การอั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือ ภาวะปัสสาวะเล็ด เป็นอาการที่พบเห็นได้บ่อย ซึ่งมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และในผู้สูงวัยมากกว่าคนหนุ่มสาว แต่คนทั่วไปก็ประสบความยากลำบากจากอาการนี้ได้เช่นกัน เราจึงได้นำรายการอาหารต่าง ๆ ที่ผู้มีภาวะปัสสาวะเล็ดควรหลีกเลี่ยง จากเว็บไซต์สุขภาพ health.com รวบรวมเอาไว้ มาฝากกันค่ะ
1. การบริโภคของเหลวชนิดต่าง ๆ
การบริโภคของเหลวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำเปล่า นม น้ำผลไม้ ซุป ฯลฯ ทำให้เกิดของเหลวสะสมในกระเพาะปัสสาวะ กระตุ้นให้เกิดอาการอยากเข้าห้องน้ำไปฉี่บ่อย ๆ อย่างไรก็ตามคุณไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการงดบริโภคของเหลวทุกชนิด เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ ยังทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคือง และก่อให้เกิดโรคนิ่วได้ ทางออกที่ดีคือการบริโภคน้ำในปริมาณที่เหมาะสม คือวันละ 8 แก้ว ซึ่งอาจเพิ่มหรือลดลงจากนี้ได้ตามมวลกายของคุณ และหากคุณประสบปัญหาลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกเป็นประจำ การลดปริมาณและของเหลวในมื้อเย็น และก่อนเข้านอนจะช่วยให้อาการของคุณดีขึ้น
2. การดื่มแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์มีคุณสมบัติขับปัสสาวะ โดยนอกจากจะทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคืองแล้ว และยังไปเพิ่มปริมาณของเหลวในกระเพาะปัสสาวะด้วย การงดหรือจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่บริโภคในหนึ่งวัน จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
3. การดื่มชาและกาแฟ
ชาและกาแฟต่างก็มีสารคาอีน ซึ่งออกฤทธิ์ขับปัสสาวะและทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดอาการระคายเคืองได้เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ ผู้ที่มีปัญหาเรื่องกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีน แต่หากทำใจงดชาและกาแฟถ้วยโปรดไม่ได้ ลองเลือกชากาแฟประเภทดีคาฟ (decaf) ซึ่งมีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่าปกติแทนถ้วยปกติที่ดื่มเป็นประจำ
4. ช็อกโกแลต
ต้องขอแสดงความเสียใจกับช็อกโกแลตเลิฟเวอร์ที่ประสบปัญหาภาวะปัสสาวะเล็ด เพราะช็อกโกแลตแสนอร่อย ไม่ว่าจะเป็นแบบดาร์กช็อกโกแลต ช็อกโกแลตนม โกโก้เย็น หรือว่าฮ็อตช็อกโกแลตอุ่น ๆ ที่ดื่มก่อนนอน ต่างก็มีสารคาเฟอีนเจือปนอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่ออาการปวดปัสสาวะด้วย
5. น้ำตาล
หากคุณกำลังพยายามด้วยทดแทนช็อกโกแลตด้วยของหวานชนิดอื่น คงจะต้องผิดหวังอีกครั้ง เมื่อน้ำตาลเองก็สามารถสร้างความระคายเคืองให้กับกระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน โดยน้ำตาลในที่นี้ยังหมายรวมถึง น้ำผึ้ง น้ำเชื่อมข้าวโพดหรือคอร์นซีรัป และน้ำตาลฟรักโทสซึ่งพบได้ในผลไม้ทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องงดน้ำตาลเหล่านี้โดยสิ้นเชิงเพื่อรักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เพราะน้ำตาลเองก็มีประโยชน์ช่วยให้ความสดชื่นกับร่างกาย เพราะฉะนั้นเพียงเลือกบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะก็เพียงพอ
6. น้ำอัดลม
น้ำรสซ่าอย่างน้ำอัดลมประเภทต่าง ๆ มีทั้งส่วนผสมของคาเฟอีน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทำให้ภาวะปัสสาวะเล็ดยิ่งย่ำแย่ลง ด้วยทั้งคู่นั้นต่างทำให้เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ นอกเหนือจากการหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และน้ำอัดลมแล้ว ผู้ที่ประสบปัญหากลั้นปัสสาวะไม่ได้ ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เจือสารสังเคราะห์ เช่น สารแต่งกลิ่นและสี และเน้นการรับประทานอาหารที่มาจากธรรมชาติ อันอุดมไปด้วยสารแอนตี้ออกซิแดนท์และวิตามินแทน
7. อาหารรสเผ็ด
อาหารรสเผ็ดจัด อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งทีทำให้ผู้ที่มีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะ มีอาการแย่ลงกว่าเดิม เพราะฉะนั้นหากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของผงกะหรี่, พริก, พริกไทย, พริกปาปริก้า และอาหารที่มีรสชาาติเผ็ดร้อนทั้งหลาย
8. ผลไม้รสเปรี้ยว
แม้ผลไม้รสเปรี้ยวอย่างมะนาว เลมอน ส้ม เกรปฟรุต หรือแม้กระทั่งมะเขือเทศ จะอุดมไปด้วยวิตามินซี แต่กรดที่ทำให้เกิดรสเปรี้ยวนี้ จะไปรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะให้บีบตัว ทำให้เกิดอาการปวดฉี่ อยากเข้าห้องน้ำได้
9. แครนเบอร์รี่
ในทางหนึ่งแครนเบอร์รี่สามารถใช้เป็นอาหารบำบัดในรายที่มีอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบ หลายคนจึงมักเข้าใจผิดว่ามันสามารถใช้รักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ แต่ในความจริงแล้วมันกลับยิ่งทำให้อาการกลั้นปัสสาวะได้ลำบากยื่งหนักขึ้น เนื่องจากแครนเบอร์รี่มีค่า pH เป็นกรด อันทำให้เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง
10. ยาบางประเภท
ยาบางประเภทที่ใช้รักษาอาการโรคหัวใจ, โรคความดันตํ่า, ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยาระงับประสาท และ ยาอีกบางชนิด ทำให้อาการกลั้นปัสสาวะลำบากยิ่งย่ำแย่ลง เนื่องด้วยเมื่อกินยาเข้าไป ร่างกายจะพยายามขับน้ำส่วนเกินออก เพื่อให้หัวใจและอวัยวะส่วนต่าง ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปริมาณของเหลวในกระเพาะปัสสาวะจึงมีเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกปวดปัดสาวะขึ้นมานั่นเอง อย่างไรก็ตามหากคุณกำลังประสบปัญหาเช่นกรณีนี้ อย่าหยุดยาด้วยตัวเองเพื่อรักษาอาการกลั้นปัสสาวะยาก แต่ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ของคุณเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมขึ้น
อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือ ภาวะปัสสาวะเล็ด ดูไม่เป็นพิษภัยร้ายแรงที่คุกคามชีวิตเช่นโรคร้ายอื่น ๆ แต่ก็สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นอย่าลืมที่จะเอาใจใส่ และสังเกตความผิดปกติของกลไกการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย และหากพบอาการผิดปกติเรื่องการปัสสาวะเช่นนี้ ควรเข้าพบแพทย์และหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้อาการปัสสาวะเล็ดยิ่งย่ำแย่ลงด้วยค่ะ