสระที่ท้าทาย


          เสียงห้ามปรามของพ่อแม่เมื่อเห็นลูกทำกิจกรรมที่ดูน่าหวาดเสียว เช่น ปีนที่สูง วิ่งเร็ว ๆ หรือจับของมีคม มักเกิดจากความห่วงและกลัวว่าลูกอาจจะพลาดพลั้งบาดเจ็บ ซึ่งผลที่ตามมาคือการอดเล่นกิจกรรมนั้นไปเลย หรือต้องเล่นแต่สิ่งที่พ่อแม่กำหนดให้เท่านั้น 

          แน่นอนว่าความปลอดภัยต้องมาก่อน แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกันคือประสบการณ์ชีวิตที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้จากการเผชิญกับความท้าทายผ่านการเล่น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่อาจจะหาไม่ได้จากการเล่นแบบอื่น ๆ เพราะไม่เพียงเพิ่มความสนุก แต่ยังเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ทักษะชีวิตสำคัญที่ควรจะส่งเสริมตั้งแต่ยังเด็ก

สสส.
  • เสริมความมั่นใจและความกล้าหาญ : การได้ลองสิ่งใหม่ ๆ ที่ยากหรือท้าทายช่วยให้เด็กมั่นใจและกล้าทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น
  • ฝึกทักษะการแก้ปัญหา : การเผชิญกับความท้าทายทำให้เด็กได้ฝึกคิดหาวิธีแก้ไข มีสติและตัดสินใจได้ดี เช่น หาวิธีปีนลงจากที่สูงอย่างปลอดภัย
  • พัฒนาการควบคุมอารมณ์ : เด็กได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับความกลัว และค่อย ๆ ฝึกความมั่นคงทางอารมณ์เมื่อต้องเจอความท้าทาย
  • เรียนรู้การระวังภัย : การเผชิญสถานการณ์จริงช่วยให้เด็กได้รู้จักระมัดระวังตัว รู้จักดูแลตัวเองไม่ให้เกิดอันตราย แม้ในเวลาที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ  
  • เสริมทักษะการปรับตัวและยืดหยุ่น : การเล่นเสี่ยงช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวกับสถานการณ์ต่าง ๆ หรือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งเป็นทักษะที่มีประโยชน์มากเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

ลองเปิดใจให้ลูกได้เล่นเสี่ยงแบบปลอดภัย

          การเล่นอะไรที่ดูเสี่ยง (Risky Play) ไม่ใช่การปล่อยให้เล่นอันตรายโดยไร้ขอบเขต แต่เป็นการให้พวกเขามีโอกาสทดลองและเรียนรู้จากสถานการณ์ที่ท้าทาย ได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้น ได้ลุ้นกับผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอน โดยพ่อแม่ยังคงคอยดูแลอยู่ใกล้ ๆ แต่เปลี่ยนจาก “ส่งเสียงห้าม” เป็น “ช่วยสนับสนุน” และเปลี่ยนจาก “คิดแทนให้” เป็น “ให้ลูกคิดตัดสินใจเอง” 

บทบาทพ่อแม่ : คอยสังเกตและสนับสนุน

          ชวนพ่อแม่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นฝ่ายสนับสนุนให้ลูกได้เล่นเสี่ยงในขอบเขตที่ปลอดภัย คอยอยู่ใกล้ ๆ แต่ไม่เข้าไปควบคุมทุกการเคลื่อนไหว ใช้สายตาของผู้ใหญ่ช่วยประเมินความเสี่ยง โดยต้องเชื่อมั่นในสายตาของลูกที่จะตัดสินใจ ซึ่งควรมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกันกับเด็กก่อนที่จะเล่นด้วย เช่น เล่นได้ในขอบเขตพื้นที่นี้เท่านั้น หรือห้ามเล่นเกินกว่านี้เพราะอันตรายเกินไป

สสส.

