ติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากอะไร ภาวะนี้เสี่ยงตายแค่ไหนกัน

          ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อาการติดเชื้อที่ทำลายระบบภายในได้รวดเร็ว เกิดจากสาเหตุใดและจะรักษาหายไหม มารู้จักภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตกันเถอะ

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

          อาการติดเชื้อในกระแสโลหิต เป็นภาวะความผิดปกติของร่างกายที่ส่งผลเฉียบพลัน และหากเชื้อนั้นมีความรุนแรง อาการติดเชื้อในกระแสเลือดก็อาจคร่าชีวิตผู้ป่วยได้ในเวลาอันสั้น เพราะเลือดคือองค์ประกอบหลักของร่างกายที่ไหลไปถึงอวัยวะทุกส่วน ดังนั้นอวัยวะทุกส่วนจึงสามารถเกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตมีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันค่ะ

ติดเชื้อในกระแสโลหิต เกิดจากอะไร

          ภาวะติดเชื้อหรือ Septicemia คือ ภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อจากส่วนใด ๆ ในร่างกายก็ตาม ซึ่งหากมีการอักเสบหรือติดเชื้ออย่างรุนแรง เชื้อนั้นอาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิตได้ในเวลาสั้น ๆ

สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือด

          สาเหตุของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และผู้ป่วยมักจะติดเชื้อแค่เพียงตัวเดียว รองมาคือเชื้อรา เชื้อไวรัส และเคสที่ติดเชื้อหลาย ๆ ชนิดก็พบได้เช่นกัน
  
 ติดเชื้อในกระแสเลือด มีเชื้ออะไรบ้าง

          อย่างที่บอกว่าส่วนใหญ่ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่เชื้อแบคทีเรียในโลกนี้ก็มีหลายชนิดด้วยกัน จึงเรียกได้ว่าภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอาจเป็นการติดเชื้อชนิดที่แตกต่างกันไป ตามนี้เลย

          * เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ (Gram negative bacteria)
          * เชื้อแบคทีเรียแกรมบวก (Gram positive bacteria)
          * เชื้อแบคทีเรียชนิด Classic pathogens เช่น H.influenzae, Neisseria, meningitidis, Streptococcus pyogenes และ S.pneumoniae
          * เชื้อรา

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
 
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ใครเสี่ยงบ้าง

          แม้จะมียาปฏิชีวนะชนิดใหม่จำนวนมาก รวมทั้งวิวัฒนาการทางการแพทย์ก็ก้าวไกลพอสมควร ทว่าภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตยังเป็นสาเหตุที่ติดอันดับต้น ๆ ของอัตราการเสียชีวิตของประชากร โดยคนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ ได้แก่

          - เด็กเล็กหรือผู้สูงวัยที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่แข็งแรง

          - ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคของเม็ดเลือดขาวบางชนิด โรคตับแข็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การติดเชื้อ HIV รวมทั้งผู้ที่รับยากดระบบภูมิคุ้มกันประเภทยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งโรคประจำตัวและยากดภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิต้านทานโรคไม่แข็งแรงพอจะต่อสู้กับเชื้อโรคที่ร่างกายรับเข้ามา จนอาจเกิดภาวะติดเชื้อหรือการอักเสบที่ลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดเป็นลำดับต่อไป

          - ผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องมือแพทย์เข้าไปในร่างกาย เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ สายปัสสาวะ การใส่ท่อเข้าหลอดเลือดเพื่อให้สารน้ำต่าง ๆ หรือการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย เช่น ลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น

          - ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันนานเกินไป หรือรับยาปฏิชีวนะหลายตัวเกินความจำเป็น ซึ่งตัวยาอาจเข้าไปทำลายแบคทีเรียชนิดดีของร่างกาย ตัวที่จะช่วยกำจัดการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิดที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้

          - การติดเชื้อผ่านทางผิวหนัง เช่น ถูกไฟไหม้ เกิดแผลถลอกขนาดใหญ่ ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย และเสี่ยงที่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายก็มากขึ้นด้วย

