เตือนโรคร้าย หมัดหนูพาหะ รุนแรงถึงตาย




 หมัดหนู - หนู


เตือนโรคร้าย หมัดหนูพาหะ รุนแรงถึงตาย (ไทยรัฐ)

          อธิบดีกรมการแพทย์เตือน หน้าฝน-หนาว ระวังโรค ริกเก็ตเซีย ระบาดหนักอาการรุนแรงถึงตายได้ ชี้มี หมัดหนู เป็นพาหะ เร่งทุกบ้านทำความสะอาด หวั่นคนไทยติดเชื้อ...

          นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า โรคติดเชื้อริกเก็ตเซียเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ สครับไทฟัส โดยไรอ่อนเป็นพาหะนำโรค และเชื้อมิวรีนไทฟัส มีหมัดหนูเป็นพาหะนำโรค โดยมีสัตว์ฟันแทะเป็นแหล่งรังโรคโดยเฉพาะหนูเป็นส่วนใหญ่ มักจะระบาดมากในช่วงฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว และพบแทบทุกภาคของประเทศ ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พิษณุโลก จึงได้ทำการศึกษาความเสี่ยงของการเกิดโรคและการเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อริกเก็ตเซียด้วยวิธี Indirect Immunofluorescence Assay (IFA) จากซีรั่มของผู้ป่วยที่ส่งมาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก น่าน พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และสุโขทัย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 - พฤษภาคม 2552 จำนวน 318 ราย 

         อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลการศึกษาพบผู้ติดเชื้อริกเก็ตเซีย 65 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.44 แยกเป็นสครับไทฟัส 56 ราย มิวรีนไทฟัส 7 ราย และพบติดเชื้อร่วมกันทั้งสครับไทฟัสและมิวรีนไทฟัส 2 ราย โดยจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง สำหรับอาการที่สำคัญ ได้แก่ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงบริเวณขมับและหน้าผาก ตัวร้อนจัด มีไข้สูง 40-40.5 องศาเซลเซียส หนาวสั่น เพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา มีอาการไอแห้งๆ ไต ตับ ม้ามโต และผู้ป่วยร้อยละ 30-40 จะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (eschar) ที่บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด มีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ โดยผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20-50 อาจจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ การอักเสบที่ปอด สมอง ในรายที่อาการรุนแรง อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วมาก ความดันโลหิตต่ำ อาจถึงขั้นช็อก เสียชีวิตได้ 

          นพ.มานิต กล่าวด้วยว่า แนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวนั้นประชาชนควรหมั่นดูแลและทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อควบคุมและ กำจัดหนู โดยเฉพาะนักเดินทางที่นิยมท่องเที่ยงธรรมชาติ หรือเด็กนักเรียนที่ทำกิจกรรมเข้าค่ายในป่า ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะบริเวณทุ่งหญ้าชายป่า หรือบริเวณที่แสงแดดส่องไม่ถึง ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์พาหะหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรทายากันแมลงกัด หรืออาบน้ำให้สะอาดหลังออกจากป่า พร้อมนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดทันที ทั้งนี้หากพบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยว่าจะเกิดโรค เช่น มีไข้ขึ้นสูงปวดศรีษะ หลังจากกลับจากบริเวณพื้นที่เสี่ยงประมาณ 2 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ และเล่าประวัติการเข้าไปสัมผัสแหล่ง ก่อโรคโดยทันที เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ซึ่งจะช่วยลดอัตราความเสี่ยง และอันตรายจากโรคได้





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนโรคร้าย หมัดหนูพาหะ รุนแรงถึงตาย อัปเดตล่าสุด 23 สิงหาคม 2552 เวลา 09:26:28 16,519 อ่าน
TOP
x close