สิ่งที่พ่อแม่ช่วยสนับสนุนได้
  • เตรียมพื้นที่ปลอดภัย เพื่อจะได้ปล่อย : จัดมุมเล่นอิสระในบ้านที่ปลอดภัย หรือพาไปสถานที่ที่เราพร้อมจะปล่อยให้ลูกเล่นได้ เช่น ถ้าลูกอยากวิ่งเร็ว ๆ ก็พาไปสนามหญ้ากว้าง แม้จะล้มบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นอันตราย 
  • กระตุ้นความเสี่ยงตามวัยและความสามารถ : ลองปล่อยให้ลูกได้เล่นที่มีความท้าทายความยากเหมาะกับวัยและความสามารถของเขา ซึ่งเด็กแต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตและการรับมือไม่เหมือนกัน แต่พ่อแม่คือคนใกล้ชิดที่รู้จักลูกดีที่สุด เริ่มต้นจากปล่อยให้เล่นอะไรที่มีความเสี่ยงน้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มระดับความท้าทายตามวัยและพัฒนาการของลูก เช่น เพิ่มความสูงที่จะให้เขาขึ้น เพิ่มความห่างขึ้นที่จะให้เขาก้าว 
  • ก่อนห้ามลูก ให้ห้ามตัวเองก่อน : เปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญกับความท้าทายด้วยตัวเอง พ่อแม่ควรรอดูแบบไม่รีบเข้าไปช่วยทันที เช่น ถ้าเห็นลูกกำลังจะปีนก้อนหินสูง พ่อแม่ควรรอดูว่าลูกจะตัดสินใจอย่างไร ใช้วิธีการแบบไหน หากดูแล้วมีความเสี่ยงเล็กน้อยอาจปล่อยได้ หรือถ้าดูแล้วอาจเกิดอันตรายจริง ๆ ค่อยเข้าไปช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
  • เลือกใช้คำพูดเชิงบวก : หากจำเป็นต้องหยุดการเล่นของลูกเพราะดูแล้วอันตรายเกินไป ควรเลือกใช้คำพูดเชิงบวก หรือคำถามปลายเปิดที่ให้ลูกคิด เพื่อไม่ไปขัดขวางความคิดสร้างสรรค์และความเชื่อมั่นของลูก ตัวอย่างเช่น “ลูกปีนได้สูงมากเลย แล้วลูกคิดว่าลูกจะลงมาให้ปลอดภัยได้อย่างไรบ้าง” 
สสส.

ตัวอย่างการเล่นเสี่ยงและวิธีประเมินสถานการณ์สำหรับพ่อแม่ : 
  • เมื่อเห็นลูกปีนป่ายที่สูง เช่น ปีนต้นไม้หรือเครื่องเล่น ควรสังเกตว่าลูกมีทักษะและสามารถประเมินความเสี่ยงได้หรือไม่ ถ้าใช่ ให้สนับสนุนและพูดคุยเกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนเล่น 
  • หากลูกใช้เครื่องมือมีคม เช่น เลื่อยหรือกรรไกร ควรสอนวิธีการใช้งานอย่างถูกต้องและปลอดภัย พร้อมสังเกตและช่วยเหลือเมื่อจำเป็น 
  • ถ้าลูกอยากวิ่งเร็ว ๆ หรือขี่จักรยานผาดโผน พ่อแม่สามารถพาลูกไปเล่นในพื้นที่กว้าง สวมหมวกนิรภัยและอุปกรณ์ป้องกันให้ดี สอนการสังเกตเส้นทางเพื่อความปลอดภัยและเล่นได้อย่างมั่นใจ
          แม้การปล่อยให้ลูกเล่นเสี่ยงจะทำให้พ่อแม่ต้องใจหวิว ๆ และพร้อมจะวิ่งเข้าไปช่วยทุกเมื่อ แต่มาเปิดโอกาสให้ลูกได้ผจญภัยในโลกใบเล็กที่เต็มไปด้วยบทเรียนและทักษะใหม่ ๆ เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญกับความไม่แน่นอนที่มักเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง พร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รับมือกับโลกภายนอกได้อย่างมั่นคง 

          ขอเชิญพ่อแม่ผู้ปกครองอ่าน **คู่มือเล่นอิสระ** ที่จะช่วยให้เข้าใจบทบาทสำคัญของพ่อแม่ในการสนับสนุนการเล่นที่ทั้งสนุก ปลอดภัย และได้ประโยชน์ ! ได้ที่ https://creativehealthcampaign.thaihealth.or.th/


กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดี ๆ จาก สสส. เพิ่มเติมได้ที่ :
TikTok: @thaihealth

ปลดล็อกทักษะชีวิต ลูกได้อะไรมากกว่าที่คิด ด้วยการเล่นอิสระที่ท้าทาย โพสต์เมื่อ 13 มกราคม 2568 เวลา 15:54:17 618 อ่าน
TOP