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

ติดเชื้อในกระแสโลหิต อาการเป็นยังไงกันนะ


          อาการติดเชื้อในกระแสโลหิต สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

- อาการแสดงทั่วไปของการติดเชื้อ
   
          - มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส หรือไม่มีไข้แต่ติดเชื้อรุนแรง
          - หัวใจเต้นเร็วกว่า 90 ครั้งต่อนาที
          - หายใจเร็วมากกว่า 20 ครั้งต่อนาที หรือวัดค่าความดันคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดได้มากกว่า 32 มิลลิเมตรปรอท
          - ตรวจพบเม็ดเลือดขาวมากกว่า 12,000 ตัวต่อมิลลิลิตร หรือน้อยกว่า 4,000 ตัวต่อมิลลิลิตร ทว่าอาการนี้อาจพบในผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก็ได้
   
          ทั้งนี้แพทย์ควรใส่ใจกับการวินิจฉัยโรคเป็นพิเศษ เนื่องจากอาการจะคล้าย ๆ อาการป่วยทั่วไป ดังนั้นจึงอาจต้องตรวจหาอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย

- อาการเฉพาะที่

          ผู้ป่วยอาจมีอาการติดเชื้อที่ปอด มีไข้สูง ไอมีเสมหะเล็กน้อย น้ำหนักลด หรือหนักหน่อยอาจไอมีเสมหะปนเลือด หรือบางรายอาจมีอาการปวดท้อง ซึ่งแสดงถึงภาวะติดเชื้อในช่องท้อง ซึ่งอาจวินิจฉัยเป็นโรคปอดอักเสบได้ด้วย อาการปวดหลังรุนแรง แสดงถึงภาวะติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลัง
   
          อย่างไรก็ดี ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดงชัดเจน เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน อาจมีฝีในตับจากการติดเชื้อโดยไม่มีอาการปวดท้องเลยก็ได้

- รอยโรคที่ผิวหนัง

          ส่วนใหญ่จะพบเป็นตุ่มหนอง เป็นผื่นแดง เป็นตุ่มตามผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการกระจายเชื้อมาที่ผิวหนังโดยตรง ต้องนำไปย้อมสีแกรมจึงจะพบตัวเชื้อก่อโรค

- อาการที่เกิดจากความล้มเหลวของระบบอวัยวะต่าง ๆ
   
          ความดันโลหิตตก ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ รับเลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยอาจมีอาการสับสน กระวนกระวาย หมดสติ มีปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย เลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ มีกรดแลคติกคั่ง หรือผู้ป่วยอาจหายใจหอบจากภาวะมีสารน้ำรั่วซึมในปอด หรือภาวะ DIC ที่ทำให้มีเลือดออกง่าย

 ติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงขนาดไหนถึงเรียกว่าอันตรายถึงชีวิต

          จริง ๆ แล้วร่างกายเราเจอกับเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ อยู่ทุกวัน แต่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราซึ่งมีทั้งเม็ดเลือดขาวที่จะหลั่งสารออกมากำจัดเชื้อโรค และเชื้อเจ้าถิ่น (Normal flora) ที่เป็นปราการป้องกันโรคด่านแรก ๆ คอยฆ่าเชื้อโรคแปลกปลอมที่เข้ามา ซึ่งหากร่างกายแข็งแรงมากพอ เจ้าเชื้อต่าง ๆ ก็ไม่มีสิทธิ์มาทำลายระบบภายในร่างกายได้
          
          ทว่าเมื่อใดก็ตามที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโดยการหลั่งเม็ดเลือดขาวออกมามากเกินไป ซึ่งอาจก่อภาวะหลอดเลือดรั่ว หรือภาวะเกล็ดเลือดเกาะตัวจนขัดขวางการเดินของเลือดและออกซิเจน ภาวะนี้ผู้ป่วยอาจมีความดันโลหิตต่ำ และส่งผลกระทบให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว จุดนี้ก็ถือว่าเข้าขั้นวิกฤต ผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยชนิดของเชื้อและกำจัดตัวเชื้อออกจากร่างกายโดยเร็วที่สุด

          
          หรือในกรณีเชื้อโรคที่เข้ามาเกิดดื้อยา (จากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อหรือเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อไม่ตรงกับเชื้อที่จะกำจัด) หรือเชื้อนั้นมีความรุนแรงจนเกินกำลังที่เม็ดเลือดขาวจะกำจัดได้ หรือวินิจฉัยและกำจัดเชื้อช้าไป เชื้ออาจไหลไปตามหลอดเลือดอย่างรวดเร็ว ก่อภาวะติดเชื้อหรือการอักเสบไปยังอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินและอาจเสียชีวิตจากการทำงานในระบบต่าง ๆ ล้มเหลวในที่สุด

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
 
 ติดเชื้อในกระแสโลหิต รักษาหายไหม

          หากไม่ได้ติดเชื้อที่รุนแรงหรือเชื้อดื้อยา ภาวะดังกล่าวก็สามารถรักษาได้ โดยหลักการสำคัญในการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คือ การรักษาการติดเชื้อและการประคับประคองสภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยวิธีรักษาอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตมีดังนี้

- Source Control

          การควบคุมหรือกำจัดเชื้อออกจากตำแหน่งที่มีการติดเชื้อด้วยการระบายหนองหรือผ่าตัด เป็นการกำจัดเชื้อออกไปเป็นจำนวนมาก และยังเป็นการกำจัดแหล่งของเชื้อโรค หรือการอุดตันของเชื้อที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ โดยสามารถระบายหนองได้หลายวิธี ทั้งการผ่าตัด การใส่สายระบายโดยการใช้อัลตราซาวด์ หรือ computerized tomographic scanning ช่วยในการใส่สายระบาย ทำให้ลดความจำเป็นในการผ่าตัดลงไปได้มาก
   
          ทว่าหากเป็นการติดเชื้อจากอวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่อยู่ในร่างกาย ควรถอดอุปกรณ์เหล่านั้นออกจากตัวผู้ป่วยโดยด่วน


- การให้ยาปฏิชีวนะ


          การรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดด้วยยาปฏิชีวนะควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

          * เลือกยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุ
          * โอกาสดื้อยาระหว่างการรักษา
          * ยาในกลุ่ม aminoglycosides ควรให้วันละครั้ง

- ประคับประคองอาการ

          การประคับประคองอาการไตวายด้วยการทำ dialysis การดูแลรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติ การป้องกันเลือดออกจากทางเดินอาหาร ตลอดจนการดูแลภาวะโภชนาการด้วย

          นอกจากนี้ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ไม่สูงเกิน 110 มก./ดล. และควรตรวจหาคอร์ติซอลในเลือดด้วย

 วิธีป้องกันตัวเองจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ควรดูแลตัวเองอย่างไรดี

          ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ และอย่างที่บอกว่าในชีวิตประจำวันเราก็ต้องเจอกับเชื้อโรคและแบคทีเรียอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงควรเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเม็ดเลือดขาว และเพิ่มขีดความสามารถให้กับระบบภูมิต้านทานในร่างกายด้วยการดูแลตัวเองดังนี้

          - หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
          - รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
          - พักผ่อนให้เพียงพอ
          - ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่สามารถลดความเสี่ยงด้วยการฉีดวัคซีนคุ้มกันได้
          - หมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อเกิดความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที
          
          ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรักษาให้หายได้ เพียงแต่ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งแพทย์เองก็ควรวินิจฉัยอาการและชนิดของเชื้อที่ผู้ป่วยติดให้ถูกต้องด้วย



ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากอะไร ภาวะนี้เสี่ยงตายแค่ไหนกัน อัปเดตล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13:31:53 377,953 อ่าน
TOP
